ในยุคที่มองซ้ายขวาก็เจอไอดอล ตามหลอกหลอนทุกที่ โดยเฉพาะน้องๆ BNK48 / Sweat16 และเริ่มมีวงอื่นๆที่เปิดตามมาในปัจจุบัน ทำให้เกิดปรากฎการณ์ “โอตะห้างแตก”ไม่ว่าจะมีงานไหนที่น้องๆไอดอลไปร่วมงาน ก็มักจะเจอกลุ่มแฟนคลับ หรือโอตะยืนรอชมน้องๆตั้งแต่ห้างยังไม่เปิด!
และในบทความนี้ แอดมินขอเสนอ “มารู้จักกับ 10 ประเภทโอตะที่สามารถพบได้ตามงานไอดอล” กันดีกว่า!….ซึ่งก่อนอื่น เราจะต้องรู้ก่อนว่า คำว่า“โอตะ” มันคืออะไร?
—————————–
โอตะ มาจากคำว่า โอตาคุ!
ถึงจะเรียกต่างกรรมต่างวาระ แต่ทั้งหมด ก็หมายถึงเหล่าบรรดาแฟนๆที่คลั่งไคล้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนกัน (พวกแฟนพันธุ์แท้) โดย โอตาคุ หรือ โอตะ จะเป็นกลุ่มคนที่ติดตามในศาสตร์แขนงอื่นๆเช่น เครื่องบิน / เรือดำน้ำ / ทหาร / การ์ตูน อนิเม บลาๆๆๆ แต่เพื่อกันความสับสน และอินดี้อยากแยกตัวเป็นเอกราชทางภาษา กลุ่มผู้ชื่นชอบไอดอลได้พยายามจนเกิดคำว่า “โอตะ” (Wota) ขึ้นมาเพื่อเป็นคำเรียกขาน ของเหล่าผู้ที่คลั่งไคล้ในไอดอลสาวๆ ซึ่งจะคนละกลุ่มกับโอตาคุ …ซึ่งไปๆมาๆ ก็ไม่ต่างกันเลย!!
สรุปคือ โอตะ = แฟนพันธุ์แท้ที่ติดตามจริงจัง นั่นเอง และมักจะมีมารยาท มีระยะห่าง มีธรรมเนียมปฏิบัติหลักๆคือ ไม่ละเมิดสิทธิ์ของเมมเบอร์ (หรือไอดอล) รวมไปถึงทำตามข้อตกลงของวง หรือผู้จัดงานอย่างเคร่งครัด ซึ่งเอาจริงๆบ้านเรายังใช้อารยธรรม “แฟนคลับแบบไทยๆ” เข้ามาปน ทั้งการวิ่งตามหวีดน้องๆเมมเบอร์ไปยันที่จอดรถ เคาะกระจกรถเหมือนฝูงซอมบี้ใน The Walking Dead ยันตามไปถึงหน้าห้องน้ำหญิง หรือที่เลวร้ายสุดๆ คือ พยายามจะเข้ามาจับมือน้องๆ ถ่ายรูปกับเมมเบอร์ ในจังหวะที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ชม และตัวน้องๆเอง
ซึ่งจากที่คลุกคลีกับเหล่าโอตะชั่วโมงบินสูงๆหลายๆท่าน ก็มักจะกล่าวว่า สิ่งที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น “โอตะที่แท้จริงเขาไม่ทำกัน” เพราะถือว่า “70% ในชีวิตน้องๆไอดอล คือ มอบความสุขให้คนดูไปแล้ว ส่วนอีก 30% คือชีวิตหลังเวที ที่น้องๆไอดอลควรได้รับการพักผ่อน หรือใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาทั่วไป” ไม่ต้องปั้นหน้าเป็นดาราตลอด 24 ชม.แบบดาราไทยหลายๆท่าน
ยังไงเสียท่านที่กำลังอ่านอยู่ ก็อยากฝากว่าไม่ต้องตามหวีดน้องๆตลอดเวลาก็ได้ เหลือพื้นที่ส่วนตัวให้น้องๆได้เป็นตัวเองบ้าง จะได้มีพลังมามอบความสุขด้วยเสียงเพลงบนเวทีในโอกาสต่อไปดีกว่า…ย้ำอีกที “โอตะที่ดี คือ โอตะที่รู้จักระยะห่างนั่นเอง”
—————————————————————————
10 ประเภทโอตะที่สามารถพบได้ตามงานไอดอล
อันนี้ขอแบ่งจากการที่ได้ไปเดินมาตั้งแต่งานของวงเมเจอร์เดบิวอย่าง BNK48 ไปจนถึงวงโคฟเวอร์ และวงที่ยังไม่เดบิวออกมาซักเพลง(?) เราสามารถแบ่งโอตะได้ 10 สาย ดังนี้
1.สายทั่วไป แฟนคลับหน้าใหม่
เป็นกลุ่มที่เพิ่งมาฟัง เริ่มเสพความน่ารัก หรืออยากจะมาเจอน้องๆบนเวที หรือสถานที่แสดงซักครั้งในชีวิต (ขนาดนั้นเลย) คนกลุ่มนี้เหมือนแก้วเปล่า ได้เห็นน้องๆไอดอลบนเวที หรือเริ่มเปิดใจรับอารยธรรมไอดอลเข้ามาในชีวิต อาจจะแตกไปยังสายอื่นๆต่อไปได้
คนกลุ่มนี้ถ้าได้เพื่อนเชียร์ หรือคนที่มีประสปการณ์ ที่สามารถพูดคุย สร้างความเข้าใจในการติดตาม รับชม เขาจะเป้นโอตะที่ดีได้ แต่ถ้าเจอด้านแย่ๆแล้วดันชอบ เห็นดีด้วย เขาก็จะกลายเป็นโอตะแย่ๆไปเลยก็มี…
2. สายแค้มป์
สายนี้ขึ้นชื่อเรื่องความอดทนต่อความยากลำบาก ไม่ว่าแดดจะเผาโลกทั้งใบ พายุจะถล่ม แผ่นดินจะทรุด พวกเขาก็จะฝ่าฟันมาถึงจุดการแสดง หรือลานกิจกรรม ก่อนงานเริ่มเสมอ เบาๆหน่อยก็มาก่อนซัก 2-3ชม. ยกระดับขึ้นมาก็ช่วงเช้าๆห้างเปิด หรือระดับอัลติเมท คือการแค้มป์ข้ามวันข้ามคืนเพื่อรอร่วมกิจกรรมที่ทางออฟิเชี่ยลจัดให้ เช่น มินิคอนเสิร์ต / คอนเสิร์ตใหญ่ / งานจับมือ หรือ การซื้อของสะสม (ซึ่งสายแค้มป์ก็สามารถแตกแยกย่อยไปอีกว่า เป็นพ่อค้าที่หวังเก็งกำไรสินค้ามานั่งแค้มป์ หรือโอตะที่ไม่อยากถูกพ่อค้ากดราคามานั่งแค้มป์ซื้อของเอาเอง)
3. สายกล้อง
สายที่ไม่คิดอะไรมาก มาเพื่อถ่ายรูปสวยๆของน้องๆไอดอลมาลงเพจ ให้ “โอตะหน้าจอ”(พวกไม่ได้มางาน)ได้เสพกัน ซึ่งกล้องใหญ่ๆแพงๆ เหล่านี้ ก็มาเพื่อเน้นถ่ายรูปจริงจัง (หรืออัดวิดิโอแฟนแคม) ซึ่งการลงพื้นที่ของเหล่าช่างภาพทั้งมืออาชีพ และสมัครเล่น ถือเป็นเรื่องดี ที่จะเป็นกาประชาสัมพันธ์น้องๆ เจ้าของแบรนด์สินค้า…”ถ้าพวกเขายืนในจุดที่เหมาะสม หรือทีมงานเตรียมไว้ให้” (ซึ่งก็มักจะเป็นโซน หลังๆของการแสดง)
แต่สายกล้องที่สร้างปัญหา และทำตัวน่ารำคาญที่สุดในการรับชมการแสดง คือ “กล้องโทรศัพท์มือถือ” แอดมินถึงกับสบถออกมาว่า “พวกเxี้ยมนี่อีกละ!” พวกเขามักจะอยู่ในโซนคนดูทั่วๆไป และพร้อมกับชูกล้องมือถือสุดแขน ชูกัน 2-3คนก็ไม่เท่าไหร่ แต่ระยะหลังๆมานี้พวกเล่นชูกล้องมือถือกับกว่า 80% ของงาน และมันดันบังทัศนวิสัยของกลุ่มผู้ชมท้ายๆงาน รวมไปถึงตากล้องที่โดดมาโซนท้ายๆ ที่บางคนไม่ได้พกเลนส์ที่มีระยะที่เหมาะสม ก็ต้องโดดลงมาปะปน มั่วซั่ว อิรุงตุงนังสุดๆ
แอดมินก็ได้แค่หวังว่า “กฎการห้ามถ่ายรูประหว่างแสดงของไอดอลญี่ปุ่น” น่าจะมีผลบังคับใช้กับของไทยบ้าง (ซึ่งมันเป็นไปได้โคตรยาก) แต่ก็อาจจะต้องแลกกับการเข้าถึงแบรนด์ของผู้จ้างงานโชว์ตัวน้อยลง…ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพงานละกันเนอะ…
4. สายขิง
อันนี้จะเหมือนกับสายขิงของงานจับมือ เราจะเห็นกลุ่มคนที่เดินไปๆมาๆในงานพร้อมกับพกซองอัลบั้มใส่รูป ทั้งเซตใหม่ เซตเก่า SSR หายากง่ายก็สุดแท้แต่ และคนกลุ่มนี้มักจะคุยถึงของสะสม พร้อมอวดคุยออกรสชาด หรือไม่ก็ถ้าบางคนคุยไปๆมาๆแล้วอาจเกิดการซื้อขายขึ้นมา (บางคนตั้งใจมาหาของที่ต้องการเลยก็มี) แต่สายนี้เรามักจะเจอตามเทรดดิ้งโซน ในงานโอกาสพิเศษมากกว่า พวกงานมินิคอนเสิร์ตจะไม่ค่อยเห็น…
5. สายยืนยิ้ม
สายนี้ไม่มีการแอคชั่นใดๆ พวกเขาตั้งใจมาเสพดนตรี บรรยากาศการเชียร์ ความน่ารักของไอดอลบนเวที ทำให้พวกเขาเลือกที่จะหยุดนิ่งแล้วเพลิดเพลินไปกับโชว์ หรืออาจจะมีเล่นหูเล่นตากับไอดอลบนเวทีการแสดง บางคนก็เพ้อหนักถึงขั้นมโนว่าน้องยิ้มให้ด้วย…ซึ่งถ้ามันไม่ได้เดือดร้อนใครก็ทำไปเถอะ…
6. สายเชียร์ (ตามน้ำ)
แอดว้านซ์จากสายทั่วไป และเริ่มถูกใจการยิงมิกซ์ (การเชียร์ด้วย Wording ที่เหล่าโอตะรับการสืบทอดมาจากญี่ปุ่น ซึ่งถ้ามีโอกาสจะมาลงลึกกัน) พอเห็นกลุ่มคน “ตีวง” (โอตะกั้นพื้นที่กันเองเป็นวงกลม) ก็จะวิ่งไปร่วมสนุกด้วย บางบทมิกซ์ยิงได้ ยิงไป บางมิกซ์ยิงไม่ได้ คนกลุ่มนี้ก็จะพยายามตามน้ำ หรือมีการซ้อม ถ้าชั่วโมงบินสูงๆก็สามารถแตกออกไปได้ ทั้งสายแกนนำ / โอตะเกะ / ฟุริก๊อบ / พินจิเกะ อันนี้ก็ แล้วแต่ความชอบแต่ละบุคคล
7. สายเชียร์ (แกนนำ)
คนกลุ่มนี้เป็นคลาสที่อัพเกรดมาจากสายเชียร์ตามน้ำ เป็นผู้ที่เหมือนเป็น “ตัวเปิด” / “ตัวแท้งก์” ของสายเชียร์ ในหัวพวกคนกลุ่มนี้ จะมีบทมิกซ์ที่ท่องจำได้ขึ้นใจจนแม่น จังหวะลงห้องเป๊ะ อีกทั้งยังส่งสัญญาณว่าจังหวะไหนควรหยุดยิง (ชูมือไขว้กากบาท เป็นการบอกให้หยุดยิง) หรือการโบกมือให้จังหวะ คนกลุ่มนี้ค่อนข้างเสียงดัง ทำงานเป็นทีม (บางกลุ่มมีเสื้อ มีเครื่องแบบ หรือสัญลักษณ์ประจำทีมด้วยนะ) มักจะกำหนดแนวทางการเชียร์ “หน้างาน” มากกว่าการพูดคุยกันในบอร์ด (วันนี้ยิงบทไหนยังไง คุยหน้างานเลย) และส่วนมากคนพวกนี้ก็ไม่ได้เชียร์วงเดียว ทำให้มีบทมิกซ์มากมายราวกับพระคัมภีร์โอตะในหัวเลยก็ว่าได้
8. สายโอตะเกะ
เมื่อการเชียร์ทั้งแบบตามน้ำ ก็ไม่ใช่ทาง หรือการเป็นแกนนำเชียร์ ก็ยังไม่ชอบ ขอเสนออีกสายหนึ่งที่เจอบ่อย ก็คือพวกโอตาเกะ โอตาเกะคือการเต้นตามเพลงด้วยท่าที่ออกแบบตายตัวอยู่ไม่กี่ท่า แต่ถ้าได้ลองทำ จะรู้เลยว่ามันเหนื่อยเหมือนออกกำลังกายเลยก็ว่าได้ แต่คอนในพื้นที่น้อยๆ งานฟรีก็ไม่ค่อยเจอเท่าไหร่ (เล่นไปเดี๋ยวพวกรอดราม่ามาขยี้แน่นอน) เพราะการเต้นโอตาเกะใช้พื้นที่เยอะ และมีความอันตรายต่อคนรอบข้าง เราอาจจะวาดแขนไปโดนคนอื่นๆได้ แถมแต่ละท่า ต้องใส่สุดพลัง ถึงจะออกมาสวยงาม…
9. สายฟุริก๊อป
สายนี้เป็นทางแยกจากโอตะเกะ คือไม่อยากเต้นตามโอตะด้วยกัน อยากเต้นตามเมมเบอร์มากกว่า นี่คือทางของสายฟุริก๊อบปี้ ที่โอตะบางคนเต้นสวยใกล้เคียงกับเมมเบอร์บนเวทีเลยก็ว่าได้..บนเวทีน้องๆเต้นยังไง โอตะข้างล่างจัดให้ เลียนแบบสวยๆให้เลย!
10.สายพินจิเกะ
เป็นการเอาทุกสายเชียร์มาปั่นรวมกัน หลายๆคนคิดว่า เทพแน่นอน…แต่คุณคิดผิด! เพราะพินจิเกะ มีความ”เกรียน”ติดตัวมาด้วย! ถึงแม้ว่าการเต้นโอตาเกะ การฟุริก๊อป การยิงมิกซ์ พวกเขาทำได้หมดอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ด้วยความเกรียน ความห้าวตามแบบเด็กวัยรุ่นห้าวเป้ง คนพวกนี้จะเชียร์กันรุนแรงมากเป็นพิเศษ มีการ โอชิจั๊มป์สุดตัว (กระโดดพร้อมตะโกนเรียกชื่อเมมเบอร์แบบหวีดสุดพลัง)หรือ การ ลิฟท์ (ให้เพื่อนยกตัวจนขึ้นสูงในระดับเดียวกับเวทีการแสดง) เต้นโอตะเกะไม่ดูพื้นที่ , การยิงมิกซ์ประหลาดๆที่มักจะเอาของวงใต้ดิน หรือ จิกะไอดอลมาปนๆบ้างในบางครั้ง หรือง่ายๆ ยิงมิกซ์ตามใจฉัน นั่นเอง หลักๆเขาก็รักไอดอลในแบบที่รุนแรง หนักหน่วง โอเวอร์แอคติ้งเกินความพอดีนั่นละ
พินจิเกะ (ピンチケ) มาจากการเล่นคำว่า Pink Ticket ในสำเนียงญี่ปุ่น(แอดมินชอบเรียก พวกบัตรชมพู) มีที่มาจากราคาตั๋วพิเศษของ AKB48 ที่ขายให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18ปี ในราคาเพียง 2,000 เยน (ปกติ3,000 เยน) ลักษณะการชมการแสดงในเธียร์เตอร์ของ AKB48 ของน้องๆบัตรชมพู ก็จะออกไปในแนวเกรียนๆป่วนๆมากกว่า และหลังๆ ก็กลายเป็นคำเรียกรวมๆของพวกทำตัวเกรียนๆในงานแสดงของไอดอลไปเลย ไม่ใช่แค่ 48 แล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นคำเหยียดรุนแรงถึงขั้นต่อยตีกัน เป็นการแซะกันของโอตะดีๆ กับสายพินฯมากกว่า
++++++++++++++++++++++++++++++++++
11.สายพิเศษ สายอับ!
สายพิเศษ ทุกคนสามารถเป็นได้ เพราะประเทศเราอากาศเข้าขั้นนรกแตก แถมมาอยู่ในพื้นที่แอดอัดด้วยคน ทำให้เรื่องของ “กลิ่น” ทั้งกลิ่นเต่า กลิ่นเหงื่อ กลิ่นเสื้อ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งพวกที่มีแอคชั่นหนักๆ ใช้แรงเยอะๆ มีโอกาสเกิดเหงื่อ ความร้อนสะสมด้วยเช่นกัน
อันนี้ก็เป็นเรื่องของสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ต้องจัดการกันเอง เช่นการใช้สเปรย์ระงับกลิ่น การซักเสื้อแล้วตากด้วยแดด หรือการหาเสื้อมาเปลี่ย การมีผ้าขนหนู หรือจะแวะเอาผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ตามด้วยสเปรย์ก่อนงานเริ่ม หรือตอนขากลับบ้าน อันนี้ก็ฝากทุกคนด้วย (แอดมินเองก็เป็นครับ เอาเสื้อมาเปลี่ยนเลย 55)
++++++++++++++++++++++++++++++++++
จริงๆแล้วยังมีอีกเยอะแยะ มากมายหลายประเภทยิบย่อย แต่ขอคัดมา 10 แบบที่ตัวเองไปพบเจอมาบ่อยๆนะครับ
สุดท้าย ก็อยากบอกว่า ไม่ว่าจะสายไหน เชียร์ยังไง หรือมีแนวทางการติดตามที่แตกต่างกัน แต่เชื่อว่าสุดท้าย เราก็ตามเชียร์น้องๆ อยากให้กำลังใจน้องๆเหมือนๆกัน ไม่ว่าจะเป็นใคร เชียร์แบบไหน ค่อยๆเรียนรู้
อันไหนดีไม่ดี เหมาะไม่เหมาะ ค่อยๆเตือน ปรับแก้กันไป
เพราะอยากให้สังคมโอตะมันดี และน่าอยู่เหมือนที่เคยเป็นมา ไม่เอาดราม่ารายวันก็พอ…
แอดมิน AK47