ทุกประเทศในโลกล้วนมีประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษา แต่บางครั้งการศึกษาในหน้าตำราก็อาจจะน่าเบื่อ และชวนให้หลับอยู่ไม่น้อย เหล่านักสร้างคอนเท้นท์สายบันเทิงทั้งหลายจึงมักจะหยิบเอาประวัติศาสตร์ มาทำเป็นสื่ออื่นๆ อย่างในสมัยก่อน ก็จะมีนิยาย บทละครที่อ้างอิงบรรยากาศของประวัติศาสตร์แทรกเข้ามา ต่อมาก็เริ่มมีภาพยนตร์ ละครชุดทางโทรทัศน์ต่างๆทำออกมา ซึ่งก็เพิ่มฐานผู้รับสื่อเป็นวงกว้าง จนเกิดความอยากรู้ สงสัยถึงหน้าประวัติศาสตร์จริง จนนำไปสู่การเรียนรู้แบบสมัครใจ
ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศญี่ปุ่น ที่หยิบเอาเหตุการณ์ในอดีตมาทำเป็นสื่อบันเทิง ที่สร้างเม็ดเงินเข้ากระเป๋าผู้ผลิตจากภายในประเทศแล้ว บางเรื่อง ก็ยังสามารถนำส่งออกไปทั่วโลก จนกลายเป็นหนึ่งใน Pop Culture ที่สำคัญจากซีกโลกตะวันออก ทั้งหนัง เกม การ์ตูน ของเล่น ของสะสมต่างๆ ที่แม้ว่าจะผ่านการดัดแปลง เสริมหล่อ เอามันส์ หรือเล่นเลยเถิดไปบ้าง แต่ถ้าขายได้ ทำให้คนสมใจประวัติศาสตร์ก็ถือว่าบรรลุผลสำเร็จแล้ว…
และนี่คืออีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ประเทศญี่ปุ่น ที่ถูกหยิบยกเอามาปู้ยี่ปู้ยำบ่อยครั้งที่สุด และคนทั่วโลกรู้จักอีเว้นท์นี้กันเป็นอย่างดี นั่นก็คือ “มหาศึกเซนโกคุ” หรือ “สงครามกลางเมือง” สงครามที่เกิดขึ้นจากการแย่งอำนาจของเหล่าชนชั้นปกครองของแต่ละแคว้นที่หมายจะครองญี่ปุ่น เป็นรองแค่สมเด็จพระจักรพรรดิ์เท่านั้น!
ก่อนอื่นก็ต้องเล่าเรื่องการเรียกชื่อยุคสมัยของญี่ปุ่นให้ได้อ่านกันก่อน เพื่อความเข้าใจตรงกันนะครับ
ยุคหิน 35000 ก่อนปี ค.ศ. – 14000 ก่อนปี ค.ศ.
ยุคโจมง (縄文時代) 14000 ก่อนปี ค.ศ. – 400 ก่อนปี ค.ศ.
ยุคยาโยะอิ (弥生時代) 400 ก่อนปี ค.ศ. – ค.ศ. 250
ยุคโคฟุง (古墳時代) ค.ศ. 250 – 538
ยุคอาซุกะ (飛鳥時代) ค.ศ. 538 – 710
ยุคนารา (奈良時代) ค.ศ. 710 – 794
ยุคเฮอัน (平安時代) ค.ศ. 794 – 1185
ยุคคามาคุระ (鎌倉時代) ค.ศ. 1185 – 1333
ยุคมุโรมาจิ (室町時代) ค.ศ. 1336 – 1573
ยุคเอโดะ (江戸時代) ค.ศ. 1600 – 1868
ยุคบากุมาสึ (幕末) ค.ศ. 1853 – 1868
ยุคเมจิ (明治時代) ค.ศ. 1868 – 1912
ยุคไทโช (大正時代) ค.ศ. 1912 – 1926
ยุคโชวะ (昭和時代) ค.ศ. 1926 – 1989
และ
ยุคเฮเซ (平成時代) ค.ศ. 1989 – ปัจจุบัน
โดยสงครามกลางเมือง หรือ เซนโกคุจิไดนั้น จะอยู่ในช่วงสมัยมุโรมาจิ ตอนปลาย ภายใต้การปกครองของ โชกุนอาชิคางะ (ในภาพเป็นเขตการปกครองของไดเมียวแต่ละคนที่เข้าทำสงครามกลางเมือง)
***เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่าน กรุณาเปิดเพลงฟังไปด้วย***
ไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์เซนโกคุ ฉบับเร่งด่วน!
ปี 1467
เริ่มต้น “สงครามโอนิน” เพราะเรื่องทายาททางการปกครองของ โชกุนอาชิคางะ โยชิมาสะ โดย “ตระกูลโฮโซคาวา” ที่เป็นผู้แทนโชกุน หวังจะให้”อาชิคางะ โยชิมิ”น้องชายของโชกุนอาชิคางะ รับช่วงต่อ
แต่ “ตระกูลยามานะ” ตั้งใจจะดันให้ “อาชิคางะ โยชิฮิสะ” ลูกชายของโชกุนอาชิคางะรับช่วงต่อ เมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว จึงเป็นเหตุให้เกิดการกบฏ โดยฝ่ายที่เริ่มก่อนคือ “ตระกูลโฮโซคาวา” แต่ด้วยวาทะศิลป์ จึงเกลี้ยกล่อมให้โชกุนอาชิคางะเชื่อว่า ตระกูลยามานะ เริ่มก่อน จึงประกาศให้ตระกูลยามานะเป็นกบฎ
- การสู้รบของทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้เมืองเฮอัน หรือ เกียวโต ถูกไฟเผาวอดเกินครึ่ง จนมีคำเปรียบเปรยว่า สงครามครั้งนั้นทำให้เกียวโต กลายเป็น “เกียวโตทะเลเพลิง”
ปี 1469
-โชกุนอาชิคางะ โยชิมาสะ อาศัยอยู่ในปราสาท “คินคาคุจิ” ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นโอกาสให้ไดเมียวต่างๆ ตั้งตนเป็นอิสระ
-โชกุนอาชิคางะ โยชิมาสะ ตัดสินใจตั้งโยะชิฮิสะ ลูกชาย ให้ สืบทอดตำแหน่งโชกุนต่อไป
ปี 1477
-สงครามโอนินจบลงด้วยการสงบศึกทั้งสองฝ่าย แต่สงครามการเมืองยังคงดำเนินต่อ และขยายตัวไปยังส่วนภูมิภาคแทน
-โชกุนอาชิคางะ โยชิมาสะ ยังคงสนุกสนานกับการจัดพิธีชงชา สนุกไร้สาระไปวันๆ และออกนโยบายลดอำนาจเหล่าไดเมียวผู้ครองแคว้น ขูดรีดภาษีประชาชน บ้านเมืองขัดสน ทำให้เหล่าชาวนาและคนยากจน และซามูไรชั้นต่ำบางคน ได้ก่อตั้ง กองกำลังอิกกิ ออกปล้นสะดมข้าวของของรัฐ ส่วนเหล่าพระที่เห็นประชาชนเดือดร้อน เลยตั้งกองกำลัง อิกโก ตามมา และได้สนธิกำลังกันเป็น อิกโก-อิกกิ
ปี 1490
-อำนาจการปกครองของบาคุฟุเริ่มที่จะเสื่อมลงอย่างแท้จริง โฮโซคาว่า มาซาโมโตะ เริ่มวางแผนการก่อปฏิวัติ
ปี 1493
-โฮโซคาว่า มาซาโมโตะ ก่อการรัฐประหาร และ เปลี่ยนแปลงการปกครอง
ปี 1507
-คนในตระกูลโฮโซคาว่า (รุ่นหลัง) เริ่มแตกคอกันเรื่องการปกครอง และผลประโยชน์ จนกลายเป็นสงครามภายในครอบครัว
ปี 1543
-ชาวโปรตุเกส เป็นกลุ่มชาวยุโรปชุดแรกที่มาญี่ปุ่น นำอาวุธปืนเข้ามายังญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ที่ ทาเนะงาชิม่า และพาญี่ปุ่นเข้าสู่กลศึกสงครามยุคใหม่ ยุคที่ใช้ปืน และดาบเข้าห้ำหั่นกัน
ปี 1554
-หลังจากสงครามของเหล่าไดเมียว ยังคุกรุ่นทั่วทุกหย่อมหญ้า ก็ดกินเวลามาหลายสิบปี ในที่สุด สามตระกูลใหญ่ ทาเคดะ , โฮโจ และ อิมากาว่า ร่วมลงสัญญาไตรภาคีขึ้น เป็นกองกำลังที่แข็งแกร่งกว่าเดิม นำโดย “ทาเคดะ ชินเง็น”
ปี 1555
-การรบที่อิทสึคุชิม่า “โมริ โมโตนาริ” สามารถสังหาร “ซุเอะ ฮารุคาตะ” และขึ้นเป็นไดเมียวคนสำคัญของเกาะฮอนชู ทางภูมิภาคตะวันตก
ปี 1560
การศึกที่โอเคฮาซามะ “โอดะ โนบุนากะ” สามารถสังหาร “อิมากาว่า โยชิโมโตะ”
ปี1565
-กลุ่มนักพรตมิโยชิและ “มัทสึนางะ ฮิซาฮิเดะ”ลอบสังหารโชกุน อาชิคางะ โยชิเทรุ
-โอดะ โนบุนากะ เคลื่อนพล เข้ายึดเกียวโต
ปี 1573
-”โอดะ โนบุนากะ” ทำการยึดอำนาจ ปลดโชกุน “อาชิคางะ โยชิอากิ” ออกจากตำแหน่ง ล้มเลิกระบอบการปกครองของโชกุน เป็นการสิ้นสุดรัฐบาลโชกุนมุโระมาจิที่มีมายาวนานถึงสองร้อยกว่าปี
-ในการศึกที่นากาชิโนะ โอดะ โนบุนากะได้ใช้พลังทำลายของกลยุทธ์ใหม่ ที่เอากลศึกผสานอาวุธตะวันตก อย่าง “ปืนไฟ” จนสามารถเอาชนะทหารม้าของทาเคดะ ชินเง็นได้
ปี 1582
“ มิตสึฮิเดะ อาเคจิ” ลอบสังหาร โอดะ โนบุนากะ ที่วัดฮอนโนจิ สาเหตุจากการที่ต้องการล้างแค้น ทำการสังหารพี่น้อง และมารดาของตน เมื่อครั้งไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของตระกูลตน กับโนบุนากะ โดยส่งแม่ และคนในครอบครัวเป็นตัวประกัน และวัดฮอนโนจิก็ถูกเผาไปพร้อมๆกับโนบุนากะ
แต่หลังจากโนบุนากะตาย เพียง 13 วัน เขาก็ถูกสังหารโดย “ฮิเดโยชิ ฮาชิบะ” (หรือ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ) ใน “สมรภูมิยามาซากิ” วันที่ 2 กรกฎาคม 1582 (แต่บางเจ้าก็ลือว่าไม่ตาย)
ปี 1585
“ฮิเดโยชิ ฮาชิบะ”ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของพระจักรพรรดิ หรือ “คัมปาคุ” และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ” ฮิเดโยชิ โทโยโทมิ”
ปี 1590
” ฮิเดโยชิ โทโยโทมิ” ล้มตระกูลโฮโจ รวบรวมญี่ปุ่นเป็นหนึ่งได้
ปี 1592
-ญี่ปุ่นบุกเกาหลี (โชซอน)ครั้งแรก
ปี 1593
-โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ สร้างปราสาทโอซาก้า เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการปกครอง
ปี 1597
ญี่ปุ่นบุกเกาหลีครั้งที่ 2
ปี 1598
” ฮิเดโยชิ โทโยโทมิ” ตาย สงครามกลางเมืองปะทุขึ้นอีกครั้ง
ปี 1600
- “วิลเลียม อดัมส์” ชาวอังกฤษคนแรก มาถึงเกาะอังกฤษ และได้สอนการต่อเรือ ค้าขายกับต่างชาติ จึงถูกใจโตกุกาว่า อิเอยาสึมาก จนถึงขั้นมอบยศซามูไร และเปลี่ยนชื่อเป็น “มิอุระ อันจิน”
-การรบที่ทุ่งเซกิงาฮาระ สงครามครั้งใหญ่ที่นองเลือดขั้นสุดของประเทศญี่ปุ่นเริ่มขึ้น โดยการรบครั้งนี้มีการแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ได้แก่ฝ่ายตะวันออก นำโดยพันธมิตรของโตกุกาว่า อิเอยาสึ เข้าสู้รบกับฝ่ายพันธมิตรผู้ภักดีต่อฮิเดโยชิ โทโยโทมิ นำโดย “อิชิดะ มิตสึนาริ” และพ่ายแพ้ในศึกนั้น ทำให้ มิตสึนาริ ถูกอิเอยาสึประหารชีวิต
ปี 1603
โตกุกาว่า อิเอยาสึ สถาปณาตนเป็นโชกุน และปกครองญี่ปุ่น
สงครามฤดูร้อนที่ ปราสาทโอซาก้า ยูคิมูระ ซานาดะ ใช้แผนบุกตรงๆไปหาอิเอยาสึ แต่ว่าร่างกายทนพิษบาดแผลไม่ไหว ขาดใจตายต่อหน้าอิเอยาสึแค่ไม่กี่ก้าว และ สงครามนี้จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายโตกุกาว่า
ด้วยความปราชัยนี้ ทำให้คนในตระกูลโทโยโทมิที่เหลือ ทำการฆ่าตัวตายหมด หลังจากนั้นไม่นานนัก อิเอยาสึได้สั่งเผาปราสาทโอซาก้า เพื่อทำให้ทุกคนลืมความยิ่งใหญ่ของตระกูลโทโยโทมิเสีย และสงครามครั้งนี้ก็ทำให้ตระกูลโตกุกาว่าได้ครองญี่ปุ่นอย่างเด็ดขาด ชนิดที่เรียกว่า “ไม่มีไดเมียวคนใดกล้าหืออีกเลยตลอดกาล…”
ประวัติขุนพลยุคเซนโกคุ
“ซานาดะ ซาเอมอนโนะสุเกะ ยูคิมูระ” ถือเป็นสุดยอดซามูไรชาวญี่ปุ่นแห่งยุคสงครามกลางเมือง (เซนโกคุ) เป็นลูกชายคนรองของ “ซานาดะ มาซายูกิ” (พี่ชายคือ “ซานาดะ โนบุยูกิ”)
ในปีค.ศ. 1582 กองทัพผสม โอดะ-โตกุกาว่า ได้บดขยี้ทำลาย “ตระกูลทาเคดะ” ที่ยูคิมูระรับใช้ลงได้ เดิมทีก็ตั้งใจว่าจะยอมสวามิภักดิ์ต่อ “โอดะ โนบุนากะ” แต่หลังจากเหตุการณ์ที่วัดฮอนโนจิ (本能寺の変) ที่ “อาเคจิ มิสึฮิเดะ” ทรยศ โนบุนากะ และจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้โนบุนากะเสียชีวิต จึงทำให้ตระกูลซานาดะ กลับมามีอิสระอีกครั้งหนึ่ง
แต่อิสระที่ว่า ก็ทำให้เขา และคนในตระกูลต้องเร่ร่อนอยู่ท่ามกลางแรงกดดันจากตระกูลใหญ่โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็น ตระกูลอุเอสึงิ , ตระกูลโฮโจ , และ ตระกูลโตกุกาว่า แต่ในที่สุด ตระกูลซานาดะ ก็ได้กลายเป็นขุนนางภายใต้การปกครองของ “ฮิเดโยชิ ฮาชิบะ” (หรือ ฮิเดโยชิ โทโยโทมิ) ซึ่งก็ได้ให้การต้อนรับ เลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี
วันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1600 หลัง “ฮิเดะโยชิ” สิ้นชีพไปผู้ปกครองญี่ปุ่นจึงว่างลง ทำให้ตระกูลโตกุกาว่า และ ตระกูลโทโยโทมิ (ที่ “อิชิดะ มิตสึนาริ”ดูแล) ต้องชิงตำแหน่งผู้ครองญี่ปุ่น จึงเกิด “สงครามที่เซกิงาฮาระ” ยูคิมุระต้องเข้าร่วมรบในศึกนี้ด้วยคนเพียงหยิบมือ และต้องฟาดฟันกับ “ซานาดะ โนบุยูกิ” พี่ชายแท้ๆ ที่ไปเข้ากับฝ่ายโตกุกาว่า เพราะเขาเป็นลูกเขยของ “ฮอนดะ ทาดาคาสึ” ยอดแม่ทัพของโตกุกาว่า การศึกนี้ ยูคิมูระเป็นฝ่ายปราชัย และได้รับโทษประหารจากโตกุกาว่า แต่ด้วยคำขอของพี่ชายอย่างโนบุยูกิ ทำให้เขารอดมาได้ แต่ก็ถูกเนรเทศไปยังจังหวัดไค
12 ปีต่อมา ในสงครามที่โอซาก้า “โตกุกาว่า อิเอยาสึ” มาบุกชิงปราสาทโอซาก้าคืน ยูคิมูระตัดสินใจว่าจะไม่รอตั้งรับแต่ เลือกที่จะ “เดินหน้าบุกทะลวงตรงๆไปทำลายทัพใหญ่ของอิเอยาสึ” ซึ่งแผนการโจมตีของเขาสามารถ ทะลุทะลวงจนเกือบถึงตัวอิเอยาสึ
แต่ยูคิมูระฝ่าฟันทัพใหญ่ของอิเอยาสึมาอย่างยากลำบาก ทั้งฝ่าดงดาบ หอก พายุลูกธนู สารพัดแบบ จึงทำให้เขาบาดเจ็บสาหัส จนสุดท้าย เขาก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหว และ ยืนตายก่อนจะถึงตัวอิเอยาสึ ทั้งๆที่อีกเพียงไม่กี่ก้าวเขาก็สามารถปลิดชีพอิเอยาสึได้แล้ว…
“มาเอดะ เคอิจิ” นักรบเจ้าสำราญ หรือ “คาบุกิโมโน” ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงสงครามกลางเมือง (เซนโกคุ) เขาเกิดมาในตระกูลทาคิกาวะแห่งแคว้นโอวาริ เป็นลูกแท้ๆของ “ทาคิกาวะ คาซึมาสึ” ตอนหลังกลายมาเป็นลูกบุญธรรมของ “มาเอดะ โทชิฮิสะ” เมื่อบ้านตระกูลมาเอดะตกเป็นของลุงของเขา “มาเอดะ โทชิอิเอะ” ซึ่งไม่ถูกกันกับเขาเท่าไหร่ จึงทำให้เขายอมออกจากตระกูลแล้วไปใช้ชิวิตอย่างคนพเนจรร่อนเร่ไปเรื่อยเปื่อย
เขาได้หยุดดูสงครามคิวชูของโทโยโทมิ ในระหว่างการเดินทางของเขา เมื่อเขาไปยังเกียวโต เคอิจิ ก็ได้พบกับ “นาโอเอะ คาเนะสึกุ” ที่ปรึกษาคนสำคัญของ “อุเอซึกิ คาเงะคัทซึ” ทำ ให้เขาตัดสินใจที่จะร่วมกันทำสงครามที่จังหวัดไอซึ เมื่อถึงคราวถอนทัพเมื่อแพ้การรบ เคอิจิถูกมอบหมายให้เป็นแม่ทัพคุมท้ายทัพ ซึ่งเขาได้ใช้ม้ายักษ์ “มัทซึคาเซะ”ยอดม้าพันธุ์แห่งคันโต(ม้าสุดยอดของเกมนี้) และกวัดแกว่งหอกสองง่ามอย่างแข็งแกร่งเมื่อเกิดเซคิงาฮาระขึ้น เขาจึงเข้าร่วมกับทัพตะวันตกซึ่งคาเนซึกุสังกัดอยู่ ในสงครามกับทัพโมงามิ เขาเจาะเข้าไปยังทัพใหญ่พร้อมๆกับทหารม้าแค่ 8 คน แต่สามารถจัดการทัพใหญ่ได้สำเร็จอย่างเหลือเชื่อ
นอกจากสงครามแล้ว เคอิจิอุทิศตนให้กับศิลปะและบทประพันธ์มากมายจนกระทั่งสิ้นอายุขัย
“โอดะ โนบุนากะ” เกิดเมื่อค.ศ. 1534 ที่ปราสาทนาโกย่า มีชื่อจริงว่า “คิปโปชิ” เป็นบุตรชายคนที่สองของ “โอดะ โนบุฮิเดะ” ไดเมียวผู้ครอง “แคว้นโอวาริ” (จังหวัดไอจิในปัจจุบัน)ในวัยเด็ก คิปโปชิกลับมีพฤติกรรมสุดแสนจะอินดี้ เอาแต่ใจตนเอง และไม่อยู่ในกรอบประเพณี ทำให้เป็นที่ไม่พอใจของบรรดาซามูไรผู้รับใช้ตระกูลโอดะ แม้แต่แม่ยังเอือมระอา จนทำให้คิปโปชิมีชื่อกระฉ่อนไปทั่วแถบคันไซว่า “ไอ้งั่งแห่งแคว้นโอวาริ”เมื่ออายุสิบสองปี คิปโปะชิ เปลี่ยนชื่อเป็น “โอดะ โนบุนากะ” หลังจากนั้นก็แต่งงานกับ “โนะฮิเมะ” บุตรสาวของ “ไซโต โดซัง” ไดเมียวผู้ปกครองแคว้นมิโนะ
โนบุนากะได้ไต่เต้าด้วยความทะยานมาตลอด และก็มีผู้มาขวางทางเขาไม่เว้นวัน ในค.ศ. 1573 โนบุนากะ ทำการยึดอำนาจ ปลดโชกุน “อาชิคางะ โยชิอากิ” ออกจากตำแหน่ง ล้มเลิกระบอบการปกครองของโชกุน เป็นการสิ้นสุดรัฐบาลโชกุนมุโระมะชิที่มีมายาวนานถึงสองร้อยกว่าปี
แต่ทว่าเขาก็ถูกหักหลังจนถึงแก่ชีวิต เมื่อ “อาเคจิ มิตสึฮิเดะ” ระหว่างที่ต้องนำทัพออกรบ เขาเกิดทรยศโนบุนากะและนำทัพกลับมาล้อมที่ปราสาทเพื่อแก้แค้น ที่ทำให้เขาเสียหน้าต่อหน้าขุนศึกคนอื่นหลายต่อหลายครั้ง แต่ตัวโนบุนากะไม่อยู่เพราะเขาไปอยู่ที่วัดฮนโนะ มิตสึฮิเดะจึงนำกำลังไปล้อมที่นั่นและเริ่มโจมตี
ในครั้งนั้น ทำให้ขุนศึกคู่ใจของโนบุนากะ อย่าง ”โมริ รันมารุ” และ “โนะ ฮิเมะ” ภรรยาของโนบุนากะตายในศึกครั้งนี้ด้วย เมื่อเห็นว่าตัวเองกำลังจะพ่ายแพ้แล้วโนบุนากะจึงฆ่าตัวตายด้วยการ”คว้านท้อง”(เซ็ปปุกุ)ในกองเพลิง หลังจากนั้นมิสึฮิเดะจึงนำกำลังไปล้อมและโจมตีปราสาทของ”โอดะ โนบุทาดะ” บุตรชายคนโตและสังหารลงได้ในที่สุด
13 วันให้หลัง ฮิเดโยชิ ฮาชิบะ ก็ลงมือสังหารมิตสึฮิเดะ เพื่อล้างแค้นให้เจ้านายอย่างโนบุนากะลงสำเร็จที่ “สมรภูมิยามาซากิ” และมอบอำนาจให้บุตรชายคนที่ 3 และ 4 ของโนบุนากะ…แต่สุดท้ายแล้ว อำนาจการปกครองของตระกูลโอดะ ก็มาอยู่ในมือของฮิเดโยชิในที่สุด…
“อาเคจิ จุนเบย์ มิตสึฮิเดะ” เป็นผู้บัญชาการกองทัพของ“โอดะ โนบุนากะ” ในสงครามต่างๆในหลายต่อหลายครั้ง รวมไปถึงสงครามระหว่าง “กองทัพพันธมิตร อาซะกุระ-อาซาอิ” กับ กองทัพโนบุนากะที่ “ศึกคาเนะงาซากิ” และ”ยุทธการภูเขาฮิเอย์” อันเป็นศูนย์กลางของกลุ่มพระนักรบอิกกะ-อิกกิ มิตสึฮิเดะก็เป็นหนึ่งในขุนพลที่เข้าร่วมในศึกครั้งนี้ด้วย
แม้จะเป็นแม่ทัพคนโปรดของโนบุนากะ แต่จุดแตกหักของคนทั้งสองอยู่ในปี ค.ศ. 1579 เมื่อมิตสึฮิเดะได้รับคำสั่งให้บุก “ปราสาทยางามิ” ที่ “ฮาตาโนะ ฮิเดฮารุ” ครอบครองอยู่ มิตสึฮิเดะไม่ต้องการให้มีการนองเลือดเกิดขึ้น จึงไปเจรจากับฮิเดะฮะรุให้ยอมจำนนต่อโนบุนากะ โดยส่งมารดาไปเป็นตัวประกัน เพื่อแลกกับการให้ฮิเดฮารุยอมสวามิภักดิ์
แต่ทว่า เหตุการณ์กลับพลึกผันเมื่อโนบุนากะ ได้สังหารฮิเดฮารุและพวกพ้อง รวมไปถึงมารดาของมิตสึฮิเดะสร้างความแค้นต่อเขาเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่แผนลอบสังหารโนบุนากะ ที่วัดฮอนโนจิในปี ค.ศ. 1582 หลังจากนั้น มิสึฮิเดะก็ตั้งตนเป็นใหญ่เหนือกองทัพโนบุนากะ แต่หลังจากนั้นเพียง 13 วัน เขาก็ถูกสังหารโดย”ฮิเดโยชิ ฮาชิบะ” (หรือ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ) ในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1582
มีตำนานกล่าวว่ามิตสึฮิเดะสามารถหนีไปได้ และออกบวชพระสงฆ์นามว่า “เทนไค” และเชื่อว่าเทนไคผู้นี้คือที่ปรึกษาของโตกุกาว่า อิเอยาสุ ในภายหลัง แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงแต่อย่างใด…
โกเอมอน จอมโจรผู้ใช้วิชานินจาสายอิงะ เขาออกปล้นคนรวยมาช่วยคนจนอยู่เสมอ เขาคือจอมโจรที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในแง่ของน้ำใจไมตรี และความเก่งกาจในแง่ของการย่องเบา
แต่สุดท้าย โกเอมอน ก็ถูกประหารชีวิตหลังจากที่ลอบสังหาร ”โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ” ไม่สำเร็จ โกเอมอน ถูกประหารด้วยการ “ต้มในน้ำเดือดจนตาย” พร้อมกับลูกชาย โดยตำนานกล่าวไว้ว่าโกะเอะมอน ได้อุ้มลูกชายเหนือน้ำจนกระทั่งตัวตาย อ่างอาบน้ำที่มีรูปทรงกะทะในประเทศญี่ปุ่นได้ตั้งชื่อตามว่า “โกเอมอนบุโระ” เพราะมีรูปร่างคล้ายกับกะทะที่ใช้ต้มโกเอมอนจนตายนั่นเอง
นอกจากนี้ เขายังเป็นตัวละครที่นิยมนำมาเล่นในละครคาบุกิ โดยเฉพาะตอนต่อสู้ที่ “ด่านนันเซนจิ” ในเกียวโต
อุเอสึงิ เคนชิน เป็นไดเมียวแห่ง “แคว้นเอจิโกะ” ชื่อเดิมคือ “ทากาโอะ คาเงะโทระ” แล้วค่อยเปลี่ยนมาเป็น “อุเอซึงิ มาซาโทระ” และ “อุเอสึงิ เทรุโทระ” โดยหลังจากที่เข้าบวชเป็นบรรพชาเป็นพระภิกษุในศาสนาพุทธมหายาน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “อุเอสึงิ เคนชิน” นั่นเอง…
ความโจษจันที่ทำให้หลายๆคนหวาดผวา เมื่อเอ่ยถึงชื่อของเคนชินก็คือ “ความสามารถในเพลงดาบ” ที่เกรี้ยวกราดดุจเทพอสูร “บิชามอนเท็น” (ท้าวเวศสุวรรณ) และยังชำนาญกลศึกชนิดที่หาตัวจับยาก จนได้ฉายา “มังกรแห่งเอจิโกะ” ซึ่งนับว่าเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ “พยัคฆ์แห่งไค” หรือ “ทาเคดะ ชินเง็น” อันเป็นการเปรียบเทียบว่าทั้งสองคนต่างก็เข้มแข็งจนไม่สามารถหักโค่นอีกฝ่ายลงได้
***ตามปกรณัมฝ่ายจีนนั้นถือว่าทั้งเสือ (พยัคฆ์) และมังกรต่างก็เป็นศัตรูของกันและกัน แต่ต่างฝ่ายต่างก็แข็งแกร่งพอๆ กันจนไม่อาจโค่นฝ่ายตรงข้ามได้ (ทั้งเค็นชินและชิงเง็นต่างก็สนใจในวัฒนธรรมจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำราพิชัยสงครามของซุนวู)***
โออิชิ น้องสาวคนเล็กสุดของ โอดะ โนบุนากะ
โออิชิ เป็นที่รู้จักกันในเรื่องความงามของเธอ เป็นเด็กสาวที่อาศัยอยู่ในจัวแคว้นโอวาริ เธอแต่งงานกับ ”ชิบาตะ คัทสึอิเอะ” แม่ทัพประจำตระกูลโอดะ ภายหลังจากที่เธอเสียพี่ชายของเธอไป
อย่างไรก็ตามชีวิตการแต่งงานของทั้งคู่ก็ไม่ยืนยาวนัก เนื่องจากโนบุนากะต้องการสร้างสนธิสัญญาพันธมิตรระหว่างโนบุนากะ และ “อาซาอิ นากามาสะ” โนบุนากะได้วางแผนให้โออิชิยอมแต่งงานกับนากามาสะแบบจำยอย และหย่ากับคัทสึอิเอะในที่สุด ซึ่งการแต่งงานครั้งนี้ถือเป็นชะตากรรมที่น่าเศร้าครั้งแรกของโออิจิ และอีกครั้งในปี1570 นากามาสะ ก็ฉีกสนธิสัญญากับ โอดะ และ ไปเข้ากับตระกูลอาซากุระแทน
การรบใช้เวลา 3 ปีและในที่สุดตระกูลอาซากุระก็ล่มสลาย โออิชิตัดสินใจที่จะอยู่กับนากามาสะให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ในปราสาทโอดานิ กระทั่งปราสาทของนากามาสะโดนล้อม
ก่อนที่จะถูกโจมตีนั้น โนบุนากะขอให้ส่งตัวน้องสาวของเขาคืนมา นากามาสะยินยอมพร้อมส่งโออิชิ ไปพร้อมกับลูกสาวทั้งสามของเธอนากามาสะกับลูกชายของเขา และตัดสินใจปักหลักสู้จนตายในปราสาท และโออิชิกลับมาแต่งงานอีกครั้งกับ ชิบาตะ คัทซึอิเอะ ประมาณปี1574
ในปี 1583 ชิบาตะ คัทซึอิเอะ และ ฮิเดโยชิ โทโยโทมิ มารบกันเพื่อชิงอำนาจ ในตอนที่คัทซึอิเอะกำลังจะแพ้ เขาขังตัวเองไว้ในปราสาทเตรียมพร้อมที่จะคว้านท้อง เขาขอให้โออิจิหนีไปพร้อมๆ กับลูกสาวของเขาแต่คราวนี้เธอบอกว่าจะไม่ทิ้งเขาไปอีก และเธอนั้นเลือกที่จะอยู่กับคัทซึอิเอะท่ามกลางเปลวเพลิงในปราสาทจนวาระสุดท้าย…
“อิซึโมะ โนะ โอคุนิ” หญิงสาวผู้เริ่มต้นศิลปะการแสดงคาบุกิของญี่ปุ่น เป็นลูกสาวของ “ซาเนมอน นาคามูระ” ซึ่งเป็นครอบครัวช่างตีเหล็ก และเป็นมิโกะ (คนทรงเจ้า) แห่งศาลเจ้าอิซึโมะ เธอรู้ทักษะในการเต้นรำ และการแสดงอยู่ในระดับสูง พอๆกับความสวยของเธอ เมื่อถึงเวลาที่กำหนด จะมีการส่งมิโกะไปศาลเจ้าต่างๆเพื่อฟื้นฟูศาลเจ้า เธอถูกส่งไปยังเกียวโตเพื่อปฏิบัติงานเต้นรำ และร้องเพลงศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้คนในท้องที่ ที่กำลังเจ็บปวดจากภัยสงคราม
ด้วยความสามารถทางการแสดง ที่เล่นได้ทุกบท ทั้งบทพระเอก บทนางเอกในการแสดง เธอจึงสามารถเรี่ยไรเงิน จนสามารถเปิดคณะละครได้เป็นผลสำเร็จ บวกกับการสนับสนุนของ “อุจิซาโตะ ซันซาบุโร่” นายทุนหนุ่มที่ว่ากันว่าเป็นคนรักของโอคุนิก็ได้ปรับโฉมการแสดงละครข้างทาง มาเป็นการแสดงในโรงละครที่เรียกว่า “คาบุกิ” ที่มีเอกลักษณ์ของการแสดงที่เสียดสีสังคม วัฒนธรรมต่างๆ และการเมืองอย่างมีชั้นเชิงมาจนถึงทุกวันนี้..
“ไซกะ มาโกอิจิ” หัวหน้ากองทหารรับจ้างจากคิวชู ผู้ใช้ปืนไฟเป็นอาวุธหลักของกองทหารรับจ้างหน่วยนี้ จัดว่าเป็นกองทหารไร้เทียมทานเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่านายจ้างจะเป็นใคร ภารกิจจะไม่มีทางล้มเหลวและมีความสนิทสนมกับ “ฮิเดโยชิ โทโยโทมิ”
แต่ในปี 1577 กองทัพของ “อิชิยาม่า ฮงกันจิ” ที่ได้ว่าจ้างกองทหารปืนไฟของมาโกอิจิ และเข้าร่มพันธมิตรกับทาง “โมริ โมโตนาริ” เพื่อรับมือกับโอดะ โนบุนากะ แต่ทว่าโนบุนากะได้ชิงลงมือเข้าตีกองทหารรับจ้างถึง “ปราสาทไซกะ” ฐานที่มั่น ซึ่งทางกองทหารของมาโกอิจิ ก็ได้จัดทัพรออยู่ที่ริมแม่น้ำคิโนะอยู่แล้ว การศึกเป็นไปอย่างดุเดือด ยืดเยื้อเป็นเวลาหลายวัน แต่ทัพโนบุนากะก็ไม่สามารถข้ามแม่น้ำไปได้เลย เพราะถูกปืนไฟของมาโกอิจิ และกองทหารไซกะ กระหน่ำยิงแบบมืดฟ้ามัวดิน จนต้องถอยกลับไปตั้งหลักใหม่
โนบุนากะจึงแบ่งกำลังอีกกองทัพนึง ยกพลเข้าตีจากทางด้านหลังปราสาทไซกะ และค่อยย้อนกลับมาล้อมปราสาทไซกะไว้ แต่ผิดคาด เพราะความไม่ศึกษาเส้นทาง แม่ทัพย่อยของโนบุนากะ ถูกพลซุ่มยิง มือสังหารของไซกะ เก็บเหล่าแม่ทัพไปทีละคน จึงไม่สามารถเคลื่อนทัพไปถึงปราสาทไซกะได้ ทำให้โนบุนากะรู้สึกเหนื่อยหน่าย ถึงแม้กำลังคนเยอะกว่าก็ตามจึงยื่นข้อเสนอ ให้ทางฝ่ายไซกะยอมแพ้ แต่ทางโนบุนากะ จะไม่เข้าไปยึดแคว้น ซึ่งทางมาโกอิจิก็ตกลง โนบุนากะจึงถอนทหารกลับ และสร้างปราสาทไว้ใกล้ๆ เพื่อจับตาดูการเคลื่อนไหวพวกไซกะ
“คุโนะอิจิ” นินจาสาวที่อยู่ในสังกัดกองทัพของ “ทาเคดะ ชินเง็น” เธอเป็นหน่วยข่าวกรองที่รวดเร็ว ว่องไว แต่ธอคนนี้เป็นเพียง “ตัวละครสมมติ” เท่านั้น ไม่ได้มีตัวตนในหน้าประวัติศาสตร์จริง…
ตามประวัตศาสตร์ “คุโนะอิจิ” เป็นชื่อตำแหน่งคุใช้เรียกนินจาเพศหญิงมีความหมายว่า “บุคคลที่มีพรสวรรค์ทั้งเก้าประการ” (nine talents in one person) แต่ไม่มีหลักฐานใดกล่าวถึงรายละเอียดของพรสวรรค์เก้าประการว่ามีอะไรบ้าง แต่คนมักเข้าใจผิดว่าคุโนะอิจิมักจะยั่วยวนเหยื่อด้วยเสน่ห์หญิงเพื่อหาทางเข้าใกล้เป้าหมาย แต่ในความเป็นจริงแล้วคุโนะอิจิมักปลอมตัวเป็นคนรับใช้ตามบ้านเพื่อรวบรวมข่าวสารจากเจ้าของบ้านซึ่งมักเป็นซามูไรคนสำคัญ
คุโนะอิจิทุกนางล้วนได้รับการฝึกฝนการต่อสู้ประชิดตัวมาเป็นอย่างดี แต่พวกเธอจะใช้ทักษะเหล่านี้ เมื่อถึงคราวจำเป็นเท่านั้น ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นกรณีที่ถูกจับได้และต้องหาทางหนี นอกจากนี้คุโนะอิจิยังพกอาวุธอีกด้วย พวกเธอมักจะซ่อนอาวุธไว้ในเสื้อผ้าที่เธอปลอมแปลงโฉม เช่น เข็มพิษซ่อนไว้ตามมวยผม หรือซ่อนมีดสั้นไว้ในแขนเสื้อ
“ทาเคดะ ชินเง็น” ชื่อเดิมคือ “ทาเคดะ ฮารุโนบุ” เกิดเมื่อ ค.ศ. 1521 ที่ปราสาทโคฟุ ที่ “แคว้นไค”(หรือ คาอิ ปัจจุบันคือ “จังหวัด ยามานาชิ”) เป็นลูกชายของ”ทาเคดะ โนบุโทระ”ไดเมียวแห่งแคว้นไคแต่ด้วยความที่บิดาหมายมั่นให้ลูกชายคนโปรดอย่าง “ทาเคดะ โนบุชิเงะ” ได้รับอำนาจต่อ ทำให้ฮารุโนบุไม่พอใจ
และความช่วยเหลือจาก “อิมากาว่า โยชิโมโตะ” ทำให้ฮารุโนบุก่อการกบฎยึดอำนาจพ่อตัวเองได้สำเร็จ และเนรเทศพ่อออกไปจากแคว้น ซึ่งหลังจากขึ้นรับช่วงปกครองแคว้นต่อจากบิดาที่ตนเนรเทศไปแล้ว ฮารุโนบุได้เริ่มทำการขยายอำนาจไปยังแคว้นชินาโนะ (ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดนางาโนะในปัจจุบัน)
ในค.ศ. 1551 ทาเคดะ ฮารุโนบุได้บวชเป็นพระภิกษุมีชื่อว่า “ชินเง็น” แม้จะบวชเป็นพระภิกษุแต่ยังคงดำรงตำแหน่งผู้นำตระกูลทาเคดะ และทำสงครามต่อไป จนเป็นที่รู้จักด้วยชื่อ “ทาเคดะ ชินเง็น”ภายใต้แผนการรบ “ฟุรินคาซัน” (風林火山 Fūrinkazan) แปลว่า ลม-ป่า-ไฟ-ภูเขา อันมาจากข้อความในตำราพิชัยสงครามของซุนวูที่กล่าวถึงคุณสมบัติของกองทัพที่ดีว่า “รวดเร็วดั่งลม เงียบสงัดดั่งป่าไม้ น่าเกรงขามดั่งไฟ มั่นคงดั่งขุนเขา”
ซึ่งหลังจากยึดชินาโนะได้แล้ว ก็เริ่มเปิดศึกไม้เบื่อไม้เมากับ “อุเอสึงิ เคนชิน” ฉายามังกรแห่งเอจิโกะ ผู้ปกครองแห่งแถบคันโต นานหลายสิบปี
แต่เขาก็ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันในค.ศ. 1573 ด้วยอายุ 52 ปี โดยให้”ทาเคดะ คาสึโยริ”ลูกชายคนที่ 4 รับช่วงต่อ ในค.ศ.1582 โอดะ โนะบุนากะ และโตกุกาว่า อิเอยาสึ ได้ร่วมมือกันเอาชนะตระกูลทาเคดะใน “ยุทธการเทมโมกุซัง” ทำให้คาสึโยริต้องคว้านท้องตาย เป็นการล่มสลายของตระกูลทาเคดะ หลังจากการตายของ ทาเคดะ ชินเง็น เพียง 9 ปีเท่านั้น…
“ดาเตะ มาซามุเนะ” ชื่อเดิม “บงเท็งมารุ” เกิดในปี1566 ที่ปราสาทโยเนะซาว่า เพราะโรคฝีดาษทำให้ตาขวาของเขาบอดสนิทและทุรนทุรายด้วยความเจ็บปวดมาแต่เด็ก บางตำราเล่าว่า “คาตาคุระ โคจูโร่” มือขวาคนสนิทของมาซามุเนะ ได้ทนเห็นภาพนายน้อยที่ต้องเจ็บปวดไม่ได้ จึงลงมือควักลูกตาต้านขวาที่เป็นฝีออกมา
ดาเตะ มาซามุเนะ จัดว่าเป็นหนึ่งในยอดขุนพลยุคเซนโกคุ เขาเป็นไดเมียวที่นำกองทัพเข้าร่วมกับกองทัพของ “ฮิเดโยชิ ฮาชิบะ” (หรือ ฮิเดโยชิ โทโยโทมิ) เมื่อครั้งที่รบกับกองทัพของ “โฮโจ อุจิมาสะ” จนได้รับชัยชนะ หลังจากสิ้นฮิเดโยชิ ก็เข้าร่วมกับกองทัพของ โตกุกาว่า อิเอยาสึ ในสงครามเซกิงาฮาระ จนทำให้กองทัพของอิเอยาสึได้รับชัยชนะและรวมแผ่นดินได้สำเร็จ และยังเป็นไดเมียวผู้ยิ่งใหญ่คนสุดท้าย ที่ได้เห็นวาระสุดท้ายของอิเอยาสึอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่อยู่ตั้งแต่ยุดซามูไรจนกระทั่งเข้าสู่ยุคเอโดะที่ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของญี่ปุ่นในเวลานั้นเลยทีเดียว
มาซามุเนะ นั้นมีความสนใจต่อการทูตและเทคโนโลยีของชาติตะวันตก โดยในปี ค.ศ. 1613 เขาได้เขียนจดหมายถึงสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 5 เป็นภาษาละติน และเป็นคริสเตียนคนแรกๆของญี่ปุ่น
หลังจากสงครามเซกิงาฮาระ มาซามุเนะ ก็ก่อตั้งเมืองเซนไดขึ้นมา ปัจจุบันคือเมืองที่เป็นพื้นฐานของการส่งกำลังเสริมทางทหารและการขนส่ง รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าที่สำคัญด้วย
“โนะฮิเมะ” ภรรยาของ โอดะ โนบุนากะ นามเดิมคือ “คิโจ” แต่เมื่อเธอเดินทางจากแคว้นมิโนะ ผู้คนก็รู้จักเธอในนาม โนะฮิเมะ (เจ้าหญิงแห่งมิโนะ) เธอเป็นที่รู้จักในเรื่องความงามและความฉลาด
แต่น่าเสียดายที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์มีไม่มากพอ ทำให้ไม่สามารถทราบถึงวันเสียชีวิตของเธอ ชีวประวัติทั้งหมดจึงมาจาการผสมผสานด้วยตำนาน, นิทานพื้นบ้านและเค้าโครงเรื่องจริง แต่มีหลุมฝังศพของโนะฮิเมะถูกค้นพบจริงๆ ที่วัดโซเคนอิน ซึ่งวัดแยกย่อยของ วัดไดโทคุจิในเกียวโต
ว่ากันว่าวาระสุดท้ายของเธอมีแตกออกไปได้สี่เรื่อง ซึ่งไม่ได้สอดคล้องหรือมีเค้าโครงใดๆที่น่าเชื่อถือเลยแม้แต่น้อย…
เรื่องแรก
เธอเสียชีวิตไปแล้วในวัดฮอนโนจิ ที่เดียวกับโอดะ โนบุนากะคว้านท้องตายในกองเพลิง
เรื่องที่สอง
เธอหนีออกมาจากวัดฮอนโนจิได้ 3 ปีหลังจากนั้น หนึ่งในบุตรของเขาได้ให้เงินตั้งตัวแก่โนฮิเมะ และเร้นกายหายจากหน้าประวัติศาสตร์ไป
เรื่องที่สาม
เธอไม่ได้อยู่ที่วัดฮอนโนจิ แต่อยู่ในปราสาทโอวาริอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งหลังจากการตายของโนบุนากะ หญิงรับใช้ รวมไปถึงภริยาน้อยใหญ่ ถูกส่งตัวไปยังปราสาทย่อยของโนบุนากะที่ชื่อว่า “ปราสาทอาซูจิ” และหญิงที่ถูกพามาที่นี่ จะถูกเรียกว่า “ท่านหญิงอาซูจิ” ซึ่งหนึ่งในท่านหญิงอะซึจินี้เชื่อกันว่ามี “โนะฮิเมะปลอมตัวมา” หลังจากนั้นเธอก็หายตัวไปจากปราสาทอาซูจิในตอนกลางคืน และเร้นกายหายจากหน้าประวัติศาสตร์ไป
เรื่องสุดท้าย
เธอหลบหนีออกมาจากวัดฮอนโนจิได้ แต่ระหว่างทาง ถูกมือสังหารลับของ “อาเคจิ มิตสึฮิเดะ” ตามมาสังหารได้สำเร็จ…
“ฮัตโตริ ฮันโซ” มีชื่อจริงว่า ”ฮัตโตริ มาซานาริ” (หรือ “ฮัตโตริ มาซาชิเงะ”) เขาเป็นลูกชายของ “ฮัตโตริ มัตสึนากะ” ผู้นำของ “กลุ่มนินจาอิงะ” เป็นนินจารับใช้ของตระกูลมัตสึไดระ หรือ ตระกูลโตกุกาว่าในเวลาต่อมา…โดยตัวเขาเป็นนักดาบที่คล่องแคล่ว นักวางแผน เชี่ยวชาญด้านการใช้หอก และสำเร็จวิชานินจาขั้นสูง
มีครั้งหนึ่ง ในตอนที่ทัพของโตกุกาว่าที่นำทัพโดย “อานายาม่า ไบเซ็ตสึ” ได้รับภารกิจเข้าตีทัพของ อาเคจิ มิตสึฮิเดะ แต่กำลังคนน้อยกว่า แถมแม่ทัพอย่างไบเซตสึถูกยิงจนเสียชีวิต ทำให้ทัพระส่ำระสายหนีตายกันจ้าละหวั่น และได้ยกทัพหนีตายมาที่หมู่บ้านอิงะ ซึ่งระหว่างทางมีสัตว์ร้าย และ โจรป่าสารพัดดักรออยู่ แต่ในขณะเดียวกัน ที่นั่นก็เป็นถิ่นคุ้นเคยของฮันโซอยู่แล้ว จึงแนะนำเส้นทางลับให้ การถอนตัวจึงราบลื่น ทำให้โตกุกาว่า อิเอยาสึ ประทับใจในตัวฮันโซมาก
“ฮัตโตริ ฮันโซ” มีบุตรชายอายุ 18 ปี ชื่อมาซานาริเหมือนกัน (แต่สะกดด้วยคันจิคนละแบบ) มาซานาริรับช่วงฝึกเป็นนินจาต่อจากพ่อ แต่ฝึก ”วิชานินจุทสึ” ไม่สำเร็จ และไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในนินจาของอิงะ แถมยังถูกปฏิเสธจากเพื่อนร่วมวงการนินจาด้วย…
ฮันโซ เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1596 รวมอายุ 55 ปี ว่ากันว่าเขาถูก “ฟูมะ โคทาโร่” ซึ่งเป็นนินจาของตระกูลโฮโจสังหาร ฮัตโตริ ฮันโซ ได้รับการยอมรับว่าเป็น 1 ในสุดยอดนินจาเช่นเดียวกับฟูมะ โคทาโร่…
“โมริ รันมารุ” หรือชื่อเดิม “โมริ นากาซาดะ” เป็นลูกชายของ “โมริ โยชินาริ” และเป็นน้องชายของ “โมริ นากาโยชิ” โดยรันมารุเกิดที่จังหวัดมิโนะ เมื่อวัยเด็กรันมารุผู้รับใช้ของ โอดะ โนบุนากะ ด้วยความที่โนบุนากะไว้ใจเขา จึงแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้จัดกำลังที่น่าเชื่อถือ (เป็นรองแค่ มิตสึฮิเดะ เท่านั้น…)
และหลังจากที่ ทาเคดะ คาสึโยริ เสียชีวิต เขาได้รับรางวัล 50,000 โคคุที่ปราสาทอิวะมุระ รันมะรุและน้องชายของเขาร่วมกันปกป้องโอดะ โนบุนากะ และหลังจากนั้น โมริ รันมารุ ก็ถูกสังหารในเหตุการก่อกบฎของมิตสึฮิเดะในที่สุด
“ฮิเดโยชิ ฮาชิบะ” (ภายหลังใช้ชื่อ “โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ”) เกิดเมื่อ ค.ศ. 1537 ในแคว้นโอวาริ (เขตนากามุระ เมืองนาโงะย่าในปัจจุบัน) มีชื่อเดิมว่า “ฮิโยะชิมารุ” บิดาชื่อว่า “คิโนชิตะ ยาเอม่อน” เป็นชาวนา ต่อมา ยาเอม่อน เสียชีวิตลง แม่ของเขาจึงแต่งานใหม่ แต่ด้วยความที่ไม่ถูกกับพ่อเลี้ยง ฮิโยชิมารุจึงออกจากบ้านมาผจญโลกกว้างในชื่อปลอมว่า “คิโนชิตะ โทกิชิโร” เข้ารับใช้”มัตสึชิตะ ยุกิสึนะ” ซามูไรสายตระกูลอิมางาวะ
ต่อมา โทกิชิโรเดินทางกลับมายังแคว้นโอวาริบ้านเกิดใน ค.ศ. 1557 และเข้ารับใช้โอดะ โนบุนากะ และตอนนั้น โทกิชิโรได้แต่งงานกับนาง “เนะเนะ” บุตรสาวบุญธรรมของ”อาซาโนะ นากาคะสึ” แถมยังเป็นมิตรสหายกับ “มาเอดะ โทชิอิเอะ” ด้วย
ในเวลาต่อมาภายหลัง โทกิชิโร ได้เปลี่ยนชื่อและนามสกุลใหม่เป็น “ฮิเดะโยะชิ ฮาชิบะ” โดยชื่อสกุลใหม่นำมาจากขุนพลเอกของโนบุนากะสองคน ได้แก่ “นิวะ นากาฮิเดะ” และ “ชิบาตะ คัตสึอิเอะ” โดยฮิเดโยชิได้รับฉายาว่า “ซารุ” ที่แปลว่า “ลิง” จากโนบุนากะ ด้วยหน้าตาของฮิเดโยชิที่คล้ายกับลิงนั่นเอง…
เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ จากศึกต่างๆ ที่ผ่านมาอย่างชำนาญ ระหว่างที่ฮิเดโยชิได้ถูกส่งไปทำศึกเพื่อปราบ อาเคจิ มิตสึฮิเดะ คนสนิทอีกคน ที่ยอมหักหลังโนบุนากะจนต้องตาย ภายหลังจากนั้นได้หนึ่งสัปดาห์ ฮิเดะโยะชิก็สามารถไล่ตามทัพของมิตสึฮิเดะได้ที่เมืองยามาซากิ เขาสามารถคว้าชัยชนะได้อย่างง่ายดายก่อนที่หลุมศพของโนบุนากะจะถูกสร้างเสร็จเสียอีก…
แต่นั่นทำให้นายกองของโนบุนากะมีเสียงแตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรก คือฝ่ายที่สนับสนุนให้ฮิเดโยชิขึ้นอำนาจ และอีกฝ่ายที่คัดค้าน ที่มีแกนนำโดย “ชิบาตะ คัตสึอิเอะ” ซึ่งต่อมาใน ค.ศ. 1583 ทั้งสองต้องทำสงครามกัน และผลคือคัตสึอิเอะเป็นผู้ปราชัย จนต้องคว้านท้องตายไปพร้อมๆกับ”โออิชิ” น้องสาวของโนบุนากะ โดยรับปากว่าจะรับลูกๆทั้งสามคนของคัตสึอิเอะไปดูแล…
หลังจากนั้น ฮิเดโยชิ ก็ไล่ทำสงครามรวบรวมแผ่นดินไปเรื่อยๆ โค่นล้มโชกุนตระกูลมินาโมะโตะ / บุกตีเกาะชิโกกุ ของ”โโชโซคาเบะ โมโตชิกะ”/บุกแคว้นซัทสึมะ รุกรานคิวชู / ล้มตระกูลโฮโจ แห่งฝั่งคันโต / เข้าตีแคว้นมิคาวะคืน แล้วมอบให้โตกุกาว่าแถมพื้นที่คันโต แล้วจัดการกดดันให้โตกุกาว่าย้ายไปที่ปราสาทเอโดะอันห่างไกล เป็นการกำจัดเสี้ยนหนามในการไต่ตำแหน่งโชกุนของเขา รวบรวมแผ่นดินสำเร็จตามความปราถนาของโอดะ โนบุนากะผู้เป็นนายที่ตายจากไป…
หลังจากนั้นฮิเดโยชิก็เริ่มรับตำแหน่ง ”ไทโค“ พร้อมกับรับชื่อพระราชทานจากจักรพรรดิ์ ในชื่อใหม่ “ฮิเดโยชิ โทโยโทมิ” และเริ่มทำสงครามกับเกาหลี” นำทัพโดย “อุกิตะ ฮิเดอิเอะ” เป็นแม่ทัพใหญ่ และขุนพลคนอื่นๆ ได้แก่ โคนิชิ ยุกินางะ / คาโต้ คิโยมาสะ /คุโรดะ นางามาสะ (บุตรชายของคุโระดะ คัมเบ) / ชิมาสึ โยชิฮิโร่ (น้องชายของชิมาสึ โยชิฮิสะ), ฟุกุชิมะ มาซาโนริ /โคบายากาว่า ทาคาคาเงะ, และโมริ เทรุโมโตะ โดยที่ฮิเดโยชิคอยบัญชาการอยู่ที่เมืองฟุกุโอกะบนเกาะคิวชู
ทัพแรกขึ้นฝั่งที่เมืองปูซาน และสามารถนำทัพเข้ายึดเมืองฮันซอง และ เปียงยาง จนกษัตริย์เกาหลีต้องเสด็จหนีไปเมืองปักกิ่งเพื่อทูลขอความช่วยเหลือจากจักรพรรดิว่านลี่ ด้วยการที่ฝ่ายทัพญี่ปุ่นซึ่งอ่อนกำลังลงและไม่สามารถต้านทานทัพจีนได้ จึงต้องเจรจาสงบศึกในที่สุดใน ค.ศ. 1593
ฮิเดะโยะชิเสียชีวิตลง หลังจากที่ได้จัดงานดอกซะกุระบานที่วัดไดโงในเมืองเกียวโตในปีค.ศ. 1598 เขาได้ล้มป่วยลงในฤดูร้อนปีนั้นและเสียชีวิตลงที่ปราสาทฟุชิมิ ด้วยอายุ 61 ปี ได้มีคำสั่งสุดท้ายให้ถอนทัพญี่ปุ่นทั้งหมดกลับคืนมาจากเกาหลี
แต่ใน ค.ศ. 1614ลูกชายของฮิเดโยชิ ซ่องสุมกำลังก่อกบฎ เพื่อชิงตำแหน่งคืนจากโตกุกาว่า อิเอยาสึ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ศึก และถูกประหารชีวิต เป็นอันสิ้นสุดตระกูลฮิเดโยชิในที่สุด…
“โยชิโมโตะ อิมากาว่า” ไดเมียวแห่งแคว้นมิคาว่า จัดว่า “เป็นคนมองการณ์ไกล” คนหนึ่งในยุคนั้น กล่าวคือในขณะที่ไดเมียวระดับใหญ่กำลังรบกันเองเพื่อครองพื้นที่ใกล้เคียง อิมากาว่ากลับเล็งหัวใจสำคัญของประเทศคือนครหลวง ทัพของอิมากาว่าสามารถยึดแคว้นต่างๆที่อยู่ตามรายทางอย่างไม่ยากเย็นนัก
แต่น่าเสียดายที่ก่อนเข้าถึงเมืองหลวงทัพของเขาต้องผ่านแคว้นโอวาริของ “โอดะ โนบุนากะ” ที่ใช้คนเพียง 2,000 คน เอาชนะทัพของอิมากาว่าที่มีมากถึง 35,000 คนได้อย่างง่ายดาย ด้วยการโจมตีสายฟ้าแลบ โดยที่อิมากาว่าไม่ทันตั้งตัว และถูกตัดหัวในที่สุด…
“ฮอนดะ ทาดาคาสึ” คนเหล็กเกราะเขากวางของกองทัพของอิเอยาสึ มีฉายาจากอนุชนรุ่นหลังของญี่ปุ่นตั้งให้ว่า “เทพนักรบแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัย” เพราะออกรบไม่มีแม้รอยขีดข่วน ไม่เคยเจ็บ ไม่เคยป่วย ตลอดชีวิตของเขา…
ทาดาคาสึ เกิดเมื่อ17 มีนาคม ค.ศ. 1548 ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่ทำให้อิเอยาสึ สามารถจัดตั้งรัฐบาลโชกุนโตกุกาว่าได้ และยังเป็นเจ้าแคว้นโอตะกิ และเจ้าแคว้นคุวะนะ คนแรกด้วยมีลูกชายสองคน ได้แก่ “ฮอนดะ ทาดามาสะ” และ “ฮอนดะ ทาดาโทโมะ” รวมไปถึงลูกสาวที่ชื่อ “โคมัตสึ” ที่อิเอยาสึรับอุปถัมภ์ และมอบตำแหน่ง และเปลี่ยนชื่อเป็น “อินะฮิเมะ”
“ฮอนดะ ทาดาคาสึ” ทำงานรับใช้อิเอยาสึมาตลอดชีวิตของเขา โดยสงครามที่สร้างชื่อให้แก่เขา คือ ยุทธการอาเนคาว่า และยุทธการมิกาตะงาฮาระ ในปี 1572
สงครามครั้งสุดท้ายในชีวิตของทาดาคาสึ คือ “สงครามเซกิงาฮาระ” เป็นสงครามระหว่างมิตสึนาริ และ อิเอยาสึ ในปี ค.ศ.1600 ด้วยผลงานมากมาย จึงได้รับศักดินาในโอตากิ 100,000 โคะกุ กลายเป็น เจ้าแคว้นโอตะกิ และต่อมา ได้รับศักดินาในคุวะนะ 150,000 โคะกุ กลายเป็น เจ้าแคว้นคุวานะ
“ฮอนดะ ทาดาคาสึ”เสียชีวิตในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1610 สิริอายุรวม 62 ปี โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด…
“อินะฮิเมะ” เกิดเมื่อปีค.ศ. 1573 ชื่อเดิม “ฮอนดะ โคมัตสึ” ลูกสาวคนเหล็กสุดแกร่ง ”ฮอนดะ ทาดาคาสึ” ที่ถูกอุปถัมภ์โดย ”โตกุกาว่า อิเอยาสึ” เป็นหญิงสาวที่งดงามทั้งใบหน้าและสติปัญญาเธอหลงรักลูกชายคนโตบ้านซานาดะ “ซานาดะ โนบุยูกิ” ทั้งสองจึงตกลงแต่งงานกัน ซึ่งนั่นก็ทำให้โนบุยูกิต้องแตกหักกับน้องชายอย่างจำใจ เพราะรักเมียมากกว่า…
อินะ มีหน้าที่คุ้มกันปราสาทนุมาตะ ในขณะที่สามีออกรบที่สงครามเซกิงาฮาระ ซึ่ง “ซานาดะ ยูคิมูระ” น้องชายของสามีที่บุกเข้ามา ซึ่งเธอก็ใช้ทักษะการต่อสู้ด้วยธนู และกลยุทธ์ ปกป้องคนในปราสาทได้
ในบันทึกประวัติศาสตร์ ระบุแค่ว่าเธอเสียชีวิตในปี ค.ศ.1620 แต่ไม่ทราบสาเหตุแต่อย่างใด…
“โตกุกาว่า อิเอยาสึ” เกิดในปีค.ศ. 1542 ที่ปราสาทโอกาซากิในแคว้นมิกาว่า เดิมชื่อ “ทาเคชิโยะ” อันเป็นชื่อบังคับของบุตรชายคนแรกของ “ตระกูลมัตสึไดระ” เป็นบุตรชายคนโตของ “มัตสึไดระ ฮิโรทาดะ”
ในค.ศ. 1556 ทาเคชิโยะได้เข้าพิธี เง็มปุกุ และได้แต่งงานกับ “ซึกิยามะ” หลานสาวของ “โยชิโมโตะ อิมากาว่า” พร้อมทั้งได้รับชื่อของผู้ใหญ่ว่า “มัตสึไดระ โมโตยาสึ”
เมื่อ “โยชิโมโตะ อิมากาว่า” เสียชีวิตไปในศึกที่โอเกฮาซามะด้วยฝีมือของ “โอดะ โนบุนากะ” ทำให้อำนาจของตระกูลอิมากาว่าเสื่อมลง โมโตยาสึ จึงแปรพักต์ไปเข้ากับฝ่ายของโนบุนากะแทน และในค.ศ. 1567 โมโตยาสึได้ทำการเปลี่ยนชื่อตระกูลเสียใหม่ว่า “โตกุกาว่า อิเอยาสึ” และร่วมสู้กับโนบุนากะในหลายต่อหลายศึก…
หลังจากที่โนบุนากะถูกลอบสังหารที่วัดฮอนโนจิ โตกุกาว่าที่อยู่ละแวกใกล้เคียงอย่างโอซาก้า ก็หวาดระแวงว่ามิตสึฮิเดะจะมาตามฆ่าตน จึงลอบกลับไปปราสาทโอกาซากิ แต่เมื่อมาถึงก็มีรายงานว่า “มิตสึฮิเดะ” ถูก “ฮิเดโยชิ ฮาชิบะ” สังหาร พร้อมกับได้ทำการยึดอำนาจเพื่อขึ้นปกครองญี่ปุ่น แต่ด้วยความที่ลูกชายของโนบุนากะ “โอดะ โนบุคาสึ” ไม่พอใจ และทำการติดต่อกับอิเอยาสึที่อยู่ในฐานะบริวารผู้ภักดี ทำให้อิเอยาสึต้องสู้รบกับฮิเดโยชิ ใน “ยุทธการโคมากิ” และ “นางากุเตะ” แต่สงครามยืดเยื้อหาผลแพ้ชนะไม่ได้ จึงต้องลงสัญญาสงบศึก โดยฮิเดโยชิ ส่งน้องสาวของตนไปเป็นภรรยาหลวงคนใหม่ของอิเอยาสึ…ทั้งสองจบสงครามนี้แยกย้ายกลับบ้านไป…
ในค.ศ. 1598 ฮิเดโยชิ ก็เสียชีวิตลง ทำให้ฝ่าที่เข้ากับฮิเดโยชิระแวงว่า อิเอยาสึจะก่อการชิงอำนาจ จึงเกิดกลุ่มขุนนางตระกูลโทโยโทมิที่ต่อต้านอำนาจของอิเอยาสึ นำโดย ”อิชิดะ มิสึนาริ” คนรับใช้คนสนิทของฮิเดโยชิ จนเกิดศึก “เซกิงาฮาระ”ขึ้น (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่จังหวัดกิฟุ) โดยยุทธการเซกิงาฮาระ เป็นยุทธการแตกหักเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1600 ซึ่งกรุยทางสู่การจัดตั้งรัฐบาลโชกุนของ“โตกุกาว่า อิเอยาสึ” แม้เขาจะต้องใช้เวลาหลังจากนี้อีกสามปีในการรวบรวมอำนาจในตำแหน่งของเขาเหนือตระกูลโทโยโทมิ และเหล่าไดเมียวฝ่ายตรงข้าม เซกิงาฮาระ ถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นจุดเริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการของ “รัฐบาลโชกุนโตกุกาว่า” รัฐบาลโชกุนสุดท้ายซึ่งปกครองญี่ปุ่น จากนั้น ญี่ปุ่นมีสันติภาพเป็นเวลานานหลังจากยุทธการนี้…
และ โตกุกาว่า อิเอยาสึ ก็เสียชีวิตลงในค.ศ. 1616 ที่ปราสาทซุนปุ อายุ 73 ปี อีกทั้งยังถูกยกย่องเป็นเทพเจ้า “โทโช ไดงนเง็น” หมายถึง “พระโพธิสัตว์ที่ลงมาโปรดสัตว์บนโลกมนุษย์” มีศาลเจ้าประจำตำแหน่งคือ “ศาลเจ้านิกโกโทโช” ในเมืองนิกโก จังหวัดโทะชิงิในปัจจุบัน…
“อิชิดะ มิตสึนาริ” เกิดในปี ค.ศ. 1559เป็นขุนศึกที่รับใช้ ”ฮิเดโยชิ ฮาชิบะ” แต่เดิมแล้ว ตระกูลอิชิดะเป็นซามุไรข้ารับใช้ของ ”ตระกูลอาซาอิ” ซึ่งในขณะนั้นมีผู้นำคือ “อาซาอิ นางามาสะ” แต่ว่าหลังจากที่ตระกูลอาซาอิสูญสิ้นลงเมื่อค.ศ. 1573ด้วยน้ำมือของโนบุนากะ สามพ่อลูกตระกูลอิชิดะจึงเข้ารับใช้ตระกูลโอดะในเวลาต่อมา
ตัวของมิตสึนาริ ค่อนข้างจะต่างจากซามูไรทั่วไปที่เชี่ยวชาญด้านบัญชี การบริหาร การคลังมากกว่าการสู้รบ โดยเขาถูกฮิเดโยชิแต่ตั้งตำแหน่ง “บุเกียว” ให้ ซึ่งมีหน้าที่ทางด้านการบริหารปกครอง และยังได้รับการแต่งตั้งเป็นไดเมียวผู้ปกครอง”ปราสาทซาวายาม่า”(แถบเมืองฮิโกะเนะในปัจจุบัน)
เขาเป็นแกนนำในการคานอำนาจของอิเอยาสึ จนนำไปสู่การสู้รบที่”เซกิงาฮาระ” และพ่ายแพ้ในศึกนั้น ทำให้ “อิชิดะ มิตสึนาริ” ถูกอิเอยาสึประหารชีวิตในปีค.ศ.1600 สิริอายุรวมเพียง 39 ปีเท่านั้น…
“อาซาอิ นากามาสะ” เกิดที่ปราสาทโอดานิ ในปีค.ศ.1545 เป็นไดเมียวแห่งโอมิรุ่นที่สองของตระกูล และเป็นไดเมียวรุ่นสุดท้ายของตระกูล มีคู่ปรับสำคัญคือ “ตระกูล รกคาคุ” รบกันมาหลายต่อหลายครั้งตั้งกะรุ่นพ่อ จนมีชัยในที่สุดที่รุ่นของเขา
อาซาอิ นากามาสะ ได้แต่งงานกับ “โออิชิ” น้องสาวของ “โอดะ โนบุนากะ” จนเกี่ยวดองเป็นญาติกัน แล้วเขาก็ช่วยโนบุนากะ บุกจังหวัดมิโนะ จนโนบุนากะไว้ใจเขาไม่น้อย
ในปี 1570 โนบุนากะได้ทำการสู้รบกับตระกูลอาซากุระ แห่งเอจิเซ็น โนบุนากะจึงเรียกตัวนากามาสะให้ช่วยรบด้วยในฐานะน้องเขย แต่ทว่า ทางนากามาสะกลับไปช่วยตระกูลอาซากุระแทน เพรราะได้ทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับทางอาซากุระอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งยังข่มขู่แข็งข้อกับกองทัพโนบุนากะถึงขั้นห้ามมาเหยียบถิ่นอาซากุระกันเลย…
เมื่อได้ยินอย่างนี้ โนบุนากะจึงหมดความอดทน และเริ่มสนธิกำลังกับกองทหารของ “โตกุกาว่า อิเอยาสึ” จนกลายเป็นทัพ “โอดะ-โตกุกาว่า” เข้าประจันหน้ากับทัพผสม “อาซาอิ-อาซากุระ” ที่ยุทธการ “อาเนะคาว่า” และอาซาอิก็แตกพ่าย ถอยทัพกลับหนีแทบไม่ทัน ด้วยกำลังที่มากกว่าหลายเท่าตัว
สามปีต่อมา ที่ปราสาทโอดานิ กองทัพของโนบุนากะหมายจะปิดฉากด้วยการส่งกำลังเข้าล้อมปราสาทแห่งนี้…โนบุนากะเห็นแก่ความเป็นน้องเขย จึงใหโอกาสแก้ตัวแต่นากามาสะปฏิเสธ ทำให้กองกำลังโอดะที่ล้อมปราสาทโอดานิ จุดไฟเผาปราสาททิ้ง และในกองเพลิงนั่น นากามาสะก็คว้านท้องตัวเองตายในที่สุด…
“ชิมะ ซาคอน” หรือชื่อเดิม “ชิมะ โทโมยูกิ” เป็นยอดนักดาบ และ จอมวางแผนแห่งยุคคนนึงเลยก็ว่าได้ หลังจากการสิ้นชีพของเจ้านายเก่าอย่าง “ซึซึอิ จุนเคย์” ซาคอนจึงเกษียณตัวเองออกจากสนามรบ…
แต่ทว่ามีชายหนุ่มที่ท่าทีสุภาพ มาขอร้องเขาให้มาเป็นที่ปรึกษา คนๆนั้นก็คือ “อิชิดะ มิตสึนาริ” แถมยังยอมหักเงินเบี้ยเลี้ยงของตนครึ่งนึง (ศักดินาที่มีอยู่ 4หมื่นโกะขุ) เพื่อจ้างซาคอนมาร่วมทัพจับศึกอีกครั้ง
การรบของชิมะ ซาคอนนั้นเปรียบเสมือนความโหดร้ายของปีศาจที่บ้าคลั่ง เพียงแค่ตวัดดาบครั้งเดียว ก็สามารถตัดลำตัวของทหารเป็น 2 ท่อนได้ 8-9 คน ชิมะ ซาคอนพุ่งเข้าใส่ทหารฝ่ายโตกุกาว่าจนทั้งกองทัพต้องถอยร่นไป 300 เมตรและ สูญเสียทหารไปอย่างมากมาย เขาคำรามร้องว่า “ฆ่า” ทุกครั้งที่ตวัดดาบซึ่งเป็นเสียงคำรามอันน่ากลัว ทหารที่รอดชีวิตจากสงครามในครั้งนั้นกล่าวภายหลังว่าเสียงร้องนั้น ตามหลอกหลอนพวกเขาตลอดชีวิต แม้จนอายุเท่าไหร่ เมื่อหลับตาลง ครั้งใดก็จะได้ยินเสียง “ฆ่า”ของชิมะ ซาคอนดังก้องอยู่ในหัวสมอง
ดาบประจำตัวที่ชิมะ ซาคอนใช้ในครั้งนั้นคือ “ดาบสึมาซะโนะโอ” ดาบซามูไรขนาดยาวพิเศษ หากฟันหินผาก็แหลกทั้งเนื้อนอกและใน ฟันมนุษย์ก็ขาดทั้งกระดูกทั้งเนื้อและหนัง
เพราะลูกบ้า และความอดทนของเขาในศึกนี้ ชิมะ ซาคอน ก็ถูกระดมยิงด้วยปืนไฟนับพันกระบอกจากฝ่ายโตกุกาว่า ถึงจะสังหารเขาได้ในที่สุด
“ชิมัตสึ โยชิฮิโระ” เกิดวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ.1535 เขาได้รับสืบทอดตำแหน่งไดเมียวแห่งแคว้นซัทสึมะ และเป็นผู้นำตระกูลชิมัตซึรุ่นที่ 17 หลังจากที่พี่ชาย “ชิมัตสึ โยชิฮิสะ” พ่ายแพ้ให้กับ “โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ” ในปี 1586 โดยมีหลานชาย “ชิมัตสึ โทโยฮิสะ” มาช่วยดูแลกองกำลัง และทำหน้าที่ทัพหลังให้
ใน ปี 1592-1598 ชิมาสึ โยชิฮิโระสร้างผลงานและสร้างชื่อในสงครามเกาหลี จนมีบันทึกของทางญี่ปุ่นตรงกับบันทึกของเกาหลี และหลักฐานของจีนในราชวงศ์หมิงว่า “โยชิฮิโระเป็นที่หวาดเกรงของทหารโซชอนและหมิงเป็นอย่างมาก” จนได้ฉายาว่า “คนยักษ์แห่งชิมัตซึ”
มีการบันทึกเพิ่มเติมว่า ตลอดชีวิตนับจากยุคอันโกลาหลด้วยไฟสงคราม ของโยชิฮิโร ได้ทำสงครามมาแล้วทั้งหมด 52 ศึก และมีชีวิตรอดกลับมาทุกครั้งจนสามารถใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบได้ และจากโลกนี้ไปในปีค.ศ. 1619 สิริอายุรวม 84 ปี
“ทาจิบานะ กินจิโยะ” ลูกสาวของ “ทาจิบานะ โดเซทสึ” ซามูไรผู้รับใช้ตระกูลโอโทโมะเธอถูกเรียกตัวมาในปราสาททาจิบานะตั้งแต่อายุ 6ขวบ และเชี่ยวชาญในการใช้ดาบในช่วง12ขว อีกทั้งยังเป็นผู้นำตระกูลทาจิบานะในยุคนั้น ด้วยความห้าวหาญแบบชายชาตรีนี้เองกว่าเธอจะแต่งงานได้ก็อายุปาเข้าไป 34 แล้วผู้ชายผู้โชคดีคนนั้นคือ ลูกชายของทาคาฮาชิ โจอุน ที่ชื่อ“ทาจิบานะ มุเนชิเกะ”
เมื่อมุเนชิเกะ ผู้เป็นสามีได้เป็นไดเมียวแห่งยานากาว่า แต่เธอปฏิเสธที่จะตามเขาไป แถมยังคัดค้านการเข้าร่วมฝ่ายตะวันตกของมิตสึนาริ ในสงครามเซกิงาฮาระ ซึ่งผลของศึกนี้ก็คือฝ่ายมิตสึนาริแตกพ่ายอย่างสิ้นเชิง…
ประวัติที่แท้จริงทางประวัติศาตร์ไม่ได้ระบุไว้แน่ชัดว่าเธอเกิด และเสียชีวิตเมื่อไหร่แต่สันนิฐานว่าน่าจะเสียชีวิตในช่วงปี ค.ศ.1600
“นาโอเอะ คาเนะสึกุ” (ชื่อเดิม “ฮิงุจิ คาเนะสึกุ” ) ซามูไรแห่งแคว้นเอจิโกะ เกิดในปีค.ศ 1560 ที่เมืองโยเนะซาว่า เป็น1ในซามูไรคนสำคัญแห่งแคว้นเอจิโกะและของตระกูลอุเอซึงิอีกด้วย แถมยังเป็นทั้งซามูไรและกุนซือของทัพอุเอซึกิไปในตัวด้วย ฉายแววความอัจฉริยะนั้นตั้งแต่อายุ5ขวบด้วย
ต่อมา เมื่อ “อุเอสึงิ เคนชิน” สิ้นชีพ “อุเอสึงิ คาเงะคัตซึ” ได้เข้าร่วมเป็นในพันธมิตรของ “ฮิเดโยชิ โทโยโทมิ” ทำให้คาเงะคัตซึได้เป็นผู้ปกครองเอจิโกะเหมือนเดิมแถมยังได้เมืองไอสึมาเป็นของตนอีกด้วย ซึ่งในตอนนี้คาเนซึกุนั้นก็เป็นทั้งผู้ติดตามและกุนซือของตัวคาเงะคัตซึเหมือนเดิม
ว่ากันว่าช่วงที่คาเงะคัตซึไปพบ ฮิเดโยชินั้น ตัวฮิเดโยชิถูกคนสนิทอย่าง “อิชิดะ มิตซึนาริ” กล่อมให้ชวนคาเงซึกุมาเป็นพวกซะ เพราะความฉลาดของเค้านั้นไม่ธรรมดาเมื่อฮิเดโยชิได้ยินอย่างนั้นก็อยากได้ตัวเข้าไปใหญ่ จึงตามไปพบคาเงะคัตซึกับคาเนซึกุไปด้วย พร้อมกล่อมคาเงซึกุทันทีพร้อมให้เงินเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่น แต่กลับถูกปฏิเสธเพราะตนนั้นอุทิศการรับใช้แด่ตระกูลอุเอซึงิและคาเงะคัตซึด้วยความซื่อสัตย์เท่านั้น
หลังจาก”โตกุกาว่า อิเอยาสึ” ได้ขึ้นตำแหน่งโชกุน ก็ได้ไหว้วานให้คาเนะซึกุเป้นอาจารย์สอนหนังสือให้ลูกชาย “โตกุกาว่า ฮิเดะมาดะ” ซึ่งจะไปเป็นโชกุนโตกุกาว่ารุ่นที่สอง
และเมื่อโตกุกาว่า อิเอยาสึได้สิ้นอายุขัย คาเนะสึกุก็ขอเกษียนอายุราชการ กลับไปใช้ชีวิตสมถะเรียบง่าย ทำไรไถนาเยียวยาผู้คนที่สูญเสียจากสงครามที่โยเนะซาว่าบ้านเกิด จนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ.1620 โดยทรัพย์สินที่หามาทั้งชีวิต คาเนะสึกุได้เขียนพินัยกรรมไว้สั้นๆว่า”ยกให้ประชาชนชาวโยเนะซาว่าทุกคนอย่างเท่าเทียม”
นาโอเอะ คาเนะสึกุ เป็นซามูไรที่สลักคำว่า “รัก” บนหมวกเกราะ ผู้ที่ถือหลักแห่งความยุติธรรมเพื่อปกป้องประเทศให้ พ้นจากภัยสงคราม ผู้ยึดถือหลักความรัก ความเมตตาเพื่อผ่านอุปสรรคนานานัปการเพื่อประโยชน์สุข แก่ส่วนรวมแม้ต้องเสียสละส่วนตน วีรกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบ้านเมือง การศึกษา การสงครามเพื่อให้บ้านเมืองและประชาชนอยู่รอด “แม้ชีพวายแต่ชื่อนั้นคงเป็นอมตะ”
====ยังไม่จบ เดี๋ยวมาต่อ แต่ไม่รู้เมื่อไหร่ เพราะบางคนข้อมูลหายากสุดๆ===
————-
แอดมิน Ak47
-
BEYBLADE X : 10 ตัวน่าซื้อ ของมันต้องมีในปี 2024
#beybladex #kctoysbeybladex #beybladexthailand
-
KARATE KID: LEGENDS [เรื่องย่อ / ตัวอย่าง / หนังใหม่ /2025]
#KarateKidMovie #KarateKi #เฉินหลง #JackieChan
-
20 ตัวละครจากเกมยอดนิยมที่ถูกค้นหามากที่สุดในเวปไซต์สำหรับผู้ใหญ่ 2024
#Ranking #website #Games #PC #Console