มุซาชิ เจ้าหนูเคนโด้ [เรื่องย่อ / ดักแก่]
02 มิถุนายน 2559 11:01 น.
Share on FacebookTweet about this on TwitterShare on Google+

Musashi (9)

ชื่อญี่ปุ่น : 六三四の剣 (มุซาชิ โนะ เคน)
ชื่อไทย : มุซาชิ เจ้าหนูเคนโด้ / ข้าชื่อมุซาชิ
ชื่ออังกฤษ : Sword of Musashi
จำนวน : 72ตอน
ผลิตโดย : Eiken
ฉายครั้งแรก : 18 เมษายน 1985 – 26 กันยายน 1986
ฉายในไทย : เมษายน 2533-2534 ในรายการช่อง 9 การ์ตูน และรีรันซ้ำช่วงปิดเทอม11 โมง จันทร์-ศุกร์

 

 

Musashi (25)

“เคนโด้เป็นศิลปะแห่งการใช้ดาบของชนชาติญี่ปุ่น อันมีความหมายว่า “วิถีแห่งดาบ” โดยมีแนวคิดทางปรัชญาของพระพุทธศาสนาและลัทธิชินโตอีกทั้งยังมีรากฐานทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นผสมผสานเข้าไปอย่างลงตัวอีกด้วย

 

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับเคนโด้มากคือการกำเนิดเกิดขึ้นพร้อมๆกับซามูไร โดยในสมัยเฮอันเคียว( 794 – 1185 ) จวบจนกระทั่งในสมัยเอโดะ( 1603 – 1868 )วิชาดาบเคนโด้มีรูปแบบที่เป็นเอกเทศมากขึ้น โดยมีการแต่งกายและอุปกรณ์เกิดขึ้นเป็นระบบและเป็นมาตรฐานมากกว่าแต่ก่อน และใช้กันอย่างกว้างขวางในระบบนั้น

 

มีหลักฐานแน่นอนว่าเคนโด้ได้ใช้เป็นหนึ่งในหลายๆวิชา เพื่อทำการสอบเข้ารับราชการแก่ผู้ที่จะมาเป็นซามูไร โดยรูปแบบการแต่งกายและอุปกรณ์ยังคงใช้กันมาจนถึงปัจจุบันแม้รายละเอียดและวัสดุบางอย่างอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยเท่านั้น

 

ในปี 1952 เคนโด้ได้บรรจุเป็นหลักสูตรในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยกันอย่างกว้างขวาง และมีการดัดแปลงแก้ไขกติกาบางอย่างเพื่อให้มีรูปแบบเป็นกีฬามากขึ้นและเพื่อความเหมาะสมแก่ยุคสมัย”

—–คัดย่อจากบทความ “ประวัติเคนโด้” โดย ชมรมเคนโด้ไทย-ญี่ปุ่นดินแดง—-

 

Musashi (28)

และนี่คือการ์ตูนที่หยิบยกเอาจิตวิญญาณของการต่อสู้ในเกมกีฬาที่นอกจากจะต้องเอาชนะผู้อื่นแล้ว ยังต้องเอาชนะอุปสรรคในชีวิตอีกด้วย กับการ์ตูนดราม่าสุดเข้มข้นที่มีชื่อว่า “มุซาชิ เจ้าหนูเคนโด้” (หรือ “ข้าชื่อมุซาชิ” ฉบับหนังสือการ์ตูนไพเรท)

 

 

Musashi (11)

“มุซาชิ เจ้าหนูเคนโด้”  (六三四の剣 มุซาชิ โนะ เคน) เป็นการ์ตูนที่วาดขึ้นโดย อ. มุราคามิ โมโตกะ (ปัจจุบันมีผลงาน “จิน หมอทะลุศตวรรษ”)  ที่ได้เล่าเรื่องราวความผูกพันในวิถีแห่งเคนโด้ของเด็กชายนัทสึกิ มุซาชิ จนก้าวไปสู่การเป็นยอดฝีมือเคนโด้ระดับม.ปลายวัยว้าวุ่น ที่ตีพิมพ์ลงนิตยสาร “โชเนน ซันเดย์” ในปี 1981 -1985 และยังเป็นการ์ตูนที่ได้รับรางวัล  Shogakukan Manga Award สาขาการ์ตูนผู้ชายยอดเยี่ยมอีกด้วย 

 

Musashi (7)

และหลังจากนั้น ทาง สตูดิโอเอย์เคน (Eiken) ก็ได้นำการ์ตูนเรื่องนี้ไปแปลงเป็นอนิเม ที่เล่าเรื่องเหมือนในหนังสือการ์ตูนแบบไม่มีผิดเพี้ยน! และได้เข้าฉายในบ้านเราช่วงช่อง 9 การ์ตูน ช่วงปี 2534 (ฉายไม่จบ) และรีรันซ้ำ ช่วงปิดเทอมอีกครั้ง (แต่ว่าตอนนั้นก็ยังฉายไม่จบนะ)

 

 

—-

 

 

เรื่องย่อ

Musashi (6)

เรื่องราวของมุซาชิ เจ้าหนูเคนโด้ เริ่มต้นในวันที่ 3 มิถุนายน ที่เมืองยางิว เมื่อเด็กชาย “นัทสึกิ มุซาชิ” ลูกชายคนเดียวของนายตำรวจ “นัทสึกิ เออิจิโร่” และ แชมป์เคนโด้หญิง “นัทสึกิ คาโย” ได้ถือกำเนิด ซึ่งก็เป็นวันเดียวกันที่เออิจิโร่คว้าแชมป์เคนโด้ของกรมตำรวจได้ และตั้งชื่อลูกชายตามนักดาบที่เก่งที่สุดในญี่ปุ่น “มิยาโมโต้ มุซาชิ”

มุซาชิเติบโตด้วยความกล้าหาญ ชาญฉลาด และพรสวรรค์ด้านเคนโด้ที่พ่อ และแม่คอยฝึกฝนให้ตั้งแต่3ขวบ ซึ่งเขายังเขียนหนังสือไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ และมุซาชิก็รักพ่อและแม่มากพอๆกับเคนโด้ ด้วยความห้าวหาญ มีน้ำใจ และ แข็งแกร่งเกินเด็กวัยเดียวกัน จึงเป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆที่โรงเรียนอนุบาล

 

 

Musashi (5)

ด้วยคำสัญญาที่ให้กับพ่อและหุบเขาอิวาเตะ เขาจะต้องเก่งกาจให้ได้ มุซาชิจึงพร่ำเรียนวิชาจากพ่อแม่ และบรรดาเด็กประถมที่มาเรียนเคนโด้ในโรงฝึกประจำเมือง แต่ก็ข้ามรุ่น ไปท้าสู้กับ “โออิชิ อิวาโอะ” เด็กหัวโจกชั้น ป.5 ที่มีฝีมือดาบเหนือกว่ามุซาชิ แล้วก็แพ้ยับหมดรูปทั้งที่อิวาโอะใช้แค่ท่อนไม้เท่านั้น

 

 

Musashi (10)

เออิจิโร่จึงพร่ำสอนเรื่องการวางเท้า และจังหวะให้ ด้วยการ “ใช้ไม้จิ้มฟัน1อัน สู้กับยากูซ่า 4 คน” ทำให้มุซาชิชื่นชมในความเก่งกาจของพ่อเขา ที่มีฉายาว่า “พยัคฆ์ร้ายแห่งอิวาเตะ” มีอเคนโด้อันดับหนึ่งของญี่ปุ่น

 

 

Musashi (12)

การฝึกอย่างหนักของมุซาชิก็เข้าสู่ช่วงการแข่งขันระดับเยาวชน เพียงแค่ 4 ขวบ มุซาชิก็ลงเข้าแข่ง และเจอกับ “โทโดโรกิ รันโกะ” เด็กผู้หญิงมาดทอมบอย ที่เป็นอัจฉริยะเคนโด้เช่นเดียวกับมุซาชิ และกลับไปท้าสู้กับอิวาโอะ ที่เพิ่งขึ้นมัธยมอีกครั้ง แต่ก็แพ้กลับมา คราวนี้มุซาชิกลับรู้สึกขอบคุณ เหมือนเขาได้เรียนรู้เรื่องการปประมาณตน และทิ้งสัญญาใจเอาไว้ว่า “ไม่ว่าอีกกี่สิบปี เขาก็จะฝึกเพื่อเอาชนะอิวาโอะให้ได้”

 

Musashi (13)

หลังจากนั้นไม่นานนัก พ่อของมุซาชิก็ได้เป็นตัวแทนของอิวาเตะ ไปเข้าแข่งเคนโด้ระดับประเทศ เขาต้องเจอกับ “โทโด คุนิฮิโกะ” คู่ต่อสู้ที่เก่งกาจกว่าอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นอย่างเออิจิโร่ ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากการเป้นตำรวจ เพื่อฝึกฝนเคนโด้อย่างจริงจัง เพราะหลังจากที่เจอกับ “ท่าแทงคอหอย” อันทรงพลังของคุนิฮิโกะ เขาก็ทราบดีว่าในตอนนี้เอาชนะไม่ได้แน่นอน  และในตอนนั้น มุซาชิกก็เลื่อนชั้นเป็นเด็กป.1แล้ว…

 

Musashi (14)

แต่การดวลกันในการแข่งขันชิงแชมป์ญี่ปุ่น คุนิฮิโกะ และ เออิจิโร่ ก็ดวลกันอย่างสูสี แต่ทว่า ด้วยท่าแทงคอหอย ที่รุนแรงหนักหน่วง ทำให้การจิตสังหารคู่ต่อสู้ของเออิจิโร่ถึงจุดพีคสุด และเอาชนะจนคว้าแชมป์ญี่ปุ่นได้ แต่ทว่าก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตหลังจากการแข่งในครั้งนั้น และการตายของพ่อ ก็ทำให้มุซาชิตั้งใจที่จะเก่งกว่าพ่อให้ได้ แต่ก็ต้องหยุดฝึกเคนโด้ไปนานถึง 3 ปี เพื่อฝึกท่าแทงเพียงอย่างเดียวด้วยโทสะเท่านั้น

 

Musashi (15)

และมุซาชิก็ตัดสินใจออกจากบ้านเพื่อไปล้างแค้นให้พ่อด้วยการท้าสู้กับ  “โทโด คุนิฮิโกะ” ชายผู้ที่ใช้ท่าแทงคอหอย ที่ทำให้พ่อของเขาต้องตาย แต่ว่าก็ไม่เป็นผล เพราะมุซาชิจ้องแต่จะเอาชนะด้วยจิตใจที่เปี่ยวด้วยโทสะ ซึ่งนั่นเป็นการปิดหูปิดตาในวิถีแห่งดาบของตัวเอง แถมแพ้ “โทโด ชูร่า” ลูกชายของเขาด้วย

 

หลังจากกลับมา มุซาชิก็ได้พบกับผู้คนมากมาย และยังคงฝึกเคนโด้อย่างหนัก และรับมือกับคู่ต่อสู้มากมาย ในการแข่งขันระดับประเทศ

 

Musashi (17)

จนกระทั่งเข้าสู่ ม.ปลาย มุซาชิเติบโตเป้นเด็กหนุ่มนักเคนโด้ฝีมือฉกาจ ได้รับการเคี่ยวกรำอย่างหนักหน่วงมาตลอด ทั้งการฝึกกับชมรมเคนโด้ในหอพักหญิงล้วนของวิทยาลัยยาคุโมะที่โหดหิน อีกทั้งยังต่อสู้กับแนวคิดของเคนโด้ที่ต่างจากการฝึกเพื่อการเอาชนะการแข่ง สู้กับตัวเอง สู้กับบางอย่างในใจ

 

แต่มุซาชิก็ก้าวเข้าใกล้พ่อของเขาเต็มที…และสู้โดยหวังว่า จะเอาชนะ“โทโด ชูร่า”ให้ได้ในการแข่งระดับประเทศ โดยมี“โทโดโรกิ รันโกะ”  เพื่อนสาวที่เคยเป็นศัตรู ที่มีความรู้สึกที่เป็นมากกว่าเพื่อนไปแล้วคอยเคียงข้าง และสัญญาว่าจะไปแข่งระดับประเทศด้วยกัน แต่ก็มาเกิดอุบัติเหตุในการแข่ง จนรันโกะขาหัก สละสิทธิ์ในการแข่รอบระดับประเทศ

 

Musashi (19)

 ใน3วัน ก่อนวันแข่งระดับประเทศ และ ตัดสินกับ “โทโด ชูร่า” มุซาชิได้ถูกหน่วยปราบปรามพิเศษ 3 นาย ลากตัวเข้าไปในโรงฝึกเคนโด้ของโรงพักอิวาเตะ  เพื่อไปพบกับ “โออิชิ อิวาโอะ” ที่ปแัจจุบันกลายเป็นครูฝึกของโรงพักอิวาเตะๆไปแล้ว โดยมุซาชิต้องผ่านด่านหน่วยปราบปรามพิเศษเสียก่อน ทั้งหมดนี้ อิวาโอะต้องการทดสอบฝีมือของมุซาชิ ก่อนที่จะเริ่มทำตามที่ได้รับปากเมื่อสิบกว่าปีก่อนว่าจะกลับมาสู้กับมุซาชิ…และในที่สุด มุซาชิก็สามารถเอาชนะทาแทงคอหอยที่รุนแรงอิวาโอะได้ และยังได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่หน่วยพิเศษ เหมือนอย่างที่พ่อของมุซาชิเป็น…บัดนี้ “เสือร้ายแห่งอิวาเตะคนที่สอง” ได้ถือกำเนิดแล้ว!

 

Musashi (2)Musashi (20)

วันแข่งจริง มุซาชิต้องรับมือกับคู่ปรับเก่าอย่าง “อินุอิ ชุนอิจิ” ชายที่เคยพลาดถูกมุซาชิตีเข้าที่แขนจนกระดูกแตกละเอียด ก็กลับมาลงแข่งด้วยวิชาดาย “นิโตริว” (ดาบคู่) ที่เน้นการสังหารเป้าหมายเพียงอย่างเดียว แต่มุซาชิก็เอาชนะได้อย่างยากลำบาก

 

 

Musashi (23)

และก็เข้าสู่รอบชิงกับ โทโด ชูร่า ด้วยอาการแผลฉีกขาดที่คอ ทำให้มุซาชิไม่สามารถใช้ท่าต่างๆอย่างเต็มที่ แต่ด้วยจิตใจที่สู้ไหวก็ทำให้เขากลับไปที่ลานประลองอีกครั้ง โดยมีรันโกะ ที่รู้ใจตัวเองแล้วว่าอยากจะอยู่เคียงข้างมุซาชิคอยเป็นกำลังใจให้

 

Musashi (21)

 การต่อสู้กับชูร่าเป็นไปอย่างยากลำบากถึงขีดสุด ด้วยความเยือกเย็น และโหดเหี้ยมในเชิงดาบดุจเทพอสูร“อาชูร่า” ที่รุกไล่มุซาชิ และด้วยสภาพที่ย่ำแย่ของทั้งคู่ ดาบสุดท้ายที่ทั้งคู่ตั้งใจจะแลกชีวิตกันในเกมกีฬา ผลก็คือมุซาชิสามารถฟาดดาบเข้าแสกหน้าของชูร่าได้สำเร็จ ปิดฉากการครองแชมป์ 3 สมัยของชูร่า และในขณะเดียวกัน “โทโด คุนิฮิโกะ” ที่กำลังอยู่ในอาการป่วยหนัก ก็สิ้นใจในวันที่ชูร่าพ่ายแพ้  

 

Musashi (1)

และ มุซาชิสิ้นสติเพราะความเหนื่อยล้าในอ้อมกอดของรันโกะ

 

 

Musashi (18)

 4 เดือนต่อมาหลังจากการดวล ชูร่าได้เขียนจดหมายถึงมุซาชิว่า กำลังจะเตรียมอ่านหนังสือสอบเข้ามหาวิทยาลัยแพทย์ คราวนี้เขาเลือกเส้นทางของตัวเองได้แล้ว หลังจากที่พ่อของเขาคอยขีดเส้นทางนักดาบมาทั้งชีวิต เขาเลือกที่จะวางดาบ และจับมีดหมอเพื่อช่วยเหลือผู้คน ไม่ให้ทนทุกข์กับโรคภัยเหมือนพ่อของเขา

 

ส่วนมุซาชิก็กำลังง่วนกับการหนังสือสอบ เพื่อเรียนวิทยาลัยครู โดยหวังว่าอนาคต จะสอนให้เด็กๆในเมืองอิวาเตะ ได้เรียนรู้ถึงเพลงดาบที่พ่อของเขาพร่ำสอนไปใช้ในทางที่ถูกต้อง และเพื่อการกีฬาต่อไป…บัดนี้ จากคู่อาฆาต กลายมาเป็นเพื่อนรักที่เข้าใจกันและกันมากที่สุดไปแล้ว…

 

 

 

 Musashi (16)

—-

 

ตัวละคร

 

Musashi (4)

นัทสึกิ มุซาชิ

เด็กหนุ่มที่เกิดมาภายใต้สายเลือดของนักเคนโด้ระดับเทพของญี่ปุ่น “นัตสึกิ เออิจิโร่” และ “นัทสึกิ คาโย” มุซาชิเป็นเด็กซนชนิดที่ว่า “สร้างความวุ่นวายไปทุกที่” ด้วยนิสัยห้าวๆ แบบไร้เดียงสา ก็มักจะเกิดเรื่องวุ่นวายเสมอ แต่กับวิชาดาบ มุซาชิจะเป็นคนที่เรียนรู้เร็วมาก เขาได้รับการฝึกจากพ่อ และแม่ โดยตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะเอาชนะพ่อ ที่เป็นที่หนึ่งของญี่ปุ่นให้ได้ 

หลังจากการเสียชีวิตของพ่อ มุซาชิได้ย้ายโรงเรียน และเรียนรู้เรื่องราวการต่อสู้ด้วยเพลงดาบมามากมาย แถมสร้างโจทย์เอาไว้เยอะมาก แต่ฝีมือก็ก้าวกระโดดเช่นกัน โดยมีคู่ปรับที่เขาต้องทุ่มเทพลังชีวิตทั้งหมดเพื่อเอาชนะให้ได้คือ “โทโด ชูร่า” ลูกชายของ “โทโด คุนิฮิโกะ” ชายผู้สังหารพ่อของมุซาชิด้วยเพลงดาบ “ท่าแทงคอหอย” 

หลังจากสู้กับชูร่า มุซาชิตัดสินใจที่จะเป็นครูสอนวิชาเคนโด้ต่อไป…

 

 

Musashi (24)

โทโด ชูร่า 

นักดาบหนุ่มน้อยหน้าตาใจดี เป็นลูกชายของ “โทโด คุนิฮิโกะ”  ยอดนักดาบ “ที่เหนือกว่าอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น” เขาถูกพ่อของเข้าเคี่ยวกรำอย่างหนักตั้งแต่เด็ก จนถึงตอนโต เขายิ่งถูกฝึกอย่างหนักด้วยดาบจริง ถึงขั้นแลกชีวิตกับพ่อของเขาเองก็ยังทำมาแล้ว

 

ดูเหมือนจะไม่ได้รับความรักจากพ่อ แต่ชูร่าเข้าใจในความหวังดีของพ่อจึงอดทนฝึกดาบราวกับได้รับการฝึกกับปีศาจ ถึงชูร่าจะเป้นเด็กที่จิตใจดี แต่เมือเข้าสู่ลานประลอง เขาจะกลายเป็นเหมือนปีศาจ”อาชูร่า” เทพอสูรที่แข็งแกร่งสุดๆ หลังจากที่พ่อของเขาจากโลกไป และพ่ายแพ้แก่มุซาชิ เขาก็ได้เลือกเส้นทางของการเป็นหมอ เพื่อช่วยเหลือคนต่อไป

 

 

 Musashi (30)

โทโดโรกิ รันโกะ

สาวน้อยมาดทอมบอย ที่มาในฐานะศัตรูของมุซาชิ แต่หลังจากผ่านการฝึกฝนด้วยกันมาในช่วงมัธยม ความรู้สึกของรันโกะที่มีต่อมุซาชิก็เริ่มเปลี่ยนไป และยังเป็นคนที่เข้าใจมุซาชิมากที่สุดต่อจากแม่ของเขา ในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายกับชูร่า รันโกะเป็นคนที่อยู่กับมุซาชิ และรู้ว่ามุซาชิกำลังบาดเจ็บสาหัส แต่ก้ต้องทนให้กำลังใจ ทั้งๆที่ตัวเองก็กลัวจะเสียมุซาชิไป

 

 

 

Musashi (27)

 

 

 Musashi (26)

“ชูร่า” คู่อาฆาตฟ้าประทาน ที่มุซาชิต้องเอาชนะให้ได้ เพื่อพิสูจน์ความเป็นหนึ่งในญี่ปุ่น

 

 

Musashi (31)

 

Musashi (34)

การพบกันครั้งแรกของ มุซาชิ กับ รันโกะ ในฐานะคู่แข่งตอน 4ขวบ ซึ่งหลังจากนั้นสิบปี ทั้งคู่ก็กลายเป็นคู่รักกันในที่สุด

 

Musashi (32)

 

Musashi (33)

 

วิถีของเลือดนักสู้ของญี่ปุ่น ถูกปลูกฝังใส่ในตัวมุซาชิมาตลอด เขาจึงกลายเป็นเด็กที่เติบโตอย่างเข้มแข็ง และท้าชนกับทุกอุปสรรค  ถึงจะมีอาการหวั่นใจ หนักใจ หรือทุกข์ร้อนซัเท่าไหร่  เราจะไม่เคยเห็นมุซาชิวิ่งหนีปัญหาแม้แต่ครั้งเดียว

 

จัดว่าเป็นการ์ตูนดราม่าชั่นเยี่ยมที่ให้ทั้งความสนุก แง่คิด และหลักการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ เราจะได้เห็นพัฒนาการของมุซาชิตั้งแต่เล็กจนโต ถึงจะบอกว่ามุซาชิมีพรสวรรค์ แต่ก็แค่ 30% เท่านั้น แอดมินเชื่อว่า อีก 70% คือความพยายามของเขามากกว่า ดังคำกล่าวว่า 

 

“ลิขิตฟ้า หรือจะสู้ มานะตน”

Musashi_no_Ken

 

แอดมิน Ak47

 

เพลงเปิดสุดแสนคุ้นเคย