วงการไอดอลของประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของวงการเพลงญี่ปุ่น ที่ยังได้รับความนิยมและเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สำคัญของประเทศก็ว่าได้ พวกเขาหรือพวกเธอ คือ กลุ่มคนที่มีความฝัน และ รูปลักษณ์รวมถึงคาแร็คเตอร์ที่น่าสนใจ สามารถทั้งร้องและเต้น รวมถึงแสดงละครภาพยนตร์ แล้วยังเป็นที่ชื่นชอบและเทิดทูนบูชา จนเราอยากเอาใจช่วยและให้กำลังใจ
วันนี้เราจะพาทุกท่านย้อนรอยประวัติศาสตร์เรื่องราวของวงการไอดอล นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสูงสุดรวมถึงเรื่องราวที่น่าสนใจมาฝาก ถ้าพร้อมแล้วเราไปสัมผัสเรื่องราวของวงการไอดอลกันได้เลยครับ
ก่อนอื่นเราขออธิบายความหมายของคำว่า ไอดอล เสียก่อน ไอดอล (Idols) หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า ไอโดรุ (aidoru) ซึ่งมีที่มาจากคำศัพท์ของฝรั่งเศส คำว่า Idole ที่แปลว่า เทิดทูน, ขวัญใจ, เทิดทูนบูชา ซึ่งใช้เรียกหนุ่มสาว ที่เข้าวงการบันเทิงตั้งแต่อายุ 15ปี ขึ้นไป ซึ่งจะมีคาแร็คเตอร์และรูปลักษณ์ที่ชัดเจนและเป็นจุดขาย ที่สำคัญพวกเขาเข้าวงการและฝึกฝนทักษะการร้องเต้นและการแสดง โดยไม่มีพื้นฐานมาก่อน ความแตกต่างระหว่างดารากับไอดอล คือ ดารา จะเพียบพร้อมทุกอย่างและมีพื้นฐาน ส่วนไอดอลจะเริ่มต้นจากศูนย์ ซึ่งทำให้แฟนคลับหรือเหล่าโอตะได้เห็นพัฒนาการเรื่อยๆ แล้วเอาใจช่วยไปด้วยกัน
นอกจากนี้ ไอดอล จะมีกฎระเบียบที่เคร่งครัด เพราะ ไอดอล ถือว่าเป็นคนที่ทุกคนชื่นชอบ และเป็นขวัญใจ ซึ่งถ้าหากมีข่าวคราวในแง่ลบ ก็ส่งผลกระทบต่อความนิยมของไอดอล
นอกจากนี้วงการไอดอลเป็นวงการที่มีอายุงานในช่วงวัย 13-20 ปีขึ้นไป แล้วเมื่อเข้ามาพวกเขาหรือเธอก็ต้องขัดเกลาฝึกฝนและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะวงการไอดอลถือเป็นธุรกิจบันเทิงที่มีการแข่งขันสูง ทำให้มีการแจ้งเกิดไอดอลใหม่อยู่เสมอ
ถ้าจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของวงการไอดอล ก็ต้องย้อนกลับไปในช่วงยุค 60-70 เมื่อภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Cherchez l’idole ซึ่งเข้าฉายเมื่อปี 1963 ซึ่งภาพของนางเอกอย่าง Sylvie Vartan นักแสดงและนักร้องยอดนิยมในเวลานั้น กลายเป็นขวัญใจคนใหม่ของชาวญี่ปุ่น ในช่วงที่วัฒนธรรมตะวันตกแพร่หลายทั่วโลก รวมถึงประเทศญี่ปุ่นในยุคที่กำลังพัฒนาประเทศหลังผ่านความเจ็บปวดจากสงคราม
จนเมื่อเข้าสู่ยุค 70’s เพราะภาพพิมพ์นิยมของ Sylvie ทำให้เริ่มต้นมีการนำเพลงมาใส่เนื้อร้องเป็นญี่ปุ่น ก่อนที่เหล่าบรรดาเสือปืนไวของวงการบันเทิงของญี่ปุ่น เริ่มมีความคิดที่จะปั้นไอดอลที่มีต้นแบบจาก Sylvie ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวงการบันเทิง โดยเริ่มปั้นชายหญิง วัยรุ่น แล้วมาฝึกฝนเป็นไอดอล ที่มีความสามารถรอบด้านทั้งการร้องและเต้น รวมถึงการแสดง แล้วยังสามารถรับงานได้ทุกรูปแบบ
นั่นคือจุดเริ่มต้นของวงการไอดอลที่ตอนนั้นไม่มีใครคิดว่า จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของวงการบันเทิง แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมของประเทศก็ว่าได้
สู่ยุคความรุ่งเรื่อง
เมื่อเข้าสู่ยุครอยต่อระหว่างยุค 70’s-80’s ซึ่งกลายเป็นยุคทองของวงการไอดอล เพราะเป็นช่วงที่ไอดอลทั้งแบบเดี่ยวและเป็นวงได้ถือกำเนิดขึ้นมากมาย ซึ่งไอดอลที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ อาทิ Momoe Yamaguchi , Seiko Matsuda, Akina Nakamori, Kyoko Koizumi, Chisato Moritaka ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีไอดอลออกรายการมากมายนับไม่ถ้วน แล้วมีแฟนคลับติดตามมากมาย
ส่วนแฟนๆสามารถติดตามความเคลื่อนไหวไอดอลคนโปรดของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นตามสถานีโทรทัศน์, หรือรับสมัครข่าวสารผ่านจดหมายจาก ออฟฟิเชี่ยล แฟนคลับ หรือติดตามข่าวทางนิตยสารกับทางทีวี ส่วนไอดอลในยุคนั้นยังไม่สามารถพบเจอได้ทุกที่เหมือนสมัยนี้ เพราะต้องเก็บตัวฝึกซ้อม และพบเจอได้แค่งานโปรโมตกับคอนเสิร์ตเท่านั้น
ช่วงนั้นวงการไอดอลก็มีการขยายซับเซตมากขึ้น เพื่อเพิ่มความแปลกใหม่ ที่ไม่ใช่แค่ไอดอลคนเดียว ก็มีทั้งไอดอลคู่ หรือ เป็นวงไอดอล ซึ่งถ้าจะพูดถึงวงไอดอลยุคแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จในยุคทองของวงการไอดอล ชื่อแรกที่ทุกคนจะกล่าวถึงคือ Onyanko Club
วง Onyanko Club เป็นวงต้นแบบของไอดอลกรุ๊ปในวันนี้ ซึ่งเป็นโปรเจคของ Yasushi Akimoto โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงที่เป็นที่รู้จักในวงการเพลง โดยเริ่มต้นจากการคัดสมาชิกจากรายการทีวี All Night High School Girl Special ทางช่องฟูจิทีวี ก่อนจะได้สมาชิก 52 คน แล้วมีซิงเกิ้ลสร้างชื่อ Sailor Fuku o Nugasanai de นอกจากจะเป็นวงไอดอลที่ประสบความสำเร็จแล้ว อากิพี ยังได้วางรากฐานสำคัญของวงไอดอล ที่กลายมาเป็นฐานสำคัญเมื่อมาทำวง AKB48 ในเวลาต่อมา
จุดตกต่ำที่มาพร้อมกับความหลากหลาย
เมื่อเข้าสู่ช่วงยุค 90’s วงการไอดอลก็เริ่มซบเซาลง ส่วนหนึ่งมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ ในช่วงปี 1990-1993 ซึ่งทำให้วงการไอดอลมีเข้าออก แต่ก็ยังมีบางส่วนที่หาทางสู้ต่อจึงมีการเปลี่ยนภาพลักษณ์ หรือสไตล์รูปแบบให้เข้ากับยุคสมัย และทำให้แฟนๆมีความรู้สึกร่วมเข้ากันได้ ในช่วงยุคนั้นก็มีวงไอดอลใหม่ๆเกิดขึ้น ในท่ามกลางวิกฤต ซึ่งช่วงนั้นมีทั้งวงการไอดอลและเกิร์ลกรุ๊ปกับบอยกรุ๊ป รวมถึงศิลปินนักร้องที่ปรับตัวเข้ากับช่วงเวลาและประสบความสำเร็จ อาทิ Smap, V6, Tokio, Ringo Sheena, Utada Hikaru, Namie Amuro, Ayumi Hamasaki, Speed
ถ้าพูดถึงวงไอดอลกรุ๊ปแห่งยุค 90 ก็ต้องยกให้เป็น Morning Musume ที่ยังได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน
เมื่อเข้าสู่ปี 2000 อากิพี จึงกลับสู่วงการไอดอลอีกครั้ง ที่คราวนี้เขามีความคิดที่จะปั้นวงไอดอลในคอนเซปต์ที่ว่า “ไอดอลที่คุณจะได้พบ” โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยทำวง Onyanko Club ซึ่งวงใหม่นี้จะมีการแสดงที่เธียร์เตอร์ทุกอาทิตย์ โดยมีสถานที่คือ อากิฮาบาระ จนกลายเป็นวง AKB48 ซึ่งจากวันเริ่มต้นที่มีผู้ชมเพียง 7 คน กลายเป็นวงแนวหน้าของประเทศ แล้วทำให้วงการไอดอลกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง พร้อมกับสร้างวงน้องสาวทั้งในปละต่างประเทศ นอกจากนี้อากิพียังได้ร่วมมือกับค่าย Sony สร้างวงในเครือ 46 ที่เปรียบเสมือนเป็นคู่แข่ง แล้วเคยมีการสลับสมาชิกของทั้งสองวงหรืแ ให้สมาชิกควบสองวงมาแล้ว
สีสันของวงไอดอลในวันนี้
หลังจากที่วงเครือ 48&46 ได้ปลุกกระแสวงการไอดอลที่เคยรุ่งเรืองกลับมาอีกครั้ง ซึ่งทำให้ในวันนี้เราได้เห็นวงไอดอลเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งความน่าสนใจคือ มีวงไอดอลอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้โด่งดัง แต่ก็ยังมีฐานแฟนๆ ส่วนหนึ่งมาจากคอนเซปต์และไอเดียที่น่าสนใจหรือแหวกแนวจนคนต้องติดตาม
มีตัวอย่างวงหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากคือ วง The Margarines ซึ่งเป็นไอดอลที่รวมตัวกันด้วยภารกิจที่ว่าพวกเธอจะมาเป็นไอดอลเพื่อต้องการ จะปลดหนี้ให้กับตัวเองทั้งหมด 127 ล้านเยน หรือ อีกวงหนึ่ง Magical Ban☆Bang ที่มีคอนเซปต์คือวงนี้ทำทุกอย่างด้วยลำแข้งตัวเอง ทั้งฝึกซ้อม ออกแบบ หรือการโปรโมต ซึ่งพวกเธอทำทุกอย่างด้วยตัวเอง
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของวงการไอดอลตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถ้าขาดตกบกพร่องตอนไหน ขอ อภัย มา ณ ทีนี้ ครับ
@ P.PETTY
ข้อมูลประกอบ
- https://gmlive.com/ประวัติศาสตร์ย่อของวงการไอดอลญี่ปุ่น ก่อนจะมาถึง AKB48 จนถึง BNK48
- https://www.marumura.com/japan-idol-2/
- https://www.mangozero.com/weird-concept-japanese-idol-group/
- https://www.dek-d.com/teentrends/35546/
- HAMBURGER Magazine 5-11 July 2017
- STARPICS NO.891 August 2018