กันพลาคืออะไร!? [ประวัติ / ข้อมูล / ของเล่น]
10 พฤษภาคม 2566 16:42 น.
Share on FacebookTweet about this on TwitterShare on Google+

1144-RG-RX-78-2-Gundam-(16)

 

กันดั้ม อนิเมชั่นสะเทือนวงการอนิเมญี่ปุ่น!

ในช่วงปี 70 ประวัติศาสตร์วงการอนิเมชั่นญี่ปุ่นต้องพบกับก้าวใหม่ และความทะยานสู่มาตรฐานใหม่ นำทัพโดย “เรือรบอวกาศ ยามาโตะ” (อุชูเซ็งคัง ยามาโตะ) ทำให้แฟนๆอนิเมในยุคนั้นต่างตื่นตา ตื่นใจกับเทคนิคงานภาพ และการเล่าเรื่องที่ต่างไปจากยุคนั้นที่อุดมไปด้วนการ์ตูนแนวซูเปอร์โรบอท หรือพวกหุ่นอภินิหาร

จนกระทั่งการมาของ “โมบิลสูท กันดั้ม” หรือ “คิโดเชนชิ กันดั้ม” ที่แม้ว่าจะไม่ได้รับความนิยมในช่วงการออกฉายจนต้องโดนตัดจบ แต่ด้วยพลังของแฟนๆกันดั้มในสมัยนั้น ที่เรียกร้องให้กลับมาฉายซ้ำ จนนำไปสู่การออกภาพยนตร์ฉบับไตรภาค

 MG-RX78-origin-(74)

ซึ่งในช่วงนั้นเอง ของเล่นที่เกี่ยวกับกันดั้ม ก็ขายดีเป็นเททิ้ง ทั้งหุ่นเหล็กยิงหมัดสปริง หรือแม้กระทั้งสมุดภาพประกอบเรื่องราวต่างๆ ก็ขายดีเช่นกัน แต่สิ่งที่ทำออกมา แล้วขายดีที่สุด และอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน ก็คือของเล่นที่เรียกว่า “กันดั้ม พลาสติกโมเดล” หรือ “กันพลา” นั่นเอง..

 

 

 ”Fun to build GUNPLA” 

 

 

จุดกำเนิดของกันพลา

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ในช่วงเดือนกรกฎาคมปี 1980 หลังจากการฉายทางทีวีของอนิเมกันดั้มมาได้ครึ่งเรื่อง  ก็มีการผลิตของเล่นที่นำเอาพื้นฐานการสร้างสเกลโมเดล “เรือรบยามาโตะ”มาอ้างอิง โดย บริษัทบันได ในจังหวัดชิสึโอกะ ได้พยายามผลักดันให้ “กันพลา” เป็นของเล่นที่เข้าถึงได้ง่าย จึงผลิตออกมาในราคาเพียงตัวละ 300 เยนเท่านั้น แต่ทว่าก็ตามยุคสมัย กันพลาในยุคแรกๆจึงหน้าตาเพี้ยนๆ และสเกลเบี้ยวๆไปบ้าง เพราะในตอนนั้น ทีมงานออกแบบของเล่นต้องทำการเขียนแบบแปลน ออกแบบทุกอย่าง “ด้วยมือ” และการคาดคะเน การวัดถึงขนาด สัดส่วนต่างๆ ซึ่งไม่เหมือนสมัยนี้ที่กันพลา สร้างด้วยเทคนิค โปรแกรม Auto Cad บนระบบคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อนกว่าได้

 

หลังจากความสำเร็จในช่วงหลังการฉายกันดั้มทั้งฉบับทีวี และฉบับไตรภาคในโรงภาพยนตร์ ทางบ.บันไดจึงได้ต่อยอดความสำเร็จของสินค้าไลน์กันพลาออกมาอย่างต่อเนื่อง

 

gunpla_history (4)

ในปี 1983 ที่ไม่มีทั้งภาพยนตร์และการ์ตูนเกี่ยวกับกันดั้มออกมา และความคิดที่ว่า “กันดั้มไม่จำเป็นต้องมาจากอนิเมชั่นหรือการ์ตูนเสมอไป”  จึงทำการออก MSV หรือ Mobile Suit Variation ซึ่งเป็นการเอาดีไซน์ของกันดั้ม และโมบิลสูทต่างๆโดยฝีมือของ อ.โอคาวาระ คุนิโอะ ที่ไม่ได้ใช้ในเรื่องมาทำสินค้า และใส่เนื้อเรื่อง หรือแต่งเสริมเรื่องราวที่ขาดหายไป

 

gunpla_history (5)

ซึ่งหนึ่งในไฮไลท์เด็ดของ MSV ก็คือ PF-78-1 Perfect Gundam ที่เป็นการนำเสนอเทคนิคการฉีด พลาสติกในระบบอินเจคชั่น (ฉีดพลาสติกแบ่งสีตามชิ้นส่วน) ทำให้กันพลาตัวดังกล่าวทำสีไม่เยอะเท่ากันพลาที่ออกมาในช่วงเวลานั้น

 

gunpla_history (6)

ในเดือนเมษายน ปี 1985 เป็นช่วงเวลาที่ “โมบิลสูท เซต้า กันดั้ม” ออกฉาย และก็เริ่มเดินสายการผลิตกันพลาซีรี่ส์ใหม่จากอนิเมภาคดังกล่าว   และเริ่มมีการใช้ชิ้นส่วนแผง PC หรือPolycaps (โพลีแคป) ที่ทำมาจากพลาสติกผสมที่เรียกว่า Polyethylene (โพลีเอธีลีน) โดยชิ้นส่วนนี้จะเป็นชิ้นส่วนในการทำข้อต่อ จุดขยับต่างๆ เพราะคุณสมบัติที่เหนียว และยืดหยุ่น ลดแรงเสียดสีของชิ้นงาน แต่ทว่า แผง PC ในยุคแรกๆมีปัญหาเรื่องการเก็บรักษา มันมักจะละลายเหนียวติดเบ้าอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขในเวลาต่อมา…

 

gunpla_history (7)

ในปี 1987 คาโตกิ ฮาจิเมะ มีผลงานออกมาในซีรี่ส์ “Gundam Sentinel” ที่เขียนเรื่องเป็นนิยายโดย มาซายะ ทาคาฮาชิ ลงนิตยสาร Model Graphix รายเดือน ทำให้กันพลาแบบแปลกๆ มีเนื้อหาเฉพาะทางที่ส่งเสริมการขายได้มากขึ้น แต่ก็แลกกับความซับซ้อนในการออกแบบ เพราะคาโตกิ แกจัดเต็มตั้งแต่เริ่มเดบิวผลงานกันเลย ทั้ง 1/144 S-Gundam หรือแม้แต่ 1/144 Full Armour ZZ Gundam (ไม่มีในอนิเม)ก็ขายดีเป้นเททิ้ง สวนทางกับความกริบของอนิเม ZZ Gundam ในขณะนั้น

 

gunpla_history (8)

ซึ่งในช่วงเดียวกันนี้ ทางบ.บันไดยังได้เตรียมออกสินค้าไลน์ใหม่ที่เรียกว่า Super Deformation Gundam หรือ SD Gundam ซึ่งที่มาของสินค้าไลน์นี้ ก็มาจากการที่ในตอนนั้น บ. Takara ได้ทำสินค้าที่มาจากอนิเมเรื่อง  “Taiyo no Kiba Dagram” และออกสินค้าย่อส่วนที่ใช้ชื่อไลน์ว่า “โชโร่คิว ดาแกรม” ทำให้ทางบันไดคิดจะเอากันดั้มมาย่อส่วนให้น่ารัก และพวกเขาก็ได้ออกสินค้า “กาชาปอง SD Gundam World” ออกมา

 

และกว่าจะเป็น กันพลา หรือ  BB Senshi” ก็ปาเข้าไป 1988 โดยการออก สินค้า “SD มุฉะ กันดั้ม” หุ่นตัวเอกของพลาโมเคียวชิโร่ (คำว่า BB มาจากกระสุนปืนอัดลมเม็ดเล็กๆ เพราะลูกเล่น SD สมัยนั้น ยิงลูกกระสุน BBได้นั่นเอง ปัจจุบันทำไม่ได้แล้ว)

 

 

gunpla_history (9)

ในปี 1988 มิติใหม่ของการประกอบกันพลาก็มาถึง เมื่อมีการฉายอนิเมภาคปิดศักราช UC อย่าง “โมบิลสูทกันดั้ม – การโต้กลับของชาร์” (Mobile Suit Gundam: Char’s Counterattack) ทำให้การผลิตกันพลาก้าวเข้าสู่ยุคของการใช้การประกอบแบบ “สแนป ฟิต” หรือ “เดือยประกบ” ไม่จำเป็นต้องใช้กาวในการประกอบกันพลาอีกต่อไป ซึ่งเป็นอะไรที่แหวก และเจ๋งมากๆในยุคนั้น แต่ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มภาระให้กับทีมออกแบบของเล่นพอสมควร

 

gunpla_history (10)

ในปี 1990 เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปี การวางจำหน่ายของกันพลา บ.บันไดได้เปิดไลน์ใหม่ในสายการผลิตกันพลา ที่เราๆท่านๆรู้จักกันในนาม “ไฮเกรด” (High Grade) ซึ่งเป็นนำเอากันพลาในสเกล 1/144 มาออกแบบให้สวยงาม สมส่วน และใช้ทุกเทคโนโลยีที่เคยลองผิดลองถูกมาใส่ ทั้งการประกอบแบบสแนปฟิต เทคโนโลยีอินเจคชั่น รวมไปถึงข้อต่อโพลีแคปแบบใหม่ ยัดลงไปในกันพลาไลน์นี้ โดย  RX-78-2 Gundam,  RX-178 Gundam Mk. II,  MSZ-006 Zeta Gundam และ MSZ-010 ZZ Gundam เป็นเซตแรกของสายการผลิต HG นั่นเอง หลังจากนั้นก้มีการออก HG ตัวใหม่ๆ ทั้งสเกล 1/100 หรือ 1/144 ก็ตามมามากมาย

 

และไลน์ HG คือไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และเข้าถึงคนได้ง่ายที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยราคา และความสวยงาม สอดคล้องกับตัวอนิเมที่กำลังฉายในขณะนั้น

 

gunpla_history (11)

ในปี 1993  บันไดก็ได้ทำการทดลองอะไรใหม่ๆกับผลิตภัณฑ์ตัวเองอีกครั้ง กับการผลิต 1/100 Victory Gundam ที่ได้มีการฉีดสีมาในแผง 2 -3 สีใน 1 ชิ้นงาน มาแบบไม่ต้องทำสีกันเลย แถมยังมีระบบ V-Frame โครงในที่ประกอบสำเร็จ เพียงแค่ตักเกราะออกจากแผงก็ใส่เป็นตัวได้เลย แต่ด้วยต้นทุนที่สูงมาก จึงทำให้ไลน์ V-Frame นี้ปิดตัวลงอย่างรวดเร็ว แต่ถึงอย่างนั้น V-Frame คือบรรพบุรุษของการสร้างMG และRGในเวลาต่อมา…

 

 gunpla_history (12)

ในปี 1995 หนึ่งในไลน์ที่สร้างความฮือฮา สวยงามและสมจริงก็ได้ถือกำเนิดขึ้น กับ “มาสเตอร์ เกรด” หรือ MG (Master Grade) ที่เป็นสินค้าในสเกล 1/100 ที่เน้นลูกเล่นโครงด้านใน การประกอบที่ซับซ้อน ซึ่งข้อดีของความซับซ้อนในการต่อก็คือ สามารถแยกชิ้นทำสีได้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ต้องมากั้นเทปพ่นเหมือนโมเดลก่อนหน้านี้

 

gunpla_history (13)

ในปี 1998 สุดยอดกันพลาที่คู่ควรกับคำว่า “สมบูรณ์แบบ” ได้ถือกำเนิดขึ้น กับ “เพอร์เฟคท์เกรด” (Perfect Grade) RX-78 Gundam ซึ่งเป็นสินค้าที่ทำขึ้นหลังจากการวางจำหน่าย PG- Evangelion จึงได้นำเอาแนวคิดมาต่อยอด และสร้างสุดยอดกันพลาตัวดังกล่าว แน่นอนว่า แฟนๆกันดั้มพอใจอย่างมาก มากพอๆกับราคาที่สูงถึงหลักหมื่นเยนในขณะนั้น และในปีเดียวกันนี้ ยังมีเหล่า SD กันดั้มที่ทำมาโดยอ้างอิงจากซีรี่ส์เกมวางแผนอย่าง SD GUNDAM G Generation ในระบบ PS1 อีกด้วย

 

gunpla_history (14)

ในปี 1999 บันไดได้ทำสินค้าชุด 1/144  “เฟิร์สเกรด”  หรือ FG (First Grade) โดยเน้นให้เป็นสินค้าราคาประหยัด ไม่มีการฉีดสีพลาสติกเพิ่ม แต่มีระบบสแนปฟิตเข้ามา และใช้ดีไซน์ของ Perfect Grade เข้าไปแทน

 

gunpla_history (15)

ปี 2000 เป็นปีที่มีการฉาย Mobile Suit Gundam SEED มีกันพลาไลน์ใหม่ออกมา ทั้ง “1/144 นอนเกรด” (Non Grade) / “1/100 นอนเกรด” (1/100 Non Grade) ที่มีคุณภาพระดับ HG ขยายส่วน แต่มีราคาถูกกว่า MG พอสมควร ทำให้ฐานแฟนๆกันดั้มที่เพิ่มขึ้นจากการรับชมอนิเม ทั้งเด็กเล็ก วัยรุ่น วัยทำงาน สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย  และไลน์ 1/100 นอนเกรด ก็ผลิตลากยาวไปจนถึงซีรี่ส์ Gundam OO กันเลย

 

gunpla_history (16)

และในปีดังกล่าว ก็มีกันพลา MG ระดับไฮไลท์ นั่นก็คือ MG 1/100 Rx78-2 Gundam Ver.2.0 ที่ถอดแบบมาจากอนิเมชั่นอีกด้วย

 

gunpla_history (17)

ในช่วงปี 2010  บันไดได้ก้าวข้ามเรื่องไซส์ของกันพลา ด้วยการออกสินค้าเกรดใหม่ “1/48 เมก้าไซส์” (1/48 Mega Size) เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 30 ปีกันดั้ม โดยตัวแรกของไลน์ก็คือ 1/48 Rx 78-2 Gundam ซึ่งตัวกันพลาพกพา “นวัตกรรมการประกอบที่เหนือชั้นกว่า HG” ทั้งการแยกสี ดีเทล การประกอบที่ทำได้ง่าย แม้แต่มือใหม่ก็สามารถประกอบได้ หรือต่อให้ประกอบผิด ก็สามารถรื้อออกมาประกอบใหม่ด้วยไอเทมที่มีมาในกล่องอย่าง Seperater” หรือ ตัวง้างชิ้นส่วน รวมไปถึงเกตที่บางมากจนสามารถหักได้โดยไม่ต้องใช้คีมตัดอีกด้วย

 

Top 10 RG 9.2016 (8)

 

อีกตัวที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นก็คือ 1/144 เรียล เกรด” (RG – Real Grade) ที่เอาเทคโนโลยี V-Frame มาต่อยอด และใส่รายละเอียดในระดับ MG ลงไปในขนาด 1/144 ที่เล็กมากๆ

 

1100-MG-Gundam-RX-78-2-Ver.-3-(50)

ในปี 2014  เป็นปีที่ฉลองครบรอบ 35 ปี (ฉลองอะไรกันบ่อยจริงๆ) กับการปล่อย MG 1/100 RX-78-2 Gundam ver. 3.0 เป็นตัวที่เอาข้อดีของ MG และ RG มาใส่รวมกัน ทั้งข้อต่อแบบใหม่ ดีเทลรายละเอียก สติ๊กเกอร์แบบ “เตตรอนซีล” (สติ๊กเกอร์พลาสติกผิวด้าน) ถูกนำมาใช้

 

1144-HGUC-Revive-RX-78-2-Gundam-(1)

 โดยในปีเดียวกันนี้ ยังมีสินค้าชุด “1/144 HG Revive” ที่เป็นการออกแบบ HG ในส่วนของรูปทรง และจุดขยับใหม่อีกด้วย

 

RE100 MS-08TX [EXAM] Efreet Kai (24)

ในปี 2015 มีการเปิดไลน์ 1/100 ขึ้นมาเพิ่มเติม กับ RE/100 หรือ “รีบอร์น วันฮันเดรด” ที่จะเป็นการเอาโมบิลสูทที่มีอยู่ในไซด์สตอรี่ ตัวร้าย หรืออยู่ใน MSV มาทำในสเกล 1/100 แต่ดีเทลจะไม่เท่ากับ MG แต่จะออกมาในแนวทางของ HG รายละเอียดสูงมากกว่า (คล้ายๆพวกนอนเกรดกันดั้มซี้ดนั่นแหละ)

 

 Hi-Res Model 1100 Barbatos Gundam (96)

ในปี 2016 เป็นปีที่เปิดตัวกันพลาไลน์ใหม่ ที่เป็นลูกผสมของสินค้าสำเร็จรูป และกันพลาคุณภาพสูงราคาแพงระยับ กับไลน์ 1/100 ไฮ-เรสโมเดล (High Resolution Model – HRM) ที่ออกตัวแรกสุดของสายก็คือ Barbatos Gundam จากซีรี่ส์ Gundam Iron Blood Orphan ที่หลายๆคนยังก้ำกึ่งว่าจะซื้อไม่ซื้อดี เพราะราคาที่แพงใกล้เคียงกับ PG แต่ดีเทลก็สวยล้ำไปหลายขุม อีกนิดก็จะเป็น Metal Build แล้ว ยังคงเป้นที่ถกเถียงในหมู่คนรักกันพลานันเอง…

 

 

 

เกรดต่างๆของกันพลา

**ในแหล่งข้อมูลระบุว่า ของเล่นกันดั้มที่สามารถระบุสเกลได้ “ถือเป็นกันพลา”(Gundam Plastic Model) แต่เพื่อกันความสับสน จะทำการระบุว่าตัวไหนเป็นสินค้าสำเร็จรูปนะครับ**

 

 

SD Gundam EX Standard  RX-78-2 Gundam (1)

SD / Super Deformed

จัดเป็นกันพลาแบบ “นอนสเกล” (Non Scale) โดยจะเป็นกันพลาที่มีลักษณะหัวโตตัวเล็ก ประกอบง่าย ราคาถูก มีการผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องแทบจะทุกปี

 

สินค้าในไลน์

-SD BB Senshi

-SD G Generation

-SD BB Senshi Sangokuden

-SD BB Senshi Sengoku

- SD Build Fighters (SDBF) 

- SD Gundam EX-Standard (SDEX)

 

 HG 1144 Full Armor Gundam [Gundam Thunderbolt Anime Ver.] Cover

1/144  

สินค้าในสเกล 1/144 ที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของของเล่นสายกันพลา มีมาอย่างยาวนาน และมีการพัฒนาแยกย่อยออกไปอีกหลายไลน์ย่อย จุดเด่นคือ มีความสวยงาม ราคาประหยัด ประกอบไม่ยาก และเก็บเข้าตู้สะดวก แต่ด้วยจำนวนที่มีมหาศาลของสินค้าไลน์นี้ คงต้องเลือกเก็บกันหน่อย เพราะถ้าไล่ครบทุกตัว ก็คงจะไม่ไหว

 

สินค้าในไลน์

 

-Non Grade (NG)

-First Grade (FG)

-High Grade (HG)

-High Grade Universal Century (HGUC)

-High Grade After Colony (HGAC)

-High Grade After War (HGAW)

-High Grade Future Century (HGFC)

-High Grade Correct Century (HGCC)

-High Grade Cosmic Era (HGCE)

-High Grade Gundam SEED (HG Gundam SEED)

-High Grade Gundam 00 (HG Gundam 00)

-High Grade Gundam AGE (HG Gundam AGE)

-High Grade Reconguista in G (HG Reconguista in G)

-High Grade The Origin (HG The Origin)

-High Grade Build Fighters (HGBF) 

-High Grade Build Custom (HGBC)

-High GradeIron Blood Orphan (HGIBO)

-Real Grade (RG)

-Entry Grade (EG) 

-Robot Tamashii Side MS (สินค้าสำเร็จรูป)

 

 

1100 MG Hi-Nu Gundam (1)

1/100

สินค้าที่มีสเกลใหญ่ขึ้นมาอีกนิด กับ 1/100 มีแนวทางการผลิตอยู่สามแนวทาง ได้แก่

1.พวกอัพสเกลจาก 1/144 มาเป็นตัวใหญ่ขึ้น ไม่เน้นรายละเอียด (HG / Non Grade /RE 1/100)

2.ใส่รายละเอียดใหม่ลงไป ทั้งโครงด้านใน และเกราะนอก (MG)

3.พวกที่อัพเกรดรายละเอียดใหม่จนเกือบจะกลายเป็นตัวใหม่ หรือแก้ไขอิมเมจจนผิดเพี้ยนไป โดยคำนึงถึงความสวยงามเป็นหลักมากกว่าความเหมือนในอนิเม (MetalBuild / Hi-Res / Ka Signature)

 

สินค้าในไลน์

-HG

-Non Grade

-RE 1/100

-MG

-Hi-Res

-G.F.F. (Gundam FIX Figuration) (สินค้าสำเร็จรูป)

-G.F.F. Ka Signature (สินค้าสำเร็จรูป)

-G.F.F. Metal Composite (สินค้าสำเร็จรูป)

-Zeonography (สินค้าสำเร็จรูป)

-Cosmic Region (สินค้าสำเร็จรูป)

-00 (Double O) Region (สินค้าสำเร็จรูป)

-G.F.F.N (สินค้าสำเร็จรูป)  

-MetalBuild (สินค้าสำเร็จรูป)

 

gunpla_history (18)

1/60

อย่าเพิ่งคิดว่า 1/60 มีแต่งาน Perfect Grade เพราะถ้าว่ากันตามจริง สเกลนี้มีมาก่อนตัว PG จะออกมาก่อนด้วยซ้ำ แต่ด้วยเทคโนโลยีในยุค 80 จึงทำออกมาในลักษณะของเล่นมากกว่างานประกอบแบบในปัจจุบัน แถมสเกลเพียนด้วย

 

สินค้าในไลน์

-Non Grade 1/60 

-PG 1/60

 

 

 Megasize Unicorn (3)

1/48 Mega Size

จัดเป็นสินค้าที่มีขนาดใหญ่ และมีความง่ายในการประกอบ สินค้าพอจะมีรายละเอียดอยู่บ้าง ถึงจะไม่เท่ากับ PG แต่ด้วยขนาดใหญ่โต น่าเกรงขาม และราคาไม่แพงมาก จึงเป้นที่ต้องการของนักสะสมพอสมควร ปัจจุบันออกมาไม่กี่แบบ และหวังว่าในอนาคตจะมีแบบให้เลือกมากกว่านี้…

 

และทั้งหมดนี้คือเรื่องราว ประวัติความเป็นมาของกันพลา และจุดเด่น จุดสำคัญในแต่ละปีของการวางจำหน่ายกันพลาที่น่ารู้ของสาวกกันพลา ทั้งมือใหม่ และมือเก๋าครับ หากตกหล่นตรงไหน ขออภัยล่วงหน้าเลยนะครับ

 

 

แอดมิน Ak47

 

“กว่าจะมาเป็นกันพลา 1 กล่อง ต้องเจอกับอะไรบ้าง!?”

 

 

 

+

+

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

 

Bandai Hobby Site

Bandai Action Kits Universal Cup (BAKUC) Online Competition (English)

Tamashii Web

HobbyLink Japan – 1/48 Mega Size Model RX-78-2 Gundam

“Mobile Suit Gundam Age Advanced Grade Lineup”. Bandai. Retrieved 2013-12-11.

Ngee Khiong – Real Grade Zaku II

Dengeki Hobby 2005, the 10th anniversary of MG

“Shizuoka Hobby Show 2010 at Ngee Khiong”. 

gigazine.net

Source in various Dengeki Hobby magazine in 2010

“Day in pictures”. BBC News. June 9, 2009.