กันพลา หรือ Gundam Plastic Model ถือเป็นของเล่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างหนึ่ง ที่นอกจากผู้ต่อหุ่นจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับกลไกของตัวหุ่นที่ซับซ้อนแล้ว ยังสามารถพัฒนาเป็นงานศิลปะชั้นสูง ที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย จะเห็นได้จากการจัดการจัดงานประกวดผลงานการต่อหุ่นประเภทนี้ ที่ผลงานแต่ละชิ้นมีความสวยงามเกินกว่าจะเป็นของเล่นพลาสติกธรรมดา
และในบทความนี้ทีมงานเมทัลบริดจะมาแนะนำเทคนิคเบื้องต้นที่จะทำให้หุ่นพลาสติกกันดั้ม ดูสวยงามสมจริงมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับมือใหม่ที่พึ่งเริ่มต่อกันดั้ม ผมขอแนะนำว่าให้ฝึกจากเทคนิคพื้นฐานก่อนครับ
Gunpla Tips#1 เทคนิคการต่อหุ่นกันดั้มเบื้องต้น Click
Gunpla Tips#2 เพิ่มความสมจริงด้วยการแกะลาย, ปิดรอยประกบ, สีพู่กัน, สีปากกา Click
Gunpla Tips#3 เสริมพาร์ทด้วย Epoxy Putty , Plaplate
Gunpla Tips#4 แอร์บรัช, ไล่เฉดสี , ติดไฟ LED
Gunpla Tips#5 การยืดสัดส่วน เพิ่มความสูงของกันพลา
Gunpla Tips#6 weathering /เทคนิคทำสีเสมือนจริง / สนิม
ในบทความนี้จะเป็นการทำให้หุ่นที่ต่อเสร็จแล้วดูสมจริง เหมือกับหุ่นที่กำลังรบอยู่ในสงครามจริงๆ โดยการใช้เทคนิคแต้มสีด้วยพู่กัน สร้างร่องรอยเลอะจากการใช้งาน คราบสนิม รวมไปถึงการทำแผลจากการสู้รบในสงครามเช่น รอยการะสุน รอยฟัน รอยระเบิด
*** เทคนิคอาจจะดูยาก แต่ถ้ามีความกล้าก็ลงมือทำได้เลย
เริ่มต้นที่หุ่นที่จะนำมาให้ทำในครั้งนี้คือ 1/100 Gundam Barbatos ดูสภาพเดิมๆได้ตรงนี้ Click และสีที่ใช้จะเป็นสีอะคริลิค สูตรน้ำ ที่มึข้อดีคือ ไม่มีกลิ่น ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำธรรมดาได้ ซึ่งการทำเทคนิค Drybrush สามารถใช้สีสูตรทินเนอร์หรือ สูตรน้ำก็ได้เช่นกัน
Drybrush
คือการใช้พู่กันแตะสี แล้วป้ายสีทิ้งบนการดาษจนสีออกไปเกือบหมด แล้วค่อยนำพู่กันมาปัดตามมุมขอบนูนของชิ้นงาน สุดท้ายสีที่เหลือติดพู่กันอยู่น้อยนิดนั้นจะช่วยให้รายละเอียดของชิ้นงานดูเด่นชัดขึ้น ซึ่งการปัดสีต้องดูทิศทางการปัดให้ดี แนะนำว่าควรปัดไปทางเดียวกัน ซึ่งเบอร์สีที่เลือกก็แล้วแต่รายละเอียดงานที่เราต้องการเช่น
รอยถลอกบนเหล็กสีเข้มเกราะสีเข้ม – สีเงิน
รอยถลอกบนเกราะสีอ่อน – สีเงิน/ สีเทา
รอยสนิม – สีน้ำตาลโทนส้ม
รอยดาเมจลึกจากอาวุธเหล็กบนตัวหุน – สีเงิน
รอยดาเมจลึกจากบีมบนตัวหุน – สีดำตามด้วยสีเงิน / เทา
เริ่มต้นแตะสีไปที่ปลายพู่กันนิดหน่อยก็พอ
ป้ายสีลงบนกระดาษ จนเห็นว่าสีอ่อนลงก็เหมาะจะเอาไปลงสี Drybrush แล้ว
ปัดๆ ปลายพู่กันไปไปตรงขอบมุม สีจะติดไปบนขอบพอดี ไล่ปัดไปเรื่อยๆจุนสุดขอบ บนพื้นผิวที่มีรายละเอียดร่องลึก เมื่อปัดด้วย Drybrush ก็จะขับให้ลวดลายที่สวยงามเด่นชัดขึ้นด้วย
ตัวอย่างการปัดชิ้นงานที่อยากให้เป็นเหล็กสีเข้ม
การปัดขอบสามารถทำได้ทั้งปัดเข้าและปัดออก ซึ่งจะให้คราบเลอะมากน้อยต่างกัน
ตรงขอบต่างระดับเล็กๆ ก็สามารถใช้สีแต้มด้วยปลายพู่กันแบบแบนหัวตัด จิ้มไปทีละจุดตลอดแนว
ร่องลึกเล็กๆก็ใช้พู่กันหัวเล็กแตะสี ทาเซาะร่องเข้าไป แล้วค่อยใช้ ไม้จิ้มฟันขูดสีที่ล้นเกินออกไป
รอยปัดของพู่กันหัวแบน สามารถสร้างรอยถลอกแบบนี้ได้ ทำให้ดูเหมือขับหุ่นไปเฉียวชนกับอะไรมา
ถ้าสีที่แต้มเลอะมากไปก็ใช้ สำลีก้าน (Cotton Bud) ค่อยๆเช็ด แต่งสีออกได้ตามต้องการ
เติมคราบเลอะอีกแบบ แตะสีที่ปลายพู่กัน แล้วจิ้มลงไปบนกระดาษให้สีอ่อนลง แล้วเอามาจิ้มเพิ่มรอยเลอะได้
คราบสนิม คราบดิน
ทาสีน้ำตาลโทนส้ม ลงไปที่จุดที่น่าจะเกิดสนิมได้ เช่นรองลึก ขอบลึก ขอบมุมต่างๆ และก่อนจะลงสีให้ผสมตัวทำละลายตามสูตรของสีนั้น (น้ำ/ทินเนอร์) เพื่อให้สีจางลงนิดหน่อย แล้วค่อยค่อยทาลงไปบนชิ้นงาน รอแห้งแล้วใช้ สำลีก้าน (Cotton Bud) ค่อยๆเช็ด แต่งสีสนิมออกตามต้องการ
สีขัด Mr.Hobby : Mr.Metal Color
อีกเทคนิคที่ช่วยทำให้พลาสติกมีสีเงางามเหมือนเหล็กจริง คือการใช้สีขัด ใช้พู่กันทาไปก่อน 1 รอบ รอจนสีแห่ง ใช้กระดาษทิชชู หรือสำลีเช็ดสีออก ก็จะได้ความเงางามดูเหมือนเหล็กจริงๆ และถ้าต้องการใช้เงากว่าเดิมก็ทำซ้ำอีกรอบได้เช่นกัน
เบื้องต้นเสร็จแล้ว
ปัดสี Drybrush ทั่วตัวเพิ่มความสมจริงให้กับหุ่น ถ้าชอบแล้วก็ให้หยุดไว้เท่านี้พอ แต่ถ้ามันยังไม่โหดสมกับเป็นหุ่นรบในสงคราม ก็เตรียมใจ แล้วไปลุยต่อกันตอ่ได้เลย
รอยแผลจากสงคราม
รอยโดนกระสุนยิง
เริ่มต้นต้องทำการเจาะชิ้นงานเพื่อทำรอยโดนยิง ด้วยการใช้สว่านมือ ถ้าไม่อยากซื้อชุดสว่านราคาประมาณพันกว่าบาท ก็ไปซื้อดอกสว่านจิ๋วตามร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง 10บาท เอามาใส่กับหัวปากกาอาร์ตไนท์ใช้ได้เหมือนกัน เมื่อเจาะรูแล้ว ใช้มีดอาร์ตไนท์สับบากรอบขอบรูที่เจาะไว้ แนะนำว่าสับลงไปเฉียงๆจะได้แผลตามรูป แล้วค่อยทาด้วยสีดำก่อน แล้วปิดด้วยการทาสี Drybrush สีเงิน ก็จะได้รอยโดนกระสุนยิงแล้ว
รอยดาเมจหนักทำให้เกราะแตก
หุ่นกันพลาหลายตัวที่ทำมาแบบมีโครงใน ทำรายละเอียดมาสวยมาก แต่กลับโดนเกราะด้านนอกบดบัง ถ้าใจกล้าๆหน่อยก็มาระเบิดเกราะออกไปให้เห็นโครงสร้างหุ่นข้างในกันเลย แต่ก่อนจะทำควรวางแผนดีๆ วาดรอยที่จะตัดลงไปบนชิ้นงานก่อนทำการผ่าตัด แล้วใช้คีมหรือมีดตัดแต่งตามสะดวก ตรงขอบจุดที่เกราะแตกก็ลงสี Drybrush รอยแผลถลอกด้วยสีเงิน หรือสีดำถ้าต้องการให้เป็นรอยใหม้
รอยแผลโดนฟัน
รอยแผลฟันมีหลายแบบเช่น โดนบีมเซเบอร์ โดนขวานเหล็ก ซึ่งธรรมชาติของเหล็กเมื่อโดนตีจะไม่แตกออกเป็นเศษเหมือนแก้ว แต่จะบิดเบียวผิดรูปร่างไป จริงๆแล้วสามารถใช้ ปากกาหัวแร้งที่เอาไว้ใช้เชื่อมสายไฟมาจี้ด้วยความร้อน ทำแผลบนตัวหุ่นได้ แต่ถ้าไม่ระวังชิ้นงานอาจละลายพังหมดได้ อีกวิธีที่แนะนำคือใช้ใบเลือย ค่อยๆหันเซาะเป็นร่องลึกลงไปก่อน ซึ่งควรให้ได้ความหนาพอสมควร แต่ไม่ต้องลึกมากจนทะลุชิ้นงาน แล้วใช้กาว AB Epoxy อุดรอยแผลนั้น แล้วใช้ใบเลื่อยอีกด้านมากดร่องแผลให้กาวทะลักออกมาแล้วปั้นแต่งอีกนิดหน่อย ก็จะได้แผลเกราะเหล็กโดนพันเสร็จแล้ว ลงสีด้วยสีดำแล้ว Drybrush สีเงินนิดหน่อยให้เป็นรอยแผลจากบีมเซเบอร์ที่มีความร้อนเผาไหม้แผล หรือลงสีแผลด้วยสีเงินเหมือนแผลจากอาวุธเหล็กก็ได้
โดนยิง เขาหัก โดนฟัน เกราะแตก
จากที่กล่าวไปตอนต้นว่า การต่อกันดัมนั้นคืองานศิลปะ จึงมีเทคนิคการสร้างผลงานอีกมากมายที่อาจจะได้กล่าวในตอนต่อไป ใครสนใจจะอ่านต่อ ช่วยแสดงตัวที่ด้านล่างด้วยนะครับ
By Webmaster
บทความ Gunpla Tips ทั้งหมด
Gunpla Tips#1 เทคนิคการต่อหุ่นกันดั้มเบื้องต้น Click
Gunpla Tips#2 เพิ่มความสมจริงด้วยการแกะลาย, ปิดรอยประกบ, สีพู่กัน, สีปากกา Click
Gunpla Tips#3 เสริมพาร์ทด้วย Epoxy Putty , Plaplate
Gunpla Tips#4 แอร์บรัช, ไล่เฉดสี , ติดไฟ LED
Gunpla Tips#5 การยืดสัดส่วน เพิ่มความสูงของกันพลา
Gunpla Tips#6 weathering /เทคนิคทำสีเสมือนจริง / สนิม
Gunpla Tips#7 Diorama /เทคนิคทำฉาก / แขวนหุ่นลอยได้
Gunpla Tips#8 โมดิฟาย MS Girls ด้วย Frame Arms Girls