บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับกันดั้มจากยุคUC. ที่มีรหัสเครื่อง RX-78 กันว่าตามท้องเรื่องจากทั้งในอนิเม, หนังสือการ์ตูนและเกมทั้ง 31 ตัว ส่วนจะมีตัวไหนนั้น ลองมาดูกันได้เลย!!
เล่าประวัติเล็กน้อย
GUNDAM เกิดขึ้นมาครั้งแรกจากผลงานวนิยายการประพันธ์ของคุณ Yoshiyuki Tominoในเรื่อง MOBILE SUIT GUNDAM โดยชื่อดั้งเดิมนั้นมาจาก “Freedom Fighter Gunboy” หรือ “Gunboy” และได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “Gundom”ใช้คำว่า Gunboy บวกกับคำว่าFreedom จนสุดท้ายต้องปรับเปลี่ยนอีกครั้งมาเป็นชื่อ “Gundam” (ガンダム) แล้วใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
(ในความหมายหนึ่งนั้นคำว่า “Gundam” นั้นแปลตามตัวจะหมายถึง “ปืนบนเขื่อน” เพราะคำว่า “Dam” แปลว่า “เขื่อน” )
ผู้ที่รับหน้าที่การออกแบบในช่วงแรกเริ่มก็คือคุณ Kunio Okawara โดยได้ออกแบบและดีไซน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งต่อมาก็ได้นำแนวคิดการออกแบบตัวหุ่นมาจาก “สรีระของผู้หญิง” และชุดซามุไร ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนดีไซน์เรื่อยมาจนออกมาเป็นกันดั้มแบบที่เห็น ในหลายๆ รูปทรง
งานออกแบบดั้งเดิมของคุณ Kunio Okawara”Gumdam” (ซ้าย) “Guncannon” (กลาง) และ “Guntank” (ขวา)
แนวคิดและการงานออกแบบกันดั้ม คือเรียลโรบ๊อต (Real Robot) หุ่นยนต์รบขนาดใหญ่ที่เคลื่อนไหวคล้ายคลึงกับมนุษย์ ตรีมเรื่องเป็นสงครามอวกาศที่ค่อนข้างสมจริงโดยใช้ตรีมเรื่องและแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) สวนทางกับอนิเมชั่นแนวซูเปอร์โรบ๊อต (Super Robot) ที่บูมมากในยุคนั้น (ปี 1978)
สำหรับ GUNDAM ในภาค UC นั้นเริ่มขึ้นในแผนยุทธการ Project V ที่เป็นแผนพัฒนาโมบิลสูทของทางฝ่ายสหพันธ์โลกเพื่อตอบโต้ฝ่ายจักรวรรดิซีออน ซึ่งได้เริ่ม “โปรเจ็คท์ V” ขึ้น โดยคำว่า V นั้นย่อมาจาก “Victory” โดยในโปรเจ็คท์ V ได้ดำเนินการในทางลับสุดยอด ผู้ริเริ่มโครงการคือ จอมพลเรวิล และภายใต้การคุมงานและดูแลโดย “ทิม เรย์” (Tim Ray)
RX-78-1 Prototype Gundam
เป็นกันดั้มตัวแรกตามท้องเรื่อง ในแผนการ Project V ของฝ่ายสหพันธ์โลกที่เริ่มพัฒนาโมบิลสูทในการสู้รบเป็นครั้งแรกในสงครามหนึ่งปี เครื่องหมายเลขหนึ่งถูกผลิตขึ้นที่ฐานจาโบร ตัวเครื่องใช้สีดำ-เงินเป็นหลัก ตัวเกราะชั้นนอกประกอบขึ้นจากแร่โลหะผสม “ลูน่า ไททาเนียม” (Luna Titanium) ที่มีความแข็งและทนทานกว่าโลหะที่ผลิตขึ้นบนโลก
สเปคของโมบิลสูทเครื่องแรกนั้น ส่วนหัวใช้กล้องจับภาพแบบทวินอาย (Twin Eye) มีเซ็นเซอร์การมองเห็นไกลสุดอยู่ที่ 5700 เมตร รวมถึงยังติดตั้งปืนกลขนาดลำกล้อง 60 ม.ม. (60mm Vulcan Gun) เอาไว้ด้วย ตัวเครื่องติดตั้งระบบกำเนิดพลังงานแบบเตาปฏิกรณ์ไมนอสกี้ (Minovsky Ultracompact Fusion Reactor) ที่ให้กำลังไฟถึง1,380 กิโลวัตต์ ตัวบอดี้สามารถแยกออกเป็นส่วนๆ เพื่อติดตั้งระบบดีดตัวฉุกเฉิน Core Block System มีอุปกรณ์สำหรับการต่อสู้แบบมาตรฐานไม่ว่าจะเป็น บีมไรเฟิล, บีมเซเบอร์, ไฮเปอร์บาซูก้าขนาด 380 ม.ม., โล่, บีมจาเวลินสองข้าง
กันดั้มเครื่องนี้ปรากฏในภาค MSV-R และในเกม Mobile Suit Gundam: Spirits of Zeon – Dual Stars of Carnage บนตู้อาเขตเกมมีนักบินประจำเครื่องคือ “ฟาร์เรล อิฮา” (Farrell Iha)
RX-78-2 Gundam
เป็นกันดั้มตัวที่สองที่แฟนๆ ต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะกันดั้มเครื่องนี้มีบทบาทอย่างมากในช่วงสงครามหนึ่งปี ในแผนการ Project V ของฝ่ายสหพันธ์โลกที่เริ่มพัฒนาโมบิลสูทในการสู้รบเป็นครั้งแรก เป็นโมบิลสูทเครื่องแรกที่ควบคุมโดยสุดยอดนักบินฝ่ายสหพันธ์โลกอย่าง “อามุโร่ เรย์” ใช้จบสงครามได้สำเร็จ เครื่องหมายเลขสองถูกสร้างขึ้นที่โคโลนี่ ไซด์ 7 ซึ่งในระหว่างกำลังทดสอบนั้นได้ถูกฝ่ายจักรวรรดิซีอ้อนบุกเข้ามาโจมตี ในช่วงเปิดเรื่องของตอนแรก
สเปคเครื่องหมายเลขสองนั้นคล้ายกับเครื่องแรก แต่ความพิเศษของเครื่องรุ่นนี้คือมีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมที่สามารถเรียนรู้ได้เอง (Learning Computer) โดยจะบันทึกข้อมูลการบินของนักบินในระหว่างการต่อสู้เอาไว้ ตัวหุ่นยังสามารถถอดสลับปรับเปลี่ยนเป็นยูนิตแบบต่างๆ ได้ เช่น G-Armor, G-Fighter และG-Bull รวมไปถึงยังมีการใช้ระบบมอเตอร์ข้อต่อ (Field Motors) ที่ใช้แรงเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า “Magnetic Coating” เพื่อลดการเสียดทานของชิ้นส่วนที่ต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
RX-78-2 ถือเป็นสัญลักษณ์ที่แฟนๆ กันดั้มจดจำได้ดี ถือเป็น “กันดั้มตัวแรก” ที่มีบทบาทอย่างมากในวงการอนิเมชั่นญี่ปุ่นเลยทีเดียว
RX-78-3 Gundam
เป็นกันดั้มเครื่องที่สามในชื่อ“G-3″ ตัวเครื่องเป็นสีเงินทั้งตัว ซึ่งในแต่เดิมนั้นเครื่องหมายเลขถูกสร้างขึ้นมาโดยนำเอาอะไหล่จากชิ้นส่วนของเครื่องRX-78-2 บางส่วนที่ถูกทำลายไปในช่วงที่ฝ่ายจักรวรรดิซีอ้อนบุกเข้ามาโจมตีในโคโลนี่ ไซด์ 7 ในช่วงเปิดเรื่องของตอนแรก กลับมายังโลกแล้วผลิตขึ้นที่ฐานจาโบร อีกทั้งเครื่องรุ่นนี้ถือเป็นเครื่องนำร่องในการทดลองติดตั้งระบบ Magnetic Coating ซึ่งคุณสมบัติโดยรวมๆ ของเครื่องหมายเลขสามนั้นไม่ต่างจากสองรุ่นแรก
กันดั้มเครื่องนี้ปรากฏในเกม Mobile Suit Gundam: Encounters in Space บนเครื่อง PS2
มีนักบินประจำเครื่องคือ อามุโร่ เรย์ (ในภาคนิยาย Mobile Suit Gundam) และ จิออร์จิโร่ มิเกล (Giorgio Miguel)
RX-78-4 Gundam Unit 4 “G04″
เป็นหนึ่งในสองกันดั้มที่ทางฝ่ายสหพันธ์โลกได้อนุมัติให้สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นกำลังหลักในการบุกตีป้อมปราการอวกาศโซโลม่อนและอาวบาอา คู ในชื่อ “G04” ที่เป็นเครื่องที่ติดตั้งทรัสเตอร์ขับดันสำหรับใช้ในอวกาศ ระบบMagnetic Coatingรวมถึงมีการใช้อาวุธทดสอบอย่างอาวุธปืนใหญ่อนุภาค Mega Beam Launcher ที่มีความรุนแรงเทียบเท่ากับปืนใหญ่ของยานรบประจัญบาน ทำให้ต้องเตาปฏิกรณ์ไมนอสกี้ที่ให้กำลังไฟที่สูงกว่าสามเครื่องรุ่นก่อนๆ ทว่าเครื่องรุ่นนี้กลับระเบิดไปเสียก่อน หลังจากการใช้งานปืนใหญ่อนุภาค Mega Beam Launcher ต่อสู้กับกองยานฝ่ายซีออนจนเตาปฏิกรณ์โอเวอร์ฮีตและระเบิด ในช่วงท้ายของสงครามหนึ่งปี
กันดั้มเครื่องนี้ปรากฏในเกม Mobile Suit Gundam : Encounters in Space บนเครื่อง PS2 และ Mobile Suit Gundam Side Story : Missing Link บนเครื่อง PS3
มีนักบินประจำเครื่องคือ “ลูซ คาสเซล” (Luce Kassel)
RX-78-5 Gundam Unit 5 “G05″
เป็นหนึ่งในสองกันดั้มที่ทางฝ่ายสหพันธ์โลกได้อนุมัติให้สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นกำลังหลักในการบุกตีป้อมปราการอวกาศโซโลม่อนและอาวบาอา คู ในชื่อ “G05”สเปคเครื่องรุ่นนี้จะคล้ายกับรุ่น G04 แต่เปลี่ยนอาวุธใช้งานเป็นปืนกลขนาดใหญ่แกตลิ่ง กัน (Giant Gatling Gun) จึงได้ลดขนาดการให้กำลังไฟฟ้าของเตาปฏิกรณ์ไมนอสกี้ลง
เครื่องรุ่นนี้ตามท้องเรื่องถูกนำมาใช้ในการคุ้มกัน “ดาร์เซีย บาการอฟ” (Darcia Bakarov) นายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งสาธารณรัฐซีออน ภายหลังจากสงครามหนึ่งปีสิ้นสุดลง
กันดั้มเครื่องนี้ปรากฏในเกม Mobile Suit Gundam : Encounters in Space บนเครื่อง PS2 และMobile Suit Gundam Side Story : Missing Linkบนเครื่อง PS3
มีนักบินประจำเครื่องคือ “ฟอร์ด รอมเฟลเลอ” (Ford Romfellow)
RX-78-6 Mudrock Gundam
เป็นกันดั้มที่ใช้งานบนภาคพื้นโลก ที่นำเอาข้อมูลการต่อสู้ของ RX-78-2 และ RX-77-2 Guncannon มาเป็นพื้นฐานในการสร้าง ตัวเครื่องติดตั้งอาวุธอย่างปืนใหญ่ขนาดลำกล้อง 300 ม.ม. สองกระบอก ระบบขับดันทรัสเตอร์ที่ใช้งานบนโลกได้ ทำให้กันดั้มเครื่องนี้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการสู้รบที่สูงกว่าโมบิลสูทที่ใช้งานบนโลกทั่วๆ ไปมาก แต่น่าเสียดายที่ เครื่องรุ่นนี้ถูกนำมาใช้ออกรบในสภาพที่ปรับแต่งยังไม่สมบูรณ์ จนเสียหายจากการถูกเล่นงานจาก “หน่วยรบพิเศษมิดไนท์เฟนริล” (Midnight Fenrir Corp special forces) ที่ฐานจาโบร และแม้จะนำกลับมาซ่อมแซมจนนำมาใช้งานเพื่อออกรบในปฏิบัติการบุกตีฐานแคลิฟอร์เนียจากฝ่ายจักรวรรดิซีออน แต่ท้ายสุดก็ถูกทำลายจากหน่วยรบพิเศษมิดไนท์เฟนริลจนไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป
กันดั้มเครื่องนี้ปรากฏในเกม Mobile Suit Gundam: Zeonic Front บนเครื่อง PS2 และ Mobile Suit Gundam Side Story : Missing Linkบนเครื่อง PS3
มีนักบินประจำเครื่องคือ “เอก้าร์” (Agar)
RX-78-7 7th Gundam
เป็นกันดั้มที่สร้างขึ้นมาที่เน้นการใช้งานบนอวกาศ โดยทางสหพันธ์โลกหมายมั่นว่าจะเป็นอาวุธสงครามที่ทรงประสิทธิภาพเพื่อใช้ยุติสงคราม ตัวเครื่องสามารถติดตั้งเกราะเสริมเพื่อเป็นFA-78-3 Full Armor 7th Gundam เน้นการบุกทะลวงด้วยอาวุธหนัก และHFA-78-3 Heavy Full Armor 7th Gundam ที่ติดตั้งปืนใหญ่อนุภาค Mega Beam Launcher ในการรบ ซึ่งทุกส่วนของ Full Armor จะติดตั้งถังเชื้อเพลิงพลังงานเพื่อลดการใช้งานจากระบบเตาปฏิกรณ์ไมนอสกี้หลักของตัวหุ่น น่าเสียดายที่กันดั้มรุ่นนี้ได้เพียงแค่สร้างตัวหุ่นเท่านั้น เพราะสงครามหนึ่งปีได้ยุติไปเสียก่อน และนอกจากนี้ยังมีกันดั้มอีกหนึ่งรุ่นที่ชื่อ “RX-78-8 8th Gundam” ที่ไม่ได้ปรากฏให้ได้เห็นตามท้องเรื่องอีกด้วย
FA-78-3 Full Armor 7th Gundam
HFA-78-3 Heavy Full Armor 7th Gundam
กันดั้มเครื่องนี้ปรากฏในเกม Mobile Suit Gundam: Battlefield Record U.C. 0081 บนเครื่อง PS3
มีนักบินประจำเครื่องคือ“เชอรี่ เอลลิสัน” (Cherie Allison) และ “ฮิวจ์ส คูรันด์” (Hugues Courand)
RX-78-01[N] Gundam Local Type MSD
เป็นกันดั้มเครื่องทดสอบของฝ่ายสหพันธ์โลก ที่ได้ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับใช้ในใต้น้ำ ซึ่งเครื่องรุ่นนี้ถือเป็นต้นแบบของRAG-79 Aqua GM, RAG-79-G1 Underwater Gundam และ RX-79[G] Gundam Ground Type ที่จะนำมาใช้งานในภายหลัง
กันดั้มเครื่องนี้เป็นสินค้าในไลน์ Mobile Suit Discovery จากภาค Mobile Suit Gundam : The Origin
RX-78AL Atlas Gundam
เป็นกันดั้มที่ใช้ในเขตภาคพื้นโลก เป็นเครื่องสีขาวตัดดำ ติดตั้งระบบทรัสเตอร์ไฟท์ยูนิตแรงขับดันสูงที่เรียกว่า “ซับเลกส์” (Sub Legs) ข้อต่อทรงกลมตามส่วนต่างๆ ของหุ่นเป็นใช้กับโมบิลสูทรุ่นใช้งานแบบสะเทินน้ำสะเทินบกของฝ่ายจักรวรรดิซีออน ห้องนักบินภายในใช้จอภาพแสดงผลแบบ360 องศาพาโนรามาเสมือนจริง (360-degree Panoramic Cockpit) ตัวเครื่องติดตั้ง Beam Assault Rifle 3 กระบอก, Blade Shield และ ปืนยาวแรงยิงเหนี่ยวรั้งแม่เหล็ก Rail Gun
มีนักบินประจำเครื่องคือ อิโอ เฟรมมิ่ง (Io Fleming)
กันดั้มเครื่องนี้ปรากฏในหนังสือการ์ตูน Mobile Suit Gundam Thunderboltเล่มที่ 5
GUNDAM ในแผน G-4 (GUNDAM Project G-4 Series)
เป็นโครงการพัฒนาขีดความสามารถของกันดั้มให้สูงขึ้นไปอีกขั้น สืบเนื่องมาจากผลการรบด้วยกันดั้ม RX-78-2 ที่อามุโร่ เรย์สร้างผลงานในการสู้รบทำให้ฝ่ายสหพันธ์โลกเริ่มได้เปรียบในสงครามขึ้นเรื่อยๆ ทว่ากันดั้มเครื่องที่ใช้งานอยู่นั้นกลับไม่สามารถตอบสนองต่อทักษะการควบคุมที่รวดเร็วของอามุโร่ได้ จึงต้องมีการอัพเกรดกันดั้มให้เพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น
กันดั้มในโครงการแผน G-4 ตามท้องเรื่องมีดังนี้
RX-78NT-1 Gundam “Alex”
เป็นกันดั้มที่สร้างขึ้นในช่วงของสงครามหนึ่งปี โดยใช้ข้อมูลการสู้รบของ RX-78-2 Gundam มาพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องให้สูงยิ่งขึ้น สำหรับนักบินที่เป็นนิวไทป์อย่างอามุโร่ เรย์ เนื่องจากกันดั้มเครื่องเดิมนั้นไม่สามารถตอบสนองแบบฉับพลันต่อการควบคุมของอามุโร่ได้นั่นเอง
โดยชื่อ Alex นั้นย่อมาจาก “Armored Layers EXperimental” หมายถึง “เกราะในขั้นทดลอง” ข้อต่อของตัวหุ่นใช้ระบบ Magnetic Coating ที่พัฒนามาจากรุ่น RX-78-3 “G-3” มีอาวุธพื้นฐานคือปืนกลแบบแกตลิ่ง กันขนาด 90 ม.ม. ทั้งสองข้าง ส่วนห้องนักบินภายในใช้จอภาพแสดงผลแบบ 360 องศาพาโนรามาเสมือนจริง สามารถติดตั้งเกราะเสริมความแข็งแกร่งแบบโชแบม อาร์เมอร์ (Chobam Armor) ได้ ซึ่งจะถูกเรียกอีกชื่อว่า RX-78NT-1FAFull Armor Gundam Alex
ซึ่งน่าเสียดายที่โครงการพัฒนา Gundam Alexได้ถูกยกเลิกไปเสียก่อน หลังจากที่เครื่องต้นแบบถูกทำลาย ในเหตุการณ์ภาค Gumdam 0080 War in the Pocket มีนักบินประจำเครื่องคือคริสติน่า แม็กเคนซี่ (Christina Mackenzie)
Alex Gundam จะมีสายการพัฒนาในรุ่นต่อมาคือ RX-78NT-X Gundam Netix , RX-78NT-1 Gundam NT-1 Prototype, RX-78NT-2 Gundam NT-2,
RX-78NT-3 Gundam NT-3 และ MRX-002 Newtype Use Prototype Gundam
RX-78NT-1 Gundam NT-1 Prototype
RX-78NT-2 Gundam NT-2
RX-78NT-3 Gundam NT-3
MRX-002 Newtype Use Prototype Gundam
RX-78NT-X Gundam Netix
เป็นกันดั้มที่ใช้แบบการสร้างมาจาก Gundam Alex และในภายหลังมีการไปทดสอบที่สถานีวิจัยนิวไทป์ของฝ่ายสหพันธ์โลก “มุราซาเมะ” (Murasame Newtype Lab) และได้ชื่อเรียกใหม่ว่า “MRX-003” Gundam Netix โดยใช้เป็นเครื่องรุ่นทดลองระบบไซคอมมิว (Psycommu) ที่ได้ข้อมูลมาจากโมบิลสูทที่ใช้ระบบไซคอมมิวจากฝ่ายจักรวรรดิซีออน ติดตั้งอาวุธควบคุมระยะไกลอย่างบิต (Bit) ขนาดใหญ่สองข้างที่ควบคุมผ่านสายเคเบิ้ล มีนักบินประจำเครื่องคือ “ราเชล แรนซั่ม” (Rachel Ransom) และ “โคเท็ตซึ” (Kotetsu)
กันดั้มเครื่องนี้ปรากฏในนิยายภาพ Mobile Suit Gundam Katana และในเกม SD Gundam G Generation Wars บนเครื่อง PS2 / PSP
RX-78XX Gundam Pixie
เป็นกันดั้มที่ใช้งานบนภาคพื้นโลก ที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้ระยะประชิดตัว มีความคล่องตัวที่เหนือกว่ากันดั้มในรหัสเครื่อง RX-78 เพราะตัวเครื่องมีน้ำหนักที่เบากว่านั่นเอง ติดตั้งอาวุธอย่างปืนกลขนาด 90 ม.ม. และมีดคู่ Beam Dagger เป็นพื้นฐาน
ตามเนื้อเรื่องนั้น กันดั้มเครื่องนี้จะถูกขนส่งไปใช้งานในสนามรบที่โอเดสซ่า (Odessa) ช่วงปีสงครามหนึ่งปี โดยลำเลียงมาจากฐานอัลบาทรอส (Albatross Base) ที่อยู่ในบริเวณทะเลทรายโกบี แต่ถูกหน่วยรบวูลฟ์ ก้าร์ (Wolf Gar Team) ของฝ่ายจักรวรรดิซีออนเข้าโจมตีอย่างหนัก โดยมี “เฮ็นรี่ บูน” (Henry Boone) กัปตันทีมจู่โจมซีออนผู้ขับโมบิลสูทที่ชื่อ MS-08TX Efreet ทำให้ “บอล์ค คลาย” (Bork Cry) กัปตันของหน่วยขนส่งต้องขึ้นไปขับกันดั้มเพื่อต่อสู้ จนไม่อาจยืนยันว่ากันดั้มเครื่องนี้ถูกทำลายไปแล้วหรือไม่
GUNDAM ในแผน Gundam Development Project (Gundam – GP Series)
หลังจากที่โมบิลสูทอย่างกันดั้มสามารถแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการสู้รบจนได้รับใช้ชนะในสงครามหนึ่งปี ทางบริษัทอนาไฮม์ อิเล็กทรอนิกส์ (Anaheim Electronics) ได้เริ่มกระโดดเข้ามาสู่บทบาทของผู้สร้างโมบิลสูทขึ้นอย่างเต็มตัว จึงได้เริ่มคิดค้นและพัฒนาโมบิลสูทขึ้นมา โดยใช้พื้นฐานของกันดั้มอย่าง RX-78-2 เป็นต้นแบบ ซึ่ง รหัสของ RX-78 ที่สร้างโดยทางบริษัทอนาไฮม์ อิเล็กทรอนิกส์มีดังนี้…
RX-78GP00 Gundam GP00 “Blossom”
โมบิลสูทในสายการผลิตเดียวกับ RX-78 Gundam ซึ่งเครื่องรุ่นนี้ทางสหพันธ์โลกได้มอบหมายให้ทางบริษัทอนาไฮม์ อิเล็กทรอนิกส์จัดสร้างขึ้นบนดวงจันทร์ ที่ฐานฟอน บราว(Von Braun) โดยเป็นโมบิลสูทที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้ทดสอบการทำงานภายใต้แรงโน้มถ่วงของโลก
กันดั้มตัวนี้เป็นเครื่องนำร่องในโครงการ Gundam GP-Seriesเป็นรุ่นโปรโตไทป์หมายเลข 0 ที่มีจุดเด่นด้วยระบบเซ็นเซอร์นำร่องด้วยอนุภาคไมนอฟสกี้ซึ่งเรียกว่า MPIWS (Minovsky-Particles Interference-Wave Searcher) ที่มีประสิทธิภาพสูงช่วยในการออกค้นหาเป้าหมาย ติดตั้งระบบ Core Booster II, ปืนบีมไรเฟิลแบบพิสัยไกล ซึ่งกันดั้มตัวนี้ไม่ได้ปรากฏในเนื้อเรื่องหลักก็จริง… แต่เครื่องรุ่นนี้ถูกทำลายด้วยฝีมือของฝ่ายจักรวรรดิซีออนในระหว่างการทดสอบไปเสียก่อน
ที่มาของโค๊ดเน็มกันดั้มตัวนี้คือ “Blossom” ที่แปลว่า “ดอกซากุระ”
RX-78GP01 Gundam “Zephyranthes”
โมบิลสูทในสายการผลิตเดียวกับRX-78 Gundam ซึ่งเครื่องรุ่นนี้ทางสหพันธ์โลกได้มอบหมายให้ทางบริษัทอนาไฮม์ อิเล็กทรอนิกส์จัดสร้างขึ้น โดยเป็นโมบิลสูทที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้ทดสอบการทำงานภายใต้แรงโน้มถ่วงของโลก เพิ่มระบบแรงดันขับเคลื่อนที่มีผลฉับไวมากกว่า RX-78 Gundam ให้สูงขึ้นไปอีกขั้น ทั้งยังมีระบบคอร์ไฟท์เตอร์ เพื่อใช้ในการดีดตัวแบบฉุกเฉินอีกด้วย ตัวหุ่นติดตั้งอาวุธพื้นฐานอย่าง บีมเซเบอร์สองด้าม, โล่ และบีมไรเฟิล
มีนักบินประจำเครื่องคือ อุรากิ โค และที่มาของโค๊ดเน็มกันดั้มตัวนี้คือ “Zephyranthes” ที่หมายถึง “ดอกบัวสวรรค์”
RX-78GP01-Fb Gundam “Zephyranthes” Full Burnern
โมบิลสูทในสายการผลิตเดียวกับ RX-78 Gundam ซึ่งเครื่องรุ่นนี้ทางสหพันธ์โลกได้มอบหมายให้ทางบริษัทอนาไฮม์ อิเล็กทรอนิกส์จัดสร้างขึ้น โดยเครื่องรุ่นนี้คือ RX-78GP01 Gundam Zephyranthes ที่เสียหายจากการต่อสู้อย่างหนัก ทำให้ต้องมีการซ่อมแซมและปรับแต่งตัวเครื่องขึ้นมาใหม่ ติดตั้งระบบทรัสเตอร์แบบเวอร์เนียสองตัว ที่มีแรงขับเคลื่อนสูงในอวกาศ
มีนักบินประจำเครื่องคือ อุรากิ โค
RX-78GP02A Gundam “Physalis”
โมบิลสูทในสายการผลิตเดียวกับ RX-78 Gundam ซึ่งเครื่องรุ่นนี้ทางสหพันธ์โลกได้มอบหมายให้ทางบริษัทอนาไฮม์ อิเล็กทรอนิกส์จัดสร้างขึ้น โดยเป็นโมบิลสูทที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้ทดสอบการทำงานภายใต้แรงโน้มถ่วงของโลก เพิ่มระบบแรงดันขับเคลื่อนที่มีผลฉับไวมากกว่า RX-78 Gundam ให้สูงขึ้นไปอีกขั้น โดยรูปร่างของเครื่องรุ่นนี้มีความใหญ่เทอะทะ กว่ารุ่น Gundam GP01 Zephyranthes จึงได้ติดตั้งทรัสเตอร์แบบเวอร์เนีย (Vernier) ที่บ่าทั้งสองข้างของหุ่น ตัวเครื่องติดตั้งอาวุธรบอย่างปืนบาซูก้าประทับบ่า ที่สามารถบรรจุหัวรบนิวเคลียร์, บีมเซเบอร์ และโล่ขนาดใหญ่
มีนักบินประจำเครื่องคือ อานาเวล กาโต้ และที่มาของโค๊ดเน็มกันดั้มตัวนี้คือ “Physalis” ที่หมายถึง “ผลโทงเทง” ซึ่งเป็นผลไม้ในกลุ่มของตระกูลเบอร์รี่
RX-78GP03S Gundam “Dendrobium Stamen”
โมบิลสูทในสายการผลิตเดียวกับ RX-78 Gundam ซึ่งเครื่องรุ่นนี้ทางสหพันธ์โลกได้มอบหมายให้ทางบริษัทอนาไฮม์ อิเล็กทรอนิกส์จัดสร้างขึ้น ซึ่งเป็นกันดั้มหมายเลขสามใน Gundam GP-Series ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในเขตอวกาศ ห้องนักบินใช้จอภาพแบบพาโนรามา 360 องศามุมมองเสมือนจริงรอบทิศทาง ที่มีที่นั่งอยู่ตรงกลางของเชิงเส้น ซึ่ง Gundam GP03 Stamen เป็นส่วนแกนคอร์หลักของโมบิลอาร์เมอร์
มีนักบินประจำเครื่องคือ อุรากิ โค และที่มาของโค๊ดเน็มกันดั้มตัวนี้คือ “Stamen” ที่หมายถึง “เกสรตัวผู้”
RX-78GP03 Gundam “Dendrobium” Dendrobium Orchis”
โมบิลอาร์เมอร์ที่เป็นส่วนหลักของGundam GP03S Dendrobium Stamen ที่ใช้ในการรบบนอวกาศ มีการติดตั้งและบรรจุอาวุธรบเต็มอัตราศึก เพื่อใช้ยับยั้งแผนยุทธการละอองดาว มีอาวุธอย่างปืนใหญ่อนุภาค Mega Beam Launcher บีมเซเบอร์ขนาดใหญ่ซึ่งติดไว้กับแขนกล ทั้งยังมีเครื่องกำเนิดสนามพลัง I-Field ใช้สะท้อนอาวุธลำแสงจากบีมได้ คอนเทนเนอร์ของDendrobium Orchis ซึ่งใช้บรรจุมิสไซล์ที่สามารถใช้จมยานรบของศัตรูได้
มีนักบินประจำเครื่องคือ อุรากิ โค และที่มาของโค๊ดเน็มกันดั้มตัวนี้คือ “Dendrobium” ที่หมายถึง “สกุลหวาย” ซึ่งเป็นสกุลหนึ่งของพืชในกลุ่มวงศ์ของกล้วยไม้
RX-78GP04G Gundam Gerbera
เป็นโมบิลสูทที่ทางบริษัทอนาไฮม์ อิเล็กทรอนิกส์จัดสร้างขึ้น โดยดัดแปลงมาจาก RX-78GP04G Gundam Gerbera มีจุดเด่นอยู่ที่ท่อขับดันแบบเวอร์เนีย ที่บ่าไหล่ทั้งสองข้างของหุ่น ทำให้เคลื่อนที่ในอวกาศด้วยความเร็วสูงแบบฉับพลันได้ ซึ่งเดิมทีนั้น RX-78GP04G Gundam Gerbera ยังเป็นหุ่นที่อยู่ในช่วงการพัฒนาของบริษัทอนาไฮม์ อิเล็กทรอนิกส์
ที่มาของโค๊ดเน็มกันดั้มตัวนี้คือ “ดอกเยอบีร่า (Gerbera) มีนักบินประจำเครื่องคือ ซีม่า กาลาฮาวห์
GUNDAM ในรุ่นอื่นๆ (Other Models)
FA-78-1 Gundam Full Armor Type
เป็นกันดั้มแบบติดเกราะหนักทั้งตัวที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงท้ายของสงครามหนึ่งปี โดยเกราะเสริมนี้เรียกว่า Full Strike Weapon System (FSWS) แต่เนื่องจากน้ำหนักของเกราะเสริมที่ติดตั้งทำให้ตัวของกันดั้มที่ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อแบกรับน้ำหนักที่มากขึ้น ทำให้แนวคิดนี้ยังอยู่ในขั้นวางแผนการสร้าง แต่ต่อมาก็ได้นำแนวคิดการติดเกราะเสริมกลับมาอีกครั้ง
จนสร้างออกมาเป็น FA-78-2 Heavy Gundam
ติดตั้งอาวุธอย่างปืน Rocket Launcher ขนาด 360 ม.ม. ประทับบ่า ซ้าย และปืน Beam Cannon สองลำกล้อง มีนักบินประจำเครื่องคือ “ไฮนซ์ เบเยอร์” (Heinz Baer) และ “ทาคาชิ คิทาโมโต้” (Takashi Kitamoto)
กันดั้มเครื่องนี้ปรากฏในเกม Mobile Suit Gundam : Encounters in Space บนเครื่อง PS2
FA-78-1B Gundam Full Armor Type-B
เป็นกันดั้มที่ปรากฏในภาค MSV-R และในหนังสือการ์ตูนเรื่อง MSV-R: The Return of Johnny Ridden ในเนื้อเรื่องนั้นระบุเอาไว้ว่ากันดั้มตัวนี้เป็นการจำลองสร้างในซีมูเลเตอร์ ที่พัฒนามาจาก FA-78-1 Gundam Full Armor Type ที่เป็นเพียงแนวคิดการสร้างในขั้นต้น โดยการปรับโครงสร้างของของ RX-78 ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้รับกับการติดเกราะนอกเสริมความแข็งแกร่งในชื่อเรียกว่า Full-Armor System and Weapon System (FSWS) ระบบจับภาพระยะไกลแบบ Long Distance Optics Observation System และยังได้มีการติดตั้งอาวุธหนักอย่างเครื่องยิงจรวดพิสัยไกล, ปืนยิงลำแสงบาเรลกันสองลำกล้อง
FA-78-2 Heavy Gundam
เป็นกันดั้มแบบติดเกราะหนักทั้งตัวที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงท้ายของสงครามหนึ่งปี ใช้นำแนวคิดการติดเกราะเสริมของ FA-78-1 Gundam Full Armor Type มาพัฒนาขึ้น ติดเกราะหนัก FSWS เครื่องรุ่นนี้แต่เดิมนั้นจะถูกนำมาใช้ในการรบจริง แต่เนื่องจากประสิทธิภาพของกันดั้มตัวนี้ไม่ค่อยต่างจากรุ่น RX-78-2 ที่อามุโร่ใช้งาน และไม่ตอบสนองต่อการควบคุมของนักบินที่เป็นนิวไทป์ ทำให้เครื่องนี้ถูกใช้งานโดยนักบินคนอื่นก็คือ “เดน เบอร์เซิร์ก” (Den Berserk) ยศพันเอกแห่งสหพันธ์โลก ในศึกบุกยึดป้อมปราการอวกาศเพซุน (fortress of Pezun) ช่วงท้ายของสงครามหนึ่งปี
FA-78-2 Heavy Gundam (Unit 2)
เป็นกันดั้มแบบติดเกราะหนักทั้งตัวอีกหนึ่งเครื่องที่ถูกสร้างขึ้นมายูนิตที่ 2 ต่อจาก FA-78-2 Heavy Gundam ซึ่ได้นำมาในช่วงท้ายของสงครามหนึ่งปี เกราะหนักFSWSของเครื่องรุ่นนี้บางส่วนได้ถูกตัดทอนเรื่องของน้ำหนักลง เมื่อมีการนำมาใช้ในการรบจริง และยังได้ตัดในส่วนของระบบ Core Block ออกเพื่อลดต้นทุนในการสร้าง ใช้อาวุธหลักคือปืนกลแกตลิ่ง กันขนาดใหญ่ Frame Launcher ซึ่งโดยรวมประสิทธิภาพของกันดั้มตัวนี้ไม่ค่อยต่างจากรุ่นเกราะหนักเครื่องแรกสักเท่าไหร่ เครื่องนี้ถูกใช้งานโดยนักบินคนอื่นก็คือ “เดน เบอร์เซิร์ก” (Den Berserk) ยศพันเอกแห่งสหพันธ์โลก
กันดั้มเครื่องนี้ถูกนำมาใช้งานในหกเดือนต่อมาภายหลังจากสงครามหนึ่งปีสิ้นสุดลง
FA-78 Full Armor Gundam
โมบิลสูทรหัสเครื่อง FA-78 สายการผลิตเดียวกับ RX-78 Gundam ซึ่งเครื่องรุ่นนี้ทางสหพันธ์โลกได้สร้างขึ้น ในโครงการพัฒนาขีดความสามารถของกันดั้มในรุ่นถัดไป ที่เน้นในเรื่องของอัตราการต่อสนองระหว่างหุ่นและนักบิน รวมไปถึงความเร็วสมรรถนะของเครื่องให้สูงขึ้น (รุ่นพัฒนาต่อมาของโครงการนี้คือรหัส NT-1 Gundam Alex) เดิมทีเครื่องรุ่นนี้ได้พัฒนาเพื่อให้อามุโร่เป็นนักบิน แต่เกิดปัญหาในเรื่องอัตราการตอบสนองของหุ่นที่ไม่ฉับพลันต่อการควบคุมของอามุโร่ ทำให้เครื่องรุ่นนี้ได้ถูกส่งมาให้ทางภราดรภาพ MOORE ใช้สู้รบเพื่อแย่งชิงเขตอสนีบาตจากหน่วย Living Dead ติดตั้ง Twin Beam Rifle, Missile Pod 5 ช่อง, Beam Cannonระยะไกล, Sub Arm 2 ข้าง, โล่ 2 ข้าง, Beam Saber2 อัน และ จรวดต่อต้าน 2 ช่อง
มีนักบินประจำเครื่องคือ อิโอ เฟรมมิ่ง
FA-78[G] Full Armor Gundam Ground Type
เป็นกันดั้มที่ปรากฏในภาค MSV-R หรือชื่อเต็มคือ “Mobile Suit Variations R” ภาคแยกของเนื้อหาที่ได้ระบุถึงในช่วงปี U.C. ที่ 0089 เครื่องนี้พัฒนาต่อจาก FA-78-1 Gundam Full Armor Type ลดขนาดและน้ำหนักของเกราะลง เพื่อให้ใช้ในเขตภาคพื้นลงได้ รวมถึงระบบทรัสเตอร์ขับดันเพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ในพื้นที่แรงดึงดูดได้คล่องตัวยิ่งขึ้น ติดตั้งอาวุธมาตรฐานอย่างบีมเซเบอร์สองด้าม, ปืนไรเฟิลคู่, ปืนยิงจรวด และ Missile Launcher
RX-78 SP Gunner Gundam
เป็นกันดั้มที่ปรากฏในภาค MSV-R เช่นเดียวกัน โดยเริ่มใช้งานจริงในช่วงปี U.C. ที่ 0080 หลังจากที่ฝ่ายจักรวรรดิซีออนล่มสลายไปแล้วในสงครามหนึ่งปี เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บในการป้องกันการคุกคามจากพวกทหารซีออนที่ยังไม่ยอมแพ้สงคราม ความสามารถของเครื่องรุ่นนี้จะอยู่ที่การเสริมอาวุธประเภทปืนในหลายๆ รูปแบบเป็นหลัก ไม่เน้นการต่อสู้แบบประชิดตัว ตัวเฟรมหุ่นใช้โครงสร้างเดียวกันกับ RGM-79 GM แต่น่าเสียดายที่ทางสหพันธ์ไม่ได้พัฒนาต่อ จึงไม่มีการสานต่อกันดั้มเครื่องนี้
PF-78-1 Perfect Gundam
เป็นกันดั้มในรูปแบบของการ์ตูน, อนิเมชั่น, กันพลาและเกม ในกันพลาปรากฏตัวในการ์ตูน Plamo Kyoshiro ซึ่งเป็นกันพลาของ “เคียวดะ ชิโร่” (Shiro Kyoda) ตัวหุ่นได้ใช้ RX-78-2 Gundam มาปรับแต่งด้วยการเพิ่มปืนใหญ่ที่ไหล่ข้างซ้าย ปืนยิงลำแสงบาเรลกันสองลำกล้อง ติดตั้งแบ็คแพ็คขนาดใหญ่สำหรับใช้กับปืนอนุภาคลำแสง และทรัสเตอร์ที่ชิ้นส่วนเกราะขาใช้ในการเคลื่อนที่บนอวกาศ
Perfect Gundam ตัวนี้ที่ได้ใช้ในการต่อสู้กับ MSN-02 Perfect Zeong ตามท้องเรื่อง
อีกเรื่องคือในอนิเมเรื่อง Gundam Build Fighters ปรากฏตัวในช่วงตอนสุดท้าย ที่ควบคุมโดย “อิโอริ ทาเคชิ” (Takeshi Iori) คุณพ่อของอิโอริ เซย์ ตัวเอกของเรื่อง
Perfect Gundam ใน Gundam Build Fighters
ส่วนในเกมนั้น Perfect Gundam ปรากฏอยู่ในเกม SD Gundam G-Generation บนเครื่อง PS2 รวมถึงในเกม Gundam Extreme VS. Full Boost (ตัว DLC) บนเครื่อง Ps3 ซึ่งมีการอ้างอิงโครงการสร้างและวิจัยเพื่อเพิ่มศักยภาพของกันดั้มให้สูงขึ้น จนมีการพัฒนาเป็น FA-78-1 Gundam Full Armor Type ในรุ่นถัดมา
Perfect Gundam ใน SD Gundam G-Generation
Perfect Gundam ใน Gundam Extreme VS. Full Boost
RX-78EX-PH-1 Zephyr Gundam
เป็นกันดั้มที่ปรากฏในหนังสือการ์ตูนเรื่อง Mobile Suit Gundam : Outer Gundam ที่วาดโดยอ. Masahumi Matsuura ออกมาเพียงเล่มเดียวจบ ซึ่งกันดั้มตัวนี้มีความพิเศษตรงที่มีการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์แบบ A.I สามารถคำนวณและประมวลผลการต่อสู้ในระหว่างการออกปฏิบัติการได้ สามารถติดตั้งเกราะชั้นนอกเพื่อเป็นร่าง Full armor รวมถึงยังเปลี่ยนร่างเป็น Flight Armor ใช้ในการบินได้ด้วย
กันดั้มตัวนี้อยู่ในช่วงหลังสงครามหนึ่งปีจบลง เป็นผลงานการสร้างของ Waihama Caines นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยของกองทัพสหพันธ์โลก ซึ่งโดยรวมนั้นถือเป็นกันดั้มที่มีประสิทธิภาพสูงอีกเครื่องหนึ่งเลยทีเดียว
RX-78E Gundam GT-FOUR
เป็นกันดั้มรุ่นต้นแบบที่พัฒนาโดยทางEFAF (Earth Federation Air Force) สังกัดกองทัพสหพันธ์โลก หลังจากสงครามหนึ่งปีสิ้นสุดลง และเป็นหนึ่งในกันดั้มในแผน G-4 รุ่นเดียวกันกับGundam Alex ที่มีความสามารถในการเปลี่ยนร่างเป็นโหมดต่างๆ ได้เองโดยที่ไม่ต้องสลับหรือเพิ่มเสริมยูนิตอื่นแต่อย่างใด สามารถเปลี่ยนร่างได้ 3 โหมดคือ B Mode, G mode และ F mode
ซึ่งกันดั้มตัวนี้มีความซับซ้อนทางด้านโครงสร้างในระหว่างการเปลี่ยนร่าง ทำให้กันดั้มรุ่นนี้ถูกยกเลิกพัฒนาไปเสียก่อน แต่กระนั้นรูปแบบการเปลี่ยนร่างของกันดั้มตัวนี้ได้ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาสำหรับโมบิลสูทอย่าง ORX-005 Gaplant และ NRX-044 Asshimar ของฝ่ายทีทานส์
ORX-005 Gaplant
NRX-044 Asshimar
RX-78/C.A. Casval’s Gundam
เป็นกันดั้มที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบเกม Mobile Suit Gundam Gihren’s Greed (Giren no Yabou) บนเครื่อง PS2 และยังมีออกมาในรูปแบบของกันพลาอีกด้วย โดยกันดั้มตัวนี้บังคับโดยชาร์ อัสนาเบิ้ล ซึ่งมียศพันเอกตามท้องเรื่องในเกม ใช้ต้นแบบมาจาก RX-78-2 กันดั้มเครื่องที่อามุโร่ใช้งานเป็นพื้นฐาน แต่ด้วยเทคโนโลยีของฝ่ายซีออน ทำให้กันดั้มเครื่องนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องRX-78-2 พอสมควร นอกจากนี้ตัวโมบิลสูทถูกทาด้วยสีแดงทั้งตัว เพื่อให้เข้ากับรสนิยมและฉายาว่า “ดาวหางสีแดง”
RX-78Opt Gundam G-Dash
เป็นกันดั้มที่ปรากฏอยู่ในเกม Gundam Tactics Mobility Fleet 0079 บนเครื่อง PiPPiN (เครื่องเกมที่เกิดจากความร่วมมือของทาง Apple และ Bandai) กันดั้มรุ่น RX-78 ติดตั้งทรัสเตอร์สำหรับเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงทั้งในชั้นบรรยากาศและอวกาศอย่าง G-Dash โดยตัดส่วนขาของตัวหุ่นออกไป
RX-78T Gundam Titans Version
เป็นกันดั้มที่ปรากฏอยู่ในเกม SD Gundam : G Generation Gather Beat บนเครื่อง Wonder Swan (เครื่องเกมมือถือของทาง Bandai) พัฒนาโดยทางทีทานส์ตามเนื้อเรื่องแล้ว กันดั้มตัวนี้สร้างขึ้นมาจาก RGM-79Q GM Quel และยังเป็นต้นแบบการสร้างของ RX-178-X0 Prototype Gundam Mark II
RGM-79Q GM Quel
RX-178-X0 Prototype Gundam Mark II
RX-78-2 Gundam Real Type
เป็นกันดั้มที่ปรากฏในภาค MSV-R โดยตามเนื้อเรื่องแล้วเป็นอีกหนึ่งตัวต้นแบบของกันดั้มไทป์ ที่สร้างจากแร่ลูน่า ไททาเนี่ยมแต่มีมวลโลหะที่เบากว่า ต้นทุนในการวิจัยก็เลยต่ำกว่ารุ่นถัดมาอย่างมาก ซึ่งโดยรวมๆ นั้นประสิทธิภาพเครื่องไม่แตกต่างจากกันดั้มเบอร์หนึ่งถึงสามแต่อย่างใด
===========================
กันดั้มรุ่น RX-78 นับว่าเป็นสัญลักษณ์ของกันดั้มทั้งปวง ที่มีแฟนๆ ติดตากันมากที่สุด ในทั้งในภาคหลัก, ภาคไซด์สตอรี่, เกมและตามสื่อต่างๆ นับไม่ถ้วน หากมีตัวไหนตกหล่นไปบ้าง ก็ลองคอมเม้นท์ใต้บทความกันได้นะครับ
ข้อมูลประกอบบทความจาก : th.wikipedia.org
miraclesaven
-
Blokees Saint Seiya – Star Edition : 1st [กล่องสุ่ม / ราคา / วันวางขาย / สั่งซื้อ]
#Blokees #SaintSeiya #Toys #Model #กล่องสุ่ม
-
ทำความรู้จักม้ามืดของปี 2024 Balatro: เกมไพ่ผสมกลยุทธ์สุดมันส์
#เกมส์ #เกมไพ่ #เกมกลยุทธ์ #เกมมือถือ
-
Dynasty Warriors: Origins [สั่งซื้อเกมถูก , PS5, Xbox Series,PC]
วีรบุรุษไร้นาม จะลุกขึ้นต่อสู้ในโลกของสามก๊ก