ขณะที่สังคมกำลังตั้งข้อสงสัยว่า “การเล่นเกมนี่สามารถนับเป็นกีฬาได้หรือไม่” หรือ “แล้วเราจะแยกยังไง ระหว่างคนเล่นเกมทั่วไป , คนที่เล่นเกมเป็นกีฬาเป็นอาชีพ หรือแค่เด็กติดเกมที่เป็นปัญหาสังคม” ซึ่งเราๆท่านๆที่เป็นคอเกมอาจจะมีคำตอบในใจอยู่แล้ว แต่ถ้าลองพิจารณาจากคำจำกัดความ และพฤติกรรมของคนแต่ละกลุ่ม ก็จะพบว่า มันต่างกันโดยสิ้นเชิง
ก่อนอื่น เราต้องทำความรู้จักกับคำว่า “เกม” กันก่อน…
คำว่า “เกม“ในความหมายจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “การแข่งขันที่มีกติกากำหนด” เช่น “เกมกีฬา” การเล่นเพื่อความสนุก เช่น “เกมคอมพิวเตอร์” การแสดงเพื่อสาธิตกิจกรรม เช่น “เกมการบริหาร”
โดยปริยายหมายถึงการแสดงที่ใช้ กลวิธีหรือเล่ห์เหลี่ยม เพื่อหักล้างกัน เช่น “เกมการเมือง” และเป็นลักษณ นาม เรียกการแข่งขันหรือการเล่นที่จบลงด้วยการแพ้ชนะกันครั้งหนึ่ง ๆ เช่น “เล่นแบดมินตัน ๓ เกม” เป็นต้น
ซึ่งคำว่า “กีฬา” ในภาษาไทย ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า เป็นคำภาษาบาลี หมายถึง กิจกรรมหรือการเล่น “เพื่อความสนุกเพลิดเพลิน” “เพื่อความแข็งแรงของร่างกาย” หรือ “เพื่อผ่อนคลายความเคร่งเครียดทางจิต”
แล้ว E-Sport ล่ะ!? คำตอบก็น่าจะชัดเจนที่สุดแล้วว่าเข้าข่ายของกีฬาได้เช่นกัน โดย E- Sport (Electronic Sport – กีฬาอิเลคโทรนิค) ถ้ามองความเชื่อมโยง ก็จะพบว่า เราเล่นเกมเพื่อความเพลิดเพลินได้ หรือเพื่อผ่อนคลายความเคร่งเครียดทางจิตได้เช่นกัน อารมณ์ก็จะประมาณ “หมากรุก หมากล้อม เกมกระดานต่างๆ” ที่เคยนำเข้ามาแข่งในโอลิมปิกหรือในเอเชี่ยนเกมส์หลายครั้งที่ผ่านมา ส่วนความแข็งแรงนั้น นักกีฬา E-Sport ก็จะได้รับการฝึกร่างกายให้พร้อมแข่งเช่นกัน…
นักกีฬา E-Sport คืออะไร!?
ถ้าแปลแบบบ้านๆเลยก็คือ คนที่เล่นเกม ลงแข่งเป็นอาชีพ หากินกับสปอนเซอร์และรางวัลการแข่งขัน แต่คนกลุ่มนี้จะถูกนับว่าเป็น “นักกีฬา” มากกว่า “คนเล่นเกม” เพราะการที่จะก้าวมาเป็นนักกีฬา E-Sport ได้นั้น นอกจากมีฝีมือการเล่นเกมที่จัดจ้านแล้ว ยังมีเรื่องของร่างกาย ที่ต้องดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย เช่น ทีม Bacon ที่เราๆท่านๆรู้จัก ใน 1 สัปดาห์ พวกเขาต้องไปเข้าฟิตเนส ออกกำลังกาย มีการจดบันทึกสถิติการออกกำลังด้วย (ข้อมูลจากเพจทีม Bacon) หรือบางทีมก็จะมีการดูแลเรื่องอาหารการกินที่ส่งผลต่อการจดจำ ไหวพริบ บำรุงระบบประสาท และสายตา มีวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาดูแลนักกีฬาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ พวกเขาต้องฝึกซ้อม ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อให้คนทั้งทีมชนะ ไม่ใช่แค่คนๆหนึ่งเป็นผู้ชนะ มันก็คือการบริหารจัดการดูแลนักกีฬาคนหนึ่งนั่นละ…
ฟังดูโอเวอร์ และเป็นการลงทุนที่ไม่น่าเชื่อ แต่ทั้งนี้ ก็เพื่อเงินราวัลมหาศาลนับล้านๆบาท การมีชื่อเสียงในแวดวงอุตสาหกรรมเกม การเป็นพรีเซนเตอร์ให้อุปกรณ์ IT ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานั้น ก็คือโมเดลธุรกิจของการทำทีมกีฬาทั่วๆไปนั่นเอง
มหาเทพ “FAKER” (ชื่อจริง ลี ซัง ฮย็อก) ผู้เล่นในตำแหน่ง Mid Lane เกม LOL ของทีม SK Telecom T1 ก็คือยอดภูเขาน้ำแข็งของเกมเมอร์ทั่วโลกใฝ่ฝันอยากเป็น เพราะพี่ตี๋หน้าเนิร์ดๆคนนี้ซัดเงินเข้ากระเป๋าหลักหลายล้านเหรียญต่อปี! แต่พี่แกไม่ยอมหยุดเท่านั้น เพราะตั้งเป้าว่าจะลงแข่งในนามทีมชาติเกาหลีอีกด้วย
มีมิตรสหายนักลงทุนท่านหนึ่งกล่าวว่า ถ้าทำผลิตภัณฑ์ขายคนจีนได้แค่ 1% ของประชากรทั้งหมดในประเทศจีนก็รวยแล้ว! และบริษัท Tencent ก็กวาดคนจีนไปแทบจะค่อนประเทศ (ที่ใช้อินเตอร์เนตเป็น) บริษัทนี้มีพลังในการสร้างสื่อมีเดีย โซเชียล และเกมเป็นของตัวเอง อย่าแปลกใจที่ตอนนี้บริษัทเทนเซนท์จะรวยเอา รวยแบบไม่รู้เรื่อง รวยแบบใช้ชาตนี้ก็ไม่หมด 55+
มีการสำรวจตลาดเกมในรอบปี 2017 ที่ผ่านมา (นับออนไลน์ ออฟไลน์) ที่มีเม็ดเงินมหาศาลหมุนเวียนก็จะพบตัวเลขสุดอลังการจากประเทศจีน ที่มีเง็นสะพัดในวงการเกมและสร้างรายได้ให้กับประเทศสูงถึง “หนึ่งล้านล้านบาท” (โดยประมาณ) และตามมาด้วยประเทศอเมริกาที่จำนวน “840,000 ล้านบาท” และ ประเทศไทย ของเราเองก็ติดอยู่ใน TOP 20 ของโลก โดยไทย อยู่ในอันดับที่ 20 มีตัวเลขที่สูงถึง “9,000 ล้านบาท” (จะบอกว่า มีมือวางอันดับท๊อปๆของโลก หรือทีมที่กดแชมป์จากทั่วโลกในหลายๆเกม ก็คือเพลย์เยอร์จากประเทศไทยด้วยเช่นกัน)
และล่าสุด ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยก็ได้ผลักดันให้การแข่ง E-Sport เป็น กีฬาชนิดหนึ่งในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติกีฬา มีสมาคมกีฬา E-Sport รองรับอย่างเป็นทางการ และกำลังจะเฟ้นหา “นักกีฬา E-Sport ทีมชาติไทย เข้าสู้ศึกเอเชียนเกมส์” ตามที่ทางสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือ Olympic Council of Asia ได้กำหนดให้กีฬา E-Sport เป็นกีฬาในเอเชียนเกมส์ปี 2022 ที่จีน พร้อมเป็นกีฬาสาธิตในเอเชียนเกมส์ 2018 ที่กรุงจาการ์ตา รวมทั้งจะเปิดตัวครั้งแรกในการแข่งขันเอเชียนอินดอร์เกมส์ 2017 (Asian Indoor and Martial Arts Games (AIMAG)) ที่กรุงอาชกาบัต เมืองหลวงของประเทศ เติร์กเมนิสถาน ตั้งแต่ 17-27 ก.ย.นี้
ดังนั้นจึงอย่าแปลกใจที่ยุคนี้ ถึงมีทีมนักกีฬา E-Sport เข้าร่วมการแข่งขันในหลายๆรายการมากมาย เพราะทั้งรางวัล ชื่อเสียงแก่ตัวเองและประเทศชาติรออยู่นั่นเอง!!
เกมเมอร์ คืออะไร!?
เกมเมอร์ ถ้ากล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือกลุ่มคนที่ชื่นชอบการเล่นเกม เกาะติดเรื่องราวของวงการเกม แต่ไม่ได้มีสกิลเพลย์จัดจ้าน หรือ เทคนิคการเล่นแพรวพราว เหมือนนักกีฬา E-Sport คนกลุ่มนี้เป็นอีกหนึ่งตัวขับเคลื่อนวงการเกมที่ขาดไม่ได้ เพราะแม้ว่า E-Sport จะทำเงินให้วงการมากมาย แต่เงินมาจากไหนล่ะ ก็มาจากลูกค้าที่ชื่นชอบการเล่นเกม หรือเหล่าเกมเมอร์ ที่อุดหนุนสินค้า ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ รวมไปถึงการซื้อเกมมาเล่น เพื่อเสพเอาเนื้อเรื่อง ความสนุก วัดกราฟฟิก เป็น”ผู้ตาม”เทคโนโลยี
และการเป็นเกมเมอร์ ก็สามารถต่อยอดไปเป็น นักข่าวสายเกม,นักรีวิวเกม,นักทดสอบเกมของบริษัทผู้ผลิตเกมและผู้นำเข้า หรือ Tester (ในรูป) หรือถ้าเก่งจัดระดับฟ้าประทาน ก็สามารถไปทำทีม E-Sport หรือเป็น “โปรเพลย์เยอร์” ก็ได้อันนี้ก็ว่ากันไป ซึ่งหลักๆแล้ว คนกลุ่มเกมเมอร์ไม่จำเป็นต้องเล่นเกมเก่งมาก เก่งวัวตายควายล้ม ขอแค่สนุกไปกับการเล่นเกมก็พอ โดยที่พวกเขาต้องแบ่งเวลาการใช้ชีวิต และการเล่นเกมอยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระต่อตัวเองและคนรอบข้าง…
แล้วเด็กติดเกมล่ะ!?
คนกลุ่มนี้ จริงๆแล้วไม่ได้มีแค่เด็กนะ ผู้ใหญ่บางคนก็เป็น ลักษณะจะเหมือนกับคนที่เล่นเกมมาก ตัดขาดจากโลกจริง ขาดการดูแลตัวเองและคนรอบข้าง ขาดวิจารณญาณในการตัดสินใจแยกแยะ ในหัวจะคิดถึงการเล่นเกมเท่านั้น แถมเล่นแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่มุมใด ทั้งด้านภาษา ด้านทักษะ มีพฤติกรรมสมาธิสั้น ก้าวร้าว ทางการแพทย์เรียกว่า “Gaming disorder” หรือ “อาการติดเกม”
โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization- WHO) ได้ระบุว่า “อาการติดเกม เป็นอาการป่วยประเภทหนึ่ง” และได้ตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการในฉบับปี 2018 นี้ โดยจัดเป็น “อาการเสพติดทางพฤติกรรม” (ไม่ใช่การติดจากการใช้สารเสพติด) หรือ ชื่อทางการแพทย์คือ อาการ Process Addiction เช่น การเสพติดการช๊อปปิ้ง เสพติดสื่อลามก เสพติดโซเชียล เป็นต้น
แล้วนิสัยอย่างไร ที่จะก่อให้เกิดพฤติกรรมการเสพติด!?
1.พฤติกรรมที่ผิดแผกไปจากคนทั่วไป และถือเป็นเรื่องปกติ
เช่น เล่นเกมวันละ 20 ชั่วโมง ไม่อาบน้ำ ไม่กินข้าว ไม่ทำงานทำการ เล่นเกมอย่างเดียว และมักคิดว่า คนเล่นเกมใครๆก็เป็นกัน
2.พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความกังวลใจ
เช่น กระวนกระวายเมื่อไม่ได้เล่นเกม รู้สึกหงุดหงิดง่าย ในหัวคิดถึงแต่การเล่นเกมเท่านั้น
3.พฤติกรรมที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต
เช่น ไม่อาบน้ำแปรงฟัน สะสมแบคทีเรีย สุขภาพอนามัยส่วนบุคคลเริ่มแย่ ไม่มีปฏิสัมพันธ์ การพูดคุยกับสังคมและคนรอบข้าง
4.พฤติกรรมที่ไม่สามารถหยุดเป็นเวลานานๆได้
เช่น เล่นเกมแล้วหยุดเล่นไม่ได้ นั่งเล่นข้ามวันข้ามคืน ขออีกซักรอบ อีกซักยกไปเรื่อยๆ ผลัดวันประกันพรุ่ง
พฤติกรรมเหล่านี้ เสี่ยงต่ออาการติดเกม ซึ่ง“เป็นอาการป่วยประเภทหนึ่ง” ควรปรึกษาจิตแพทย์ ก่อนที่จะเสพติดมากไปกว่านี้…
สรุป…
ถ้าเล่นจนมีสกิลถึงขั้นได้ไปแข่ง สร้างชื่อเสียง เรียกว่านักกีฬาE sport
ถ้าเล่นปกติ ก็เป็นแค่เกมเมอร์ คนเล่นเกม เสพเนื้อเรื่อง ฝึกทักษะ ผ่อนคลายจากการทำงาน การเรียน
แต่ ถ้าเล่นแล้ว กดยาวๆวันละหลายๆชั่วโมง ติดอยู่กับเกมนานๆ ก็คือเด็กติดเกม
“เกมไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่คนที่เล่นเกมมากเกินไปจนแยกแยะอะไรไม่ได้ นั่นคือคนป่วย!!”
แอดมิน Ak47
——————————————————————————————————
เครดิตข้อมูล
-
BEYBLADE X : 10 ตัวน่าซื้อ ของมันต้องมีในปี 2024
#beybladex #kctoysbeybladex #beybladexthailand
-
KARATE KID: LEGENDS [เรื่องย่อ / ตัวอย่าง / หนังใหม่ /2025]
#KarateKidMovie #KarateKi #เฉินหลง #JackieChan
-
20 ตัวละครจากเกมยอดนิยมที่ถูกค้นหามากที่สุดในเวปไซต์สำหรับผู้ใหญ่ 2024
#Ranking #website #Games #PC #Console