มิตร ชัยบัญชา…มายาชีวิตของพระเอกตลอดกาล
19 ตุลาคม 2566 12:30 น.
Share on FacebookTweet about this on TwitterShare on Google+

มิตร-ชัยบัญชา (1)

ต้องบอกว่าเดือนตุลาคมปีนี้มีความน่าสนใจหลายๆอย่าง หนึ่งในนั้นคือภาพยนตร์เรื่องล่าสุด มนต์รักนักพากย์ ของ อุ๋ย-นนทรี นิมิตบุตร ผู้กำกับที่ขอพาผู้ชมทุกท่านไปย้อนวันวานในยุคทองของภาพยนตร์ในปี พ.ศ.2513 ที่เป็นยุคหนังของ มิตร ชัยบัญชา พระเอกตลอดกาล ซึ่งยุคนี้ได้ชื่อว่ายุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการจากหนังพากย์ 16 มม. สู่หนังเสียงในฟิลม์ 35 มม. ซึ่งได้ฉายทาง Netflix ไปแล้ว ซึ่งวันนี้เพื่อให้เข้ากับธีมหนังมนต์รักนักพากย์ วันนี้เราจะฉายหนังชีวิตของพระเอกตลอดกาลของไทยมาฝากกันครับ

 

พ่อแม่พี่น้องทั้งหลายของเชิญจับจองที่นั่ง เพราะเมทัลบริดจ์ภาพยนตร์จะนำเสนอเรื่องราวที่จะพาทุกท่านไปสัมผัสกับเรื่องราวมายาชีวิตของชายผู้อุทิศชีวิตให้กับวงการภาพยนตร์ไทย เขาคือดารามหาชนผู้มอบความสุขและแรงบันดาลใจแก่ผู้ชมและคนในวงการให้กับรุ่นหลัง ชายผู้ที่ทำให้วงการหนังไทยมีวันนี้ได้

เขามีนามว่า มิตร ชัยบัญชา…(อ่านแบบเอคโค่)

 

 

 

ฉากแรกของชีวิต

มิตร-ชัยบัญชา (2)

มิตร ชัยบัญชา เกิดวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2477 (เดิมใช้วันที่ 1 มกราคม เพราะไม่รู้วันเกิดแน่ชัด) ชื่อเดิมของเขาคือ บุญทิ้ง ระวีแสง แต่เมื่อเขาได้อายุ 1 ขวบ เขาต้องเป็นเด็กกำพร้า เพราะว่า พ่อของเขาต้องไปราชการที่ต่างจังหวัด ส่วนแม่ของเขาก็ไปอยู่กรุงเทพฯ ทำให้เขาต้องอาศัยอยู่กับปู่และย่า แต่เมื่อทั้งสองได้สิ้นลมหายใจจึงต้องอาศัยอยู่กับอาซึ่งบวชเป็นพระ ชีวิตวัยเด็กในตอนแรกเขาจึงต้องอยู่กับหลวงอา จนกระทั่งจุดเปลี่ยนชีวิตอีกครั้ง เมื่อแม่ผู้บังเกิดเกล้าที่ตอนนี้ตั้งตัวได้จากการเป็นแม่ค้าผักในตลาดแถวนางเลิ้ง ซึ่งตอนแรกบุญทิ้งจะไม่ไป จนทำให้หลวงอาต้องเกลี้ยกล่อมทั้งขู่และปลอบจนต้องยอมไปกรุงเทพฯ เมื่อไปถึงเขาได้เปลี่ยนชื่อเป็น สุพิศ นิลศรีทอง โดยใช้นามสกุลน้าเขย ภายหลังจึงใช้นามสกุล พุ่มเหม ซึ่งเป็นนามสกุลของพ่อเลี้ยง กลายเป็น สุพิศ พุ่มเหม ในเวลาต่อมา

 

แม้ว่าการย้ายมากรุงเทพฯ ของเขายังต้องดำเนินต่อไป แต่นั่นทำให้เขาต้องทำงานทุกอย่างเพื่อหารายได้ให้กับตัวเอง ทั้งการช่วยขายของ เพาะพันธุ์ปลากัด เป็นลูกจ้างตามร้านต่างๆ ขณะชีวิตในวัยเรียนก็เข้าเรียนที่โรงเรียนไทยประสาทวิทยา ด้วยอุปนิสัยความเป็นผู้นำและขยันเรียน ทำให้เขามักจะสอบได้คะแนนดีอยู่เสมอ นอกจากนี้เขายังมีความสามารถเก่งทั้งด้านศิลปะ ภาษาอังกฤษและงานช่างจนสามารถต่อตู้เตียงใช้เองได้ด้วย ในด้นกีฬาเขาชื่นชอบการชกมวยเพราะสามารถใช้ป้องกันตัว แถมเคยชกมวยจนได้รางวัลเหรียญทองรายการมวยนักเรียน 2ปี ในปีพ.ศ. 2492 และ พ.ศ.2494

มิตร-ชัยบัญชา (3)
หลังจากจบจากโรงเรียนไทยประสาทวิทยา เขาจึงตัดสินใจสอบเข้าโรงเรียนจ่าอากาศโยธิน ดอนเมือง ในตอนแรกเขาสามารถสอบทำคะแนนจนได้ไปเรียนขั้นสูงที่โรงเรียนศิษย์การบินโคราช รุ่นป.15 ก่อนที่จะกลับมานักเรียนจ่าอากาศ เหล่าอากาศโยธิน รุ่นที่ 11 สำเร็จการศึกษา เดือนมีนาคม พ.ศ. 2499 ติดยศจ่าอากาศโท เมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 จนได้เป็นครูฝึกที่กองพันต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน กองทัพอากาศดอนเมือง ในบทบาทครูฝึกเขาเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกน้อง ขนาดเวลาปฏิบัติตัวก็จะปฏิบัติด้วยกัน และทำเป็นตัวอย่างที่ดีเพื่อให้ทหารในปกครองของเขาเกรงและเคารพ ขณะเดียวกันเขาก็เปลี่ยนแปลงตัวเองเริ่มจากรูปร่างจากหนุ่มสูงโปร่งก็เริ่มมีมัดกล้าม ซึ่งเกิดจากการที่เขาใช้เวลาว่างฝึกเพาะกาย ด้วยการวางลูกเหล็กไว้ตามจุดสุดแต่กำลังที่มีอยู่ เมื่อเดินผ่านก็ต้องยกทุกครั้งจนทำให้เขามีรูปร่างที่สง่างาม

 

นอกจากนี้เขาก็ตัดสินใจเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง จาก สุพิศ พุ่มเหม เป็น พิเชษฐ์ พุ่มเหม เพราะว่าชื่อนี้เขามองแล้วว่า มันเหมาะสมกับความเป็นผู้นำที่เขาเป็นอยู่ จนทำให้ลูกน้องหรือเพื่อนฝูงจะเรียกเขาว่า จ่าเชษฐ์ หรือ พิเชษฐ์ นั่นเอง
ในช่วงหลังเวลางานแล้วเขายังคงแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง โดยลงเรียนภาคค่ำที่พระนครวิทยาลัย เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย แม้จะสอบไม่ผ่าน

 

แต่ใครจะไปคิดว่ารูปถ่ายในชุดเครื่องแบบจ่าอากาศของเขาเพียงใบเดียวจะกลายเป็นตั๋วทองคำที่พาเขาก้าวสู่วงการบันเทิงในเวลาต่อมา

 

 

สู่วงการบันเทิง

มิตร-ชัยบัญชา (4)

ในปี พ.ศ.2500 หรือช่วงปีแห่งการเริ่มต้นสู่ความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะวงการภาพยนตร์ไทยในเวลานั้น ที่กำลังโด่งดัง ซึ่งในเวลานั้นมีทั้ง ชนะ ศรีอุบล, อดุลย์ ดุลยรัตน์ และ ลือชัย นฤนาท ที่ในเวลานั้นโด่งดังจากหนังเรื่อง เล็บครุฑ ที่สร้างจากผลงานของ พนมเทียน ที่นอกจากจะสามารถคว้ารางวัลตุ๊กตาทองได้เป็นคนแรก เหล่าชายหนุ่มก็ต้องทำทาคอเอียงเลียนแบบกันเป็นว่าเล่น แล้วด้วยชื่อเสียงโด่ดงดังของลือชัยนี่เอง ที่ทำให้คิวแน่น จนทีมสร้างจึงอยากจะปั้นพระเอกคนใหม่ขึ้นมา

 

แล้วอะไรล่ะที่ทำให้ จ่าเชษฐ์ หรือ พิเชษฐ์ พุ่มเหม หันก้าวสู่ถนนบันเทิง?

 

ตัวของเขาเองก็เหมือนหลายๆคนที่ชื่นชอบการดูหนังในโรงภาพยนตร์ช่วงวันหยุด เพราะนอกจากจะได้มองสาวๆแล้วก็อาจจะแวะไปหาอะไรทานใกล้ๆบริเวณโรงหนังก็คงจะโก้ไม่น้อย ขณะเดียวกันเพื่อนๆหลายคนก็เชียร์ให้เขาลองไปเป็นพระเอกหนัง เพราะว่ารูปร่างสูงและกำยำ หน้าตาที่หล่อคมสัน จนเพื่อนๆพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาเหมาะกับบทพระเอกหนังจริงๆ
จากที่เคยเล่าไปว่ารูปถ่ายในชุดเครื่องแบบจ่าอากาศก็สะดุดตากับเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน ประกอบว่าเพื่อนของเขาอยู่บ้านใกล้ๆกับโรงพิมพ์ซึ่งเป็นที่ทำงานของคุณกิ่ง แก้วประเสริฐ นักข่าวบันเทิงที่คร่ำหวอดในวงการ วันหนึ่งเพื่อนของจ่าเชษฐ์ได้มีโอกาสเจอกับคุณกิ่งพร้อมกับนำรูปถ่ายของจ่าเชษฐ์มาให้นักข่าวบันเทิงผู้นี้ดู ซึ่งอีกฝ่ายก็สนใจและเห็นแววอะไรบางอย่าง ก่อนที่เพื่อนของจ่าเชษฐ์จะนัดแนะให้มาเจอกันในเวลาต่อมา

มิตร-ชัยบัญชา (5)
เวลาต่อมา จ่าเชษฐ์ก็ได้เจอกับ คุณกิ่ง แก้วประเสริฐ ตามที่เพื่อนของจ่าเชษฐ์ได้นัดแนะมาเจอกัน ด้วยความสุภาพของเขาบวกกับเป็นคนเพชรบุรีด้วยกัน ทำให้นักข่าวบันเทิงรับปากจะผลักดันและสนับสนุนให้จ่าเชษฐ์ได้เป็นพระเอกหนัง โดยตอนแรกเขานำรูปถ่ายไปลงตามนิตยสารต่างๆหรือให้จ่าเชษฐ์ไปถ่ายแบบภาพประกอบนวนิยายหรือนิตยสารต่างๆ แล้วพาจ่าเชษฐ์ไปพบกับเหล่าทีมผู้สร้างหนังที่กำลังเฟ้นหาพระเอกใหม่ ซึ่งในตอนแรกหลายคนปฏิเสธหลังได้เจอตัวของเขา

 

แต่ในที่สุดก็มีทีมสร้างหนังสนใจจ่าเชษฐ์ให้มารับบทเป็นพระเอก นั่นคือ คุณรังสรรค์ ตันติวงศ์ (ภายหลังเป็นนายกสมาคมช่างภาพแห่งประเทศไทย) และ ประทีป โกมลภิศ ผู้กำกับแห่งทัศไนยภาพยนตร์ ที่กำลังเตรียมงานสร้างหนังเรื่อง ชาติเสือ ซึ่งกำลังหาคนมาสวมบทเป็นพระเอก โดยทางคุณ กิ่งแก้วประเสริฐ ก็พาจ่าเชษฐ์ไปทำความรู้จักกับคุณ สุรัตน์ พุกกะเวส เจ้าของนิตยสารดาราไทยผู้เป็นดั่งผู้ใหญ่ที่คนในวงการต่างให้เคารพ ซึ่งอีกฝ่ายจึงเสนอชื่อให้ทีมผู้สร้างหนังชาติเสือลองมาดูตัว ก่อนจะมีการนัดพบปะเป็นเรื่องเป็นราว

 

ในที่สุดเมื่อทีมผู้สร้างได้เจอกับจ่าเชษฐ์ ก็ตกลงและมอบบทพระเอกให้กับจ่าอากาศโทหนุ่มได้แสดง เท่ากับว่าหนังเรื่องชาติเสือพร้อมเปิดกล้องทันที แต่ว่าพวกเขาต้องช่วยกันคิดชื่อให้กับจ่าเซษฐ์ใหม่ไว้เป็นชื่อในวงการบันเทิงของเขา และจะเป็นชื่อที่จารึกไว้เป็นตำนานวงการบันเทิงตลอดไป

 

คุณประทีปจึงถามจ่าเซษฐ์เพียงสองคำถาม

“ในชีวิตที่ผ่านมา สิ่งใดที่ประทับใจมากที่สุด?” จ่าเชษฐ์ตอบว่า “ เพื่อนคือ สิ่งที่ประทับใจที่สุดตลอดชีวิต”

 

“ในชีวิตมีช่วงไหนภาคภูมิใจที่สุด?” จ่าเชษฐ์ตอบว่า “ การเป็นทหารเพราะว่า ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนอัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราช รู้สึกภูมิใจมากๆ”

 

คุณประทีปที่ได้ฟังคำตอบของจ่าเชษฐ์ ก่อนจะใช้เวลาไม่นานเขียนชื่อดาราใหม่ที่เรียบง่ายและทุกคนก็จะจดจำจำชื่อเขาในภายภาคหน้า ก่อนที่เขาจะมอบชื่อใหม่นี้ให้กับจ่าเชษฐ์และบอกว่า

 

“มิตร ชัยบัญชา คือชื่อใหม่ของคุณ!”

 

นับตั้งแต่นั้นมา ชื่อของ จ่าเชษฐ์ คือ มิตร ชัยบัญชา พระเอกหน้าใหม่ที่จะทำให้วงการบันเทิงไทยจะจดจำเขาไปอีกนานเท่านั้น

 

ชาติเสือ คือผลงานเรื่องแรกของ มิตร ชัยบัญชา เข้าฉายเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2501 ซึ่งทำรายได้รวมสมัยนั้น 7แสนบาท กลายเป็นผลงานเปิดตัวพระเอกคนใหม่ของวงการ

 

แล้วทำให้ทีมผู้สร้างของทัศไนยภาพยนตร์ มีกำลังใจที่จะให้มิตรรับบทเป็นพระเอกอีกครั้ง ซึ่งผลงานเรื่องต่อไปคือผลงานที่ทำให้ชื่อของ มิตร ชัยบัญชาเป็นที่จดจำในภายภาคหน้า

 

มิตร-ชัยบัญชา (6)

ในเวลานั้นก่อนจะมีเหล่าฮีโร่รวมพลังจากต่างประเทศนั้น ประเทศไทยเคยมีฮีโร่ขวัญใจชาวไทยอย่าง อินทรีแดง ผลงานปลายปากกาของนักเขียนอย่าง เศก ดุสิต มีแฟนๆติดตามมากมายรวมถึง มิตรเองที่ชอบนวนิยายเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะบทพระเอก ที่ฉากหน้าเป็นเศรษฐีหนุ่มเจ้าสำราญ แต่เมื่อเกิดเหตุร้ายเขาจึงเป็นอินทรีแดง ออกปราบปรามเหล่าร้าย ทำให้เขาบอกกับทีมผู้สร้างว่าอยากแสดงเป็นอินทรีแดง บ้างก็บอกว่าคุณรังสรรค์ได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับพระรูปหนึ่งซึ่งท่านชอบนิยายบู๊ และแนะนำให้สร้างหนังอินทรีแดงแล้วมอบบทพระเอกให้มิตรแสดง แต่ไม่ว่าเรื่องราวบันดาลใจแบบไหน แต่ มิตรและทีมผู้สร้างจึงเดินทางไปหาเจ้าของบทประพันธ์อย่าง คุณเศก ดุสิต เพื่อซื้อสิทธิ์ไปสร้างเป็นหนัง เมื่อเจ้าของบทประพันธ์ได้เจอกับมิตร เขาประทับใจในรูปร่างตรงตามภาพที่เขาต้องการคือ ดูดีมีสง่าและแข็งแกร่ง สมชายชาตรี ก่อนที่เจ้าบทประพันธ์รับรองว่า มิตรเป็นอินทรีแดงไร้ที่ติ สร้างขวัญกำลังใจให้กับทีมผู้สร้างตั้งใจจะสร้างออกมาให้ดีที่สุด

 

จ้าวนักเลง ผลงานเรื่องที่สองของมิตร เข้าฉายในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2502 ด้วยเนื้อหาที่แปลกใหม่ราวกับถอดแบบจากหนังสือ ทำให้มีคนตีตั๋วไปเข้าชม จนทำรายได้เกินล้านบาทซึ่งถือว่ามากในสมัยนั้น แถมผู้ชมยังได้หน้ากากอินทรีแดงแจกฟรี

 

ข้อสำคัญ จ้าวนักเลง ได้เปิดประตูความโด่งดังให้มิตร ชัยบัญชากลายเป็นพระเอกคนใหม่ที่ผู้ชมต่างรอเชยชมผลงานของเขาอย่างใจจดใจ่จ่อ แถม มิตรก็ยังได้บทบาทที่เขาชื่นชอบ

 

 

 

คู่ขวัญของวงการภาพยนตร์ไทย
มิตร-ชัยบัญชา (7)
ในยุคแรกๆมิตรมีผลงานให้แฟนๆๆได้เชยชม จนกระทั่งการมาของภาพยนตร์เรื่อง บันทึกรักพิมพ์ฉวี ที่มิตร ชัยบัญชาได้เจอกับนางเอกหน้าใหม่ชื่อว่า เพชรา เชาวราษฎร์ ซึ่งเมื่อหนังออกฉายปรากฏว่าผู้ชมต่างตอบรับและถูกใจบทบาทการแสดงของทั้งคู่ ด้วยรูปร่างและและหน้าตาของทั้งคู่ที่ส่งเสริมจุดเด่นซึ่งกันและกัน คนหนึ่งรูปหล่อคมเข้ม อีกคนหน้าหวาน ดวงตากลมมีประกายเหมือนหยาดน้ำผึ้ง เมื่อประชันบทบาทอะไรก็เกิดขึ้นได้ จนผู้ชมต่างรักและศรัทธายึดมั่นในพระนางคู่นี้ ทำให้ทั้งสองคนกลายเป็นดาราคู่ขวัญของวงการภาพยนตร์ไทย โดยมีผลงานแสดงร่วมกันกว่า 200เรื่อง โดยเรื่องสุดท้ายที่แสดงร่วมกัน คือ อินทรีทอง ในปีพ.ศ.2513

 

มีเรื่องเล่าสนุกๆว่า วงการหนังในยุคของ มิตร-เพชรา คือตัวกำหนดสายหนังที่ซื้อไปฉายตามจังหวัดต่างๆ จนทำให้ผู้อำนวยการสร้างต้องทำตามคำขอจากสายหนัง เพราะจะไม่ขาดทุน แล้วมีเรื่องเล่าอีกว่ามีแฟนหนังหลายคนที่ยอมเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อดูหนังที่ทั้งคู่แสดง

 

แต่ถ้าเป็นหนังที่ไม่ใช่มิตร-เพชรา แสดงก็จะเดินทางกลับในวันเดียวกัน แถมมีเรื่องเข้าใจผิดคิดว่า มิตร-เพชรา คือชื่อจริงของมิตรซะงั้น (ฮ่า!)

 

 

 

จากทหารอากาศสู่การเป็นนักแสดงขวัญใจประชาชน
มิตร-ชัยบัญชา (8)
ในยุคแรกของชีวิตการเป็นนักแสดง เขาต้องใช้ชีวิตสองบทบาทคือเป็นครูฝึกที่ทัพอากาศวันหยุดก็ไปแสดงหนัง ซึ่งทำให้เขาไม่ค่อยจะมีเวลาส่วนตัวไรนัก หากวันไหนตรงกับวันทำงานก็ต้องส่งใบลา จนในปี พ.ศ.2506 เมื่อมีการปรับเปลี่ยนโรงสร้างผู้บังคับบัญชาในกองทัพอากาศ ก็ได้ถามมิตรว่า เขาจะเลือดระหว่างเป็นทหารหรือนักแสดง ในที่สุดเขาจึงลาออกจากราชการแล้วยึดอาชีพเป็นนักแสดงอย่างเต็มตัว เขามีผลงานแสดงในแต่ละปีถึง 35-40 เรื่อง ซึ่งคิดเป็นเฉลี่ย 50% จากจำนวนหนังเข้าฉายในแต่ละปี ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดาจริงๆ และถ้าถามว่าเขามีเวลาได้พักไหมคำตอบคือ เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการถ่ายหนัง ซึ่งเขาจัดการตารางงานของตัวเอง โดยจะนัดคิวถ่ายหนังให้กับหนังที่เขาแสดง โดย 1 วัน แบ่ง 3 เวลา คือ เช้า-บ่าย-ค่ำ เรียกว่าทำงานกันตั้งแต่เช้าไปจบเช้าอีกวันกันเลยทีเดียว แต่เขาจะมีวันหยุดเพียงวันเดียวคือวันที่ 15 ของทุกเดือน

มิตร เป็นคนที่ทุ่มเทและจริงจังกับการแสดง ไม่เคยผิดนัด ไม่ท้อถอยแม้ว่าบทบาทจะยากและเสี่ยง เวลามีปัญหาก็พร้อมยินดียื่นมือช่วยเหลือ ช่วยแก้ปัญหาให้งานบรรลุเป้าหมาย และไม่เคยร้องขออะไรเพิ่ม เวลากินข้าวก็กินพร้อมทีมงาน ทีมงานกินอะไรเขาก็จะกินเหมือนกัน ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ

 

จุดสูงสุดอาชีพการแสดง
มิตร-ชัยบัญชา (9)
ตลอดช่วง 7-8ปี ที่มิตร ทุ่มเททำงานในวงการบันเทิงเพื่อมอบความสุขให้กับผู้ชม ซึ่งมีผลงานมากมายออกสู่สายตาผู้ชม จนการมาถึงผลงานเรื่อง เงิน เงิน เงิน หนังเสียง 35 มม. เรื่องแรกโดย ละโว้ภาพยนตร์ กลายเป็นผลงานทำเงินสูงสุดในยุคนั้น ทำให้ มิตร-เพชรา พระนางคู่ขวัญได้รับพระราชทานโล่เกียรตินิยมของสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิง ในงานมอบรางวัลตุ๊กตาทอง ประจำปี พ.ศ.2508 ในปีพ.ศ.2509 ในฐานะดาราหนังทำเงินสูงสุดประจำปี ก่อนที่หนังเรื่อง เพชรตัดเพชร ที่มิตร ได้ร่วมแสดงกับ ลือชัย นฤนาท เจ้าของรางวัลตุ๊กตาทองคนแรก จะโค่นแชมป์อย่างหนังเรื่อง เงิน เงิน เงิน ทำให้มิตรได้รับชื่อเสียงเพิ่มพูนมากขึ้น

 

จากนั้นในปี พ.ศ.2510 มิตร ชัยบัญชา ได้รับรางวัลพระราชทานโล่ ดาราทองสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากการโหวตของคนในวงการที่มอบให้กับคนที่ทำคุณประโยชน์ให้กับวงการบันเทิง ด้วย จากคุณสมบัติ 4 ประการ คือ ศรัทธา หน้าที่ ไมตรี และ น้ำใจ

 

น่าเสียดายที่เขาไม่เคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ซึ่งมีหลายเรื่องที่เขาได้บทบาทดีๆและใช้ความสามารถจนผู้ชมประทับใจและแสดงบทบาทออกมาได้เป็นธรรมชาติ เช่นบท ไอ้คล้าว ในหนังเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง

 

 

 

สู่บทบาทอื่นๆ
มิตร-ชัยบัญชา (10)
หลังจากที่มิตร ชัยบัญชาประสบความสำเร็จทั้งชื่อเสียงและเงินทอง ด้วยความที่เขาเป็นคนโอบอ้อมอารี และพร้อมจะช่วยเหลือเพื่อนๆ โดยได้ตั้งบริษัท สหชัยภาพยนตร์ เพื่อให้เพื่อนๆเป็นผู้อำนวยการสร้าง ส่วนเขาจะรับแสดงแบบฟรีๆ หากมีปัญหาเรื่องเงินทองก็พร้อมจะช่วยเหลือเต็มที่ ก่อนที่ในปี พ.ศ.2511 เขาตัดสินใจลงสนามการเมือง เพื่อหวังจะเป็นกระบอกเสียงเพื่อช่วยวงการภาพยนตร์ไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ

 

โดยธรรมชาติของมิตรนั้น เป็นคนชอบช่วยเหลือพรรคพวก ช่วยเหลือสังคม และให้ความสำคัญกับแฟนๆภาพยนตร์เห็นได้จากตอนวันปีใหม่ที่เขาจะเขียน ส.ค.ส ปีใหม่ส่งให้แฟนๆเป็นการขอบคุณที่อุ้มชูและสนับสนุนเขามาโดยตลอด นอกจากนี้ เขาเป็นคนแรกที่จัดงานทอดกฐินดาราเพื่อส่งเสริมความรักความสามัคคีของคนในวงการบันเทิง รวมถึงบริจาคเงินเพื่อการกุศล

 

มิตรลงสนามการเมืองครั้งแรกในการเลือกตั้ง ในสมาชิกสภาเทศบาล ในเขต สัมพันธวงศ์, บางรัก, ยานนาวา และ ป้อมปราบศัตรูพ่าย เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2511 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ก่อนที่เขาจะกลับมาลงเลือกตั้งสนามใหญ่นั่นคือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ.2512 ซึ่งเขามุ่งมั่นที่จะชนะจนต้องยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้คะแนน และช่วงนั้นทำให้เขารับงานแสดงตามที่ตกลงไว้ก่อนเลือกตั้ง และเป็นอีกครั้งที่เขาพ่ายเลือกตั้งไป ซึ่งรอบนี้เกือบจะทำให้เขาหมดตัว ก่อนที่เขาจะกลับมาทุ่มเทให้กับงานแสดงต่อไป

มิตร-ชัยบัญชา (11)
ในปี พ.ศ.2513 มิตรก็กลับมารับงานแสดง งานที่เขารักต่อซึ่งในปีนี้อาจเรียกว่า เป็นปีของเขา เพราะมีเหตุการณ์หลายๆอย่างเกิดขึ้นกับเขา แล้วยังเป็นฉากหลังเรื่องราวของหนังเรื่อง มนต์รักนักพากย์ของทาง Netflix (โปรโมตซะหน่อย ฮ่า!) โดยปีนี้นี่เองเขามีผลงานที่น่าจดจำที่สุดและเรียกว่าเป็นผลงานที่น่าจดจำก็คือ มนต์รักลูกทุ่ง ของครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ ซึ่งมิตรก็มีส่วนร่วมในงานเบื้องหลังและร้องเพลง 2 จาก 14 เพลง แสดงคู่กับ เพชรา เชาวราษฎร์ นางเอกคู่ขวัญ ซึ่งเมื่อเข้าฉายหนังประสบความสำเร็จฉายนานถึง 6 เดือน กวาดรายได้รวมทั่วประเทศถึง 13 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากในสมัยนั้น และทำให้ดาราคู่ขวัญอย่าง มิตร-เพชราโด่งดังกว่าครั้งไหนๆ แถมทำให้เพลงลูกทุ่งฮิตในกรุงเทพฯโดยเฉพาะเพลงประกอบหนังที่ใครๆก็ร้องได้หรือแค่ได้ยินก็อยากจะเต้น เช่น เพลงสิบหมื่น จนกลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของวงการหนังไทยก็ว่าได้

 

นอกจากนี้ มิตร ชัยบัญชา เป็นดาราไทยคนแรกๆที่ตอบรับงานแสดงในต่างประเทศด้วยการไปเล่นหนังที่ฮ่องกง 2-3เรื่อง อย่าง จอมดาบพิชัยยุทธ และ อัศวินดาบกายสิทธิ์ แถมหนังได้ไปฉายตามไชน่าทาวน์ทั่วโลก ซึ่งเขาหวังจะเป็นต้นแบบปูทางให้นักแสดงรุ่นน้องไปรับงานต่างประเทศมากขึ้น แล้วเขาก็มีความคิดที่จะสร้างโรงภาพยนตร์เพื่อให้หนังไทยได้ลืมตาอ้าปากเพราะในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ โรงหนังดี ๆ ใหญ่ ๆ ก็มักจะไปนำหนังต่างประเทศมาเข้าฉาย ในชื่อ โรงภาพยนตร์ชัยบัญชา

 

ซึ่งทุกอย่างดูเหมือนจะราบรื่น ถ้าหากไม่เกิดเหตุการณ์ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2513…

 

จากไปพร้อมกับตัวละครที่เขารัก
มิตร-ชัยบัญชา (12)
หากจะมีบทบาทหนึ่งที่ มิตร ชัยบัญชา รักและผูกพันตลอดอาชีพการแสดง แน่นอนว่าก็ต้องเป็นบทจอมโจรใจบุญนามว่า อินทรีแดง ซึ่งเขาแสดงเรื่อยมาตั้งแต่ จ้าวนักเลง หลังจากนั้นก็ได้รับบทบาทอินทรีแดง ตั้งแต่ ทับสมิงคลา, อวสานอินทรีแดง, ปีศาจดำ, จ้าวอินทรี และ อินทรีทอง ซึ่งเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายในชีวิตการแสดงของเขา

 

อินทรีคืนรัง เล่าเหตุการณ์เมื่อมี อินทรีแดงตัวปลอม ออกไล่ฆ่าผู้คนที่ตั้งตนเป็นศัตรูกลุ่มไผ่แดง ทำให้ โรม ฤทธิไกร พระเอกของเรื่องจึงต้องหวนกลับมามาผดุงความยุติธรรมในชุดใหม่นามว่า อินทรีทอง และหนังเรื่องนี้ยังเป็นการประเดิมงานกำกับการแสดงครั้งแรก ซึ่งเขาเปลี่ยนฉากจบจากของเดิมที่เป็นแบบ Happy Ending กลายเป็นโลดโผนด้วยการหลบหนีด้วยเฮลิคอปเตอร์และเปลี่ยนเป็นชุดอินทรีแดงให้ตำรวจได้เห็นว่าอินทรีแดงมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น!!

 

มีบันทึกเล่าว่า ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2513 มิตร ชัยบัญชา มีโปรแกรมคือมาทำหน้าที่ผู้กำกับในฉากตำรวจยกพลขึ้นบกฐานทัพของเหล่าร้าย รวมถึงถ่ายเจาะคิวเฉพาะของนางเอก ซึ่งรับบทโดย เพชรา เชาวราษฎร์ จนครบกำหนด ก่อนที่ช่วงค่ำจนถึงเช้าก็ไปเข้าถ่ายหนังตามคิวที่วางไว้จนครบ แต่ก็ทำให้เขาไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ก่อนจะเตรียมตัวกลับไปถ่ายทำเพื่อปิดกล้องหนังเรื่องอินทรีทองให้เสร็จสิ้นเรียบร้อย ที่หาดจอมเทียน

 

 

โดยแผนการถ่ายทำฉากจบนั้นจะถ่ายกันสองครั้ง

ครั้งแรกจะให้นักบิน (ที่แต่งตัวเป็นนางเอก)บังคับบินในระดับต่ำ จนมิตรสามารถยึดติดกับบันไดสลิง แล้วบินผ่านข้ามกล้อง ก่อนจะบินส่งกลับมายังจุดที่ได้กำกับไว้

 

ถ่ายครั้งที่สองจะใช้นักแสดงแทนหรือหุ่นที่เตรียมไว้ ผูกติดกับบันไดสลิงหรือให้นักแสดงเหยียบขั้นบันไดสลิงก็ได้แล้วบินสูงๆจนกล้องจับภาพระยะไกล ก็จะเห็นได้ว่าอินทรีแดงกำลังอยู่บนเหนือฟ้า
ซึ่งถ้านำสองฉากมารวมกันก็จะกลายเป็นฉากที่สมบูรณ์ตามที่มิตรต้องการนั่นเอง

 

แต่กว่าจะถ่ายทำก็ต้องรอชุดอินทรีแดงที่สั่งตัดไว้มาถึงก่อน เนื่องจากเกิดปัญหาผิดพลาดทางเทคนิค และ เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ก็มีเวลาจำกัดเพราะจะต้องใช้ทำภารกิจของกองบินตำรวจน้ำต่อไป

 

เมื่อชุดอินทรีแดงมาถึง มิตร ก็ทำการเปลี่ยนชุดเป็นอินทรีแดง และเตรียมงานขั้นสุดท้าย แต่ทว่าทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน เพราะเฮลิคอปเตอร์ได้พามิตรขึ้นไปบนท้องฟ้า ตัวเขาก็เริ่มรู้แล้วว่ามีข้อผิดพลาด

 

แต่เขาพยายามแก้ปัญหาด้วยการผูกสลิงให้มือจับบันไดให้แน่น แต่ด้วยสภาพลมที่แรงจนสลิงบาดข้อมือ (บาดแผลจากการถ่ายหนังเรื่องก่อนหน้านี้) ทำให้มิตรได้รับบาดเจ็บ ก่อนจะปล่อยมือและกางท่าแบบนักดิ่งพสุธาโดยจะตกลงบึง แต่สุดท้ายร่างของเขาก็ปักทิ่มลงมาอย่างรุนแรง จนทีมงานรีบเข้าไปดูเหตุการณ์ก่อนจะพาร่างของเขาไปส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

 

สุดท้าย “มิตร ชัยบัญชา” ก็ได้จากไปพร้อมกับบทบาทที่สร้างชื่อให้กับเขา

 

 

 มิตร-ชัยบัญชา (13)

งานศพมีการจัดขึ้นที่ วัดแคนางเลิ้ง ซึ่งบรรยากาศจากข่าวในวันนั้นและคำบอกเล่าคนเฒ่าคนแก่บอกเล่าให้ฟังว่าบรรยากาศงานศพของ มิตร ชัยบัญชา วันนั้นผู้คนนับหมื่นมากันที่วัดจนแน่นขนัด เพราะบางคนอยากมาเห็นกับตาตัวเองว่ามิตรได้จากไปจริงๆ บ้างก็หาว่าเอาเรื่องความตายมาล้อเล่น

 

จนทางวัดและเจ้าภาพงานศพจึงช่วยกันยกร่างของพระเอกตลอดกาลให้ทุกคนได้เห็นว่า ดาราขวัญใจของพวกเขาได้จากไปแล้วจริงๆ

นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการบันเทิงไทยครั้งสำคัญ แล้วยังเป็นงานศพของสามัญชนที่มคนมากที่สุด

 

ศพของมิตร ชัยบัญชา ตั้งบำเพ็ญกุศล 100วัน มีเจ้าภาพจัดภาพยนตร์ที่เขาแสดงฉายทุกวัน ก่อนจะถึงวันพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2514 เวลา 17.00 น. ณ วัดเทพศิรินทราวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

 

 

พระเอกในใจตลอดกาล
มิตร-ชัยบัญชา (14)
หลังจาก มิตร ชัยบัญชาได้เสียชีวิตบริเวณหาดดงตาล พัทยาใต้ ได้มีการสร้างศาลมิตร ชัยบัญชา ตรงบริเวณที่เสียชีวิต ต่อมาเมื่อมีการซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงแรม จึงได้ปรับปรุงสร้างเป็นศาลไม้สักขึ้นมาใหม่ ปัจจุบันอยู่ตรงข้ามสำนักงานสรรพากร หลังโรงแรมจอมเทียนปาล์มบีช บริเวณหาดจอมเทียน นอกจากนี้ยังมีการตั้งชื่อซอยมิตร ชัยบัญชา หรือ พัทยาซอย 17 บนถนนเทพประสิทธิ์อีกด้วย และในปี พ.ศ.2549 มีการสร้างอนุสรณ์สถาน มิตร ชัยบัญชา ที่วัดท่ากระเทียม อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ มิตรนั่นเอง

 

เรื่องราวของ มิตร ชัยบัญชา ยังคงเป็นที่กล่าวขานของวงการหนังไทย เหล่าแฟนคลับก็ยังคงมีการจัดงานรำลึกให้เขาทุกๆปี รวมถึงมีความพยายามที่จะค้นหาฟิลม์เก่าๆของหนังมิตรกลับมาบูรณะใหม่ ถึงแม้จะไม่มากแต่อย่างน้อยก็ทำให้คนรุ่นหลังได้เห็นเศษเสี่ยวช่วงยุคทองหนังไทยของมิตร ชัยบัญชา เขายังคงถูกกล่าวถึงตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าเพลง นิยาย หรือ ภาพยนตร์

 

เมื่อปี พ.ศ.2548 ได้มีการสร้างละครเรื่อง มิตร ชัยบัญชา มายาชีวิต ทางช่อง 7โดย บริษัท JSL จำกัด โดยได้ กอล์ฟ-อัครา อมาตยกุล รับบทเป็น มิตร และ ฝน ธนสุนทร รับบทเป็น เพชรา เชาวราษฎร์

มิตร-ชัยบัญชา (15)

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ปีพ.ศ.2566 ที่ผ่านมา Netflix และ อุ๋ย-นนทรี นิมิตบุตร ได้สร้างหนังเรื่อง มนต์รักนักพากย์ ว่าด้วยเรื่องราวของทีมพากย์หนังรถเร่ขายยาในยุคทองของหนัง มิตร ชัยบัญชา หากใครอยากเห็นช่วงเวลาวันวานในยุค มิตร-เพชรา ไปดูกันได้ครับผม

 

และทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของพระเอกตลอดกาล มิตร ชัยบัญชาที่นำมาฝากกันในวันนี้ หากมีข้อมูลขาดตก ผิดพลาดประการใด ก็ต้อง ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

 

มิตร ชัยบัญชา…มายาชีวิตของพระเอกตลอดกาล ก็ขอจบเพียงเท่านี้ สวัสดีครับ….

 

@P.PETTY

 

 

 

ข้อมูลประกอบ
- หนังสือ มิตร ชัยบัญชา พระเอกตลอดกาล โดย ท่านขุน บุญราศี
- นิตยสาร Filmmax ฉบับที่ 39 ประจำเดือนกันยายน พ.ศ.2553
- https://th.wikipedia.org/
- https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_20895
- https://www.matichon.co.th/entertainment/news_1703885
- http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2009/10/A8409105/A8409105.html
- https://www.blockdit.com/posts/5c5a7e128ca64b39b577c20e
- https://www.nationtv.tv/entertainment/378888957
- https://thematter.co/entertainment/movie/mitr-chaibancha-in-once-upon-a-star/214936