ออพเพนไฮเมอร์
แนวภาพยนตร์ : ดราม่า / ชีวิต
ผู้กำกับ : คริสโตเฟอร์ โนแลน
แสดงนำ : คิลเลียน เมอร์ฟี / โรเบิร์ต ดาวน์นี่ย์ จูเนียร์ / จอร์ช ฮาเนต / เจสัน คลาก / เคนเนธ บรานาห์ / ฟลอเลนซ์ พิวจ์
บริษัทผู้สร้าง : Universal Studio
เข้าฉาย : 20 กรกฎาคม 2023
เรื่องย่อ
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ดัดแปลงมาจากหนังสือรางวัลพูลิตเซอร์ “The Triumph and Tragedy of J. Robert Oppenheimer” โดย Kai Bird และ Martin J. Sherwin ที่ว่าด้วยอัตชีวประวัติของ เจ โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ ผู้ให้กำเนิดระเบิดนิวเคลียร์
หนังเล่าเรื่องราวของ ออพเพนไฮเมอร์ นักฟิสิกส์ที่มีปัญหาในตัวเองมากมาย ทั้งอาการที่ไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอย หมกมุ่นกับทฤษฎี และยังเป็นเสือผู้หญิงตัวยง แต่เขาก็เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิทยาศาสตร์ว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดของยุค ไล่เลี่ยกับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
แต่ปัญหาชีวิตของเขา ถูกมองข้ามไปด้วยความปราดเปรื่อง เมื่อเขาถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ขอความช่วยเหลือให้หาหนทางยุติสงครามโลกครั้งที่สอง จากการค้นคว้าเชิงทฤษฎี โดยเน้นการใช้กลศาสตร์ควอนตัม ศึกษาธรรมชาติของนิวเคลียสในอะตอมที่เขาถนัด ต่อยอดจากข่าวกรองมากมายที่กองเต็มโต๊ะ ในที่สุด ก็นำไปสู่การค้นพบอาวุธทำลายล้าง ที่รุนแรงจนทุกผ่ายต้องกลัวอานุภาพของมัน
“ตอนนี้ผมได้กลายเป็นผู้นำพามาซึ่งความตาย กลายเป็นผู้ซึ่งนำหายนะมาสู่โลก” เป็นประโยคที่นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ผู้เป็นบิดาแห่งระเบิดปรมาณูอย่าง J. Robert Oppenheimer ได้เอ่ยออกมา หลังจากที่เขาได้เห็นการระเบิดครั้งแรกของอาวุธมหาประลัยชนิดนี้ และหนังจะพาคุณเข้าสู่โลกความคิดที่ซับซ้อน อารมณ์ที่ยากถึง ปัญหาชีวิต และการเมือง ที่รวมกันในหนัง 3 ชั่วโมงเรื่องนี้
REVIEW
ความนึกคิดที่ซับซ้อนของนักฟิสิกส์ในตำนาน สู่การถ่ายทอดในรูปแบบภาพยนตร์
โนแลนทำหนังสนองนี้ดตัวเองออกมาได้มีชั้นเชิง ลุ่มลึก
แต่ไม่ใช่หนังที่คุณจะมาดูเพื่อความบันเทิงแน่นอน
ตัวหนังเล่าเรื่องตัวตนของ เจ โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ ในแง่มุมของมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขามีอารมณ์แบบไหน อีกทั้งยังเล่าเรื่องราวไม่เป็นเส้นตรง สลับไทม์ไลน์อีรุงตุงนังมาก
ไทม์ไลน์หลักของเรื่อง จะมี 3 เหตุการณ์ใหญ่ ได้แก่
-การไต่สวน “ลูอิส สเตราส์” (โรเบิร์ต ดาวน์นี่ย์ จูเนียร์) ประธานของสำนักงานพลังงานปรมาณูแห่งชาติ (Atomic Energy Commission : AEC) ที่เกี่ยวข้องกับความคลางแคลงใจในตัว ออพเพนไฮเมอร์
-เรื่องราวของ ออพเพนไฮเมอร์ ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาที่เคมบริดจ์ ในสาขาฟิสิกส์เชิงทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม จนนำไปสู่การทดลองปรมาณูลูกแรกใน “โครงการแมนแฮตตัน” ที่บริเวณ ลอสอาลาโมส รัฐนิวเม็กซิโก
-การไต่สวนพิจารณาคดีของ “ออพเพนไฮเมอร์ “ในปี 1954 ซึ่งคณะกรรมการของคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูจะซักถามเขาเกี่ยวกับชีวิต ที่รัฐบาลคลางแคลงใจในอุดมการณ์ความจงรักภักดีต่ออเมริกา เพราะคนรอบตัวของเขา ล้วนแต่เป็นคนของพวกแนวคิดคอมมิวนิสท์ , สายของรัสเซีย และหลายๆอย่างที่อาจจะมีส่วนของสงครามเย็นในช่วงปลายยุคสงครามโลก…จนต้องมีการเบิกตัวคนใกล้ชิด และเพื่อนร่วมงานมาให้ปากคำไปต่างๆนาๆ…
แต่ทั้งหมด ไม่ได้ถูกเล่าเป็นเส้นตรง มันถูกเล่าสลับไปมาอย่างมีนัยยะสำคัญ ว่าถ้าทำสิ่งหนึ่งแล้ว จะส่งผลต่อชีวิตไปในทางไหนยังไง ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ คุณ “ห้ามหลุดโฟกัสในบทสนทนาเลยแม้แต่น้อย” หนัง 3 ชั่วโมง จะประเคนบทสนทนา การสืบสวน การเล่าเรื่อง และสถานการณ์ที่ถ้าวูบหลับ อาจจะดูไม่รู้เรื่องก็เป็นได้ …ซึ่งนั้น เป็นกรณีของคนที่ไม่ได้ทำการบ้านมาเลย!
แต่ถ้าคุณได้ลองศึกษาชีวประวัติของ เจ โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ ผู้ให้กำเนิดระเบิดนิวเคลียร์ เอาแบบตั้งแต่เรียน ยันแก่ตาย และหลังจากนั้นไปหลายๆปี พร้อมกับพอเข้าใขทฤษฎีสัมพันธภาพ และฟิสิก์กลศาสตร์ แล้วจะเก็ตกับเนื้อหาหนัง แม้คุณจะวูบหลับไปบ้างก็ตาม
ซึ่งเราแนะนำให้คุณอ่านผ่านวิกิ ที่รวบรัดตัดความและย่อยง่าย ครบแล้ว >> คลิก
มาถึงข้อดีของหนังกันบ้าง ด้วยการที่รับชมผ่านระบบ IMAX เรียกว่า งานภาพ เต็มสเกลจอ คมชัดจัดจ้าน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสี หรือขาวดำ(ในบางช่วง เอาน่ะ หนังมีเหตุผลของมันในแง่ของการแยกเส้นเวลา) ตัวหนังถ่ายทอดงานศิลปะบนแผ่นฟิล์มได้ถึงลูกถึงคนมากๆ (คุณสามารถเซฟสกรีนชอตสวยๆได้เพียบ ถ้าวันไหนลงสตรีมมิ่งอะนะ)
หากบอกว่ากล้อง IMAX ถ่ายทั้งเรื่องได้ไง? ในเมื่อหนัง1เรื่องมันมีหลายมุมกล้อง ไม่ได้แค่เก็บภาพกว้างใหญ่อย่างเดียว ยังมีโคลสอัพด้วย..
จุดนี้ สเด็จพ่อโนแลน แกคิดมาแล้ว เลยสั่งทำเลนส์พิเศษสำหรับทุกช่วงระยะงานภาพ ซึ่งนั่นทำให้เราได้เห็น “แววตา” ของ ออพเพนไฮเมอร์ ที่แสดงโดย คิลเลียน เมอร์ฟี ได้แบบชัดๆ เราได้เห็นพลังการแสดงแบบเต็มจอ ที่ส่งผ่านความลึกลับ เดาทางไม่ได้ ไม่มีใครรู้จิตใจของเขาเลยตามคำบอกเล่าของผู้ใกล้ชิดตัวจริงจนต้องมาลงในหนังสือ
และงานภาพยังมีเอกลักษณ์คือ จังหวะที่โคลสอัพหน้าจะชัดคม ฉากหลังจะติดเบลอ และทำให้ตัวละครเด่นกว่าฉากอย่างชัดเจน และมันถูกใช้ในซีนอารมณ์ ความนึกคิดของตัวละครเยอะมากๆ…พอๆกับฉากที่ “จำลองมวลสารอะตอม” ที่เป็นการเซตอัพด้วยมือ และตั้งกล้องถ่ายแบบอนาล๊อกไม่ใช่การสร้างด้วย CG ทำให้งานภาพ ดู “จริง” และ “แน่นมากๆ”
จน โฮยเตอ ฟัน โฮยเตอมา ผู้กำกับภาพชาวดัตช์-สวีเดน ถึงกับเคยบอกว่า “โนแลนคลั่งไคล้กล้อง IMAX จนไม่อยากจากไปไหนกันเลย”
และพลังการแสดงของ ป๋า RDJ สุดจริง ลืมภาพว่าเคยใส่เกราะไอรอนแมนเลย แกเอาอยู่มากๆ ในบทของ ลูอิส สเตราส์ ผู้หมั่นหน้า ออพเพนไฮเมอร์ และดูแล้วนึกถึง สว.บางประเทศที่ดูจะขัดแข้งขัดขาชาวบ้านไปซะทุกเรื่อง จนอยากเดินไปหยุมหัวซักที!…
ถ้าให้สรุป…นี่ตือหนังดี ที่ไม่เหมาะกับทุกคนที่มาดูหนังเพื่อความบันเทิงเลยซักนิด
เป็นหนังที่คุณมาเสพงานศิลปะ ทั้งภาพ และเสียงที่อื้ออึง เดือดพล่านกับงานระเบิดโลกครั้งนี้
พร้อมกับละเมียดไปในการนำเสนอเรื่องราวที่คุณต้องไปต่อติดเอาเอง…
เป็น 3 ชั่วโมงเต็ม ที่เหมือนนั่งดูประชุมสภา แต่มีคัตซีนนิดหน่อย 5555
แอดมิน Ak47