เพราะเครื่อง PS4 ไม่ใช่เครื่องเกมส์ราคาถูกๆ ถ้าใครคิดจะซื้อแนะนำให้อ่านบทความนี้ซะก่อน ไม่งั้นจะหาว่าไม่เตือนนะครับ
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนนะครับ ว่าตัวผมเองเป็นคนที่รักงานอดิเรกแบบนี้ และไปเดินเที่ยวสะพานเหล็กบ่อย เลยมีพอจะมีข้อมูลเรื่องพวกนี้เยอะ ด้วยเหตุนี้เลยเปิดเว็บ metalbridges.com ขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารสำหรับคนที่ชอบงานอดิเรกแนวนี้เหมือนกัน การที่จะมาเชียร์ร้านไหนจนออกนอกหน้านั้นไม่มีอยู่แล้วครับ ร้านไหนของOK ราคาดี ผมก็เลือกซื้อร้านนั้นแหละ
และครั้งนี้ก็ได้เวลาที่จะซื้อ PS4 มาเป็นของตัวเองซักที หลังจากยืมเครื่องคนอื่นมาใช้รีวิวเกมส์ซะนาน และก่อนตัดสินใจไปซื้อก็ได้หาข้อมูลเช็คราคาร้านในอินเตอร์เน็ตอีกครั้ง ขนาดว่าผมเดินสำรวจตลาดเพื่ออัพเดทราคาลงในเว็บทุกเดือนอยู่แล้วนะ ผมยังต้องเช็คราคาซ้ำอีกทีเลย เพื่อความชัวร์
เมื่อมั่นใจในข้อมูลแล้วก็มุ่งหน้าสู่สะพานเหล็กกันเลยครับ เหตุผลที่ทำไมผมไม่เลือกซื้อเครื่องเกมส์ที่ร้านบนห้างก็เพราะเรื่องกลไกตลาดครับ ค่าเช่าที่ ที่แพงมีผลต่อการตั้งราคาสินค้าหน้าร้าน ยิ่งสินค้าราคาสูง ก็ยิ่งมีผลด้านราคามาก แต่ถ้าเป็นแผ่นเกมส์ผมก็ไปซื้อบนห้างบ่อยนะเพราะราคาไม่ต่างกันมากหรอก สะดวกดีด้วย
ไปถึงสะพานเหล็ก “อย่าใจร้อนครับ” ค่อยๆเดินเช็คราคาไปทีละร้าน เดินรอบสะพานเหล็กใช้เวลาไม่นานหรอก (ตึกเมก้าพลาซ่า ตึกออเววัน สะพานเหล็กสเตชั่น) แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องชัดเจนก่อนคือ
1. เราจะมาซื้อเครื่องอะไร
2. เครื่องนี้เล่นยังไง
3. อุปกรณ์ที่เล่นกับเครื่องนี้มีอะไร ต้องซื้อแผ่นด้วยไหม
อย่าเดินไปแบบไม่รู้อะไรเลย เพราะอาจจะโดนรับน้องได้นะครับ ถ้าไม่รู้จริงๆก็ปรึกษามาที่แฟนเพจเราก็ได้ครับ Click
ส่วนวันที่ผมไปซื้อ PS4 ก็เดินรอบสะพานเหล็กเหมือนเดิมครับ ถามราคาเกือบทุกร้านที่เดินผ่าน พอรู้ราคาแล้วก็ขอบคุณเขาซักหน่อย แล้วก็ไปต่อครับ อย่าพึ่งไปถามอะไรมากเด๋วจะโดนหว่านล้อมจนพลาดร้านที่ดีกว่า เงินอยู่กับเราครับไม่มีใครบังคับให้ซื้อ เดิน 1 รอบรู้ราคาร้านที่เราพอใจแล้วก็ตรงไปที่ร้านนั้นเลยครับ จากนั้นขอดูเครื่องที่เราจะซื้อได้เลย
สำหรับวิธีเลือกดูเครื่อง PS4 ว่าสภาพดี ของใหม่มือ1 และน่าไว้ใจมีดังนี้ครับ
1. กลองพับแนบชิด ขอบไม่เงิบ มุมไม่ยุบ
ให้สังเกตุกล่องตัวเครื่องก่อนแกะกล่อง สถาพโดยรอบจะต้องเรียบร้อย สังเกตุรอยพับสอดประกอบควรจะแนบชิดแน่นหนา ไม่เงิบออกมาแบบปิดไม่สนิท เพราะนั่นหมายถึงเครื่องกล่องนี้ได้ถูกเปิดออกมาทำอะไรซักอย่างก่อนหน้านี้ คำถามคือทางร้านจะเปิดทำไม เปิดออกเพื่ออะไร ถ้าได้คำตอบที่พอฟังขึ้นก็แล้วไป อีกจุดคือมุมของกล่องต้องไม่ยุบ เพราะนั่นหมายถึงเครื่องกล่องนี้เคยหล่นกระแทกมาก่อนซึ่งอาจมีปัญหาได้
2. เปิดดูเครื่องสภาพใหม่กริ๊บ
เมื่อเปิดกล่องออกมาสังเกตุให้ดีๆ ตัวเครื่องต้องห่อไว้ด้วยแผ่นกันกระแทก และสังเกตุตัวเครื่องส่วนที่เป็นสีดำเงา (ตรงที่กันดั้มเหยียบ) จะต้องเงาใสปิ้งเหมือนส่องกระจก ไม่มีรอยนิ้วมือ ไม่มีรอยขนแมว ก็มั่นใจว่าเป็นเครื่องใหม่ซิงๆได้ระดับหนึ่งแต่ต้องดูกันต่อไป สำหรับรุ่น CUH1200 เป็นสีด้านคงเช็คอะไรมากไม่ได้
3. เลขเครื่องตรงกับเลขกล่อง
พลิกดูที่ใต้เครื่องจะมีตัวเลขเป็นชุดอยู่ด้านล่างบาร์โค๊ท ให้พลิกด้านล่างของกล่องดูจะมีเลขเป็นชุดอยู่ด้านล่างบาร์โค๊ทเช่นกัน ซึ่งตัวเลขทั้ง2จุดจะต้องตรงกัน ถ้าไม่ตรงก็แปลว่าได้มีการสลับเครื่องกับกล่องด้วยเหตุผลบางประการ ก็ต้องถามร้านดู ถ้าได้คำตอบที่พอฟังขึ้นก็แล้วไป แต่ถ้าเป็นผมเจอเลขเครื่องไม่ตรงกับกล่อง ก็ไม่ซื้ออย่างแน่นอน
4. จอยใหม่ต้องมีพลาสติกแป๊ะ รอยประกบไม่เงิบ
จอยเกมส์ก็เป็นอีกจุดที่อาจจะโดนสลับเปลี่ยนเอาของเก่าของก๊อบมาใส่แทน จุดสังเกตุว่าเป็นของใหม่คือจะมีแผ่นพลาสติกใส่แป๊ะอยู่ที่ปุ่มกดทั้ง 2 ฝั่ง
จอยแท้สังเกตุพื้นผิววัสดุจะติดมือจับแล้วรู้สึกดี รู้ได้เลยว่านี่คือของแพง และรอยประกบจะต้องแนบชิดสนิทกันไม่เงิบ ไม่เหลือม เวลาลูบตรงรอยต่อจะไม่มีคมสะดุดเวลาลูบ
5. ตรวจเช็คอุปกรณ์ในกล่อง
แกะกล่องออกมาแล้วนับจำนวนอุปกรณ์ที่แถมมาว่าครบไหม สังเกตุได้จากข้างกล่องจะมีบอกว่า เครื่องแถมอุปกรณ์อะไรให้บ้าง ซึ่งชุดมาตรฐานของ PS4 จะมี สาย HDMI , สายชาร์ตUSB , สายปลั๊กไฟ , หูฟังPS4 และคู่มือในถุงพลาสติกซิลปิดสนิท โดยสายทั้งหมดจะต้องพันเรียงตัวกันสวยงามเป็นระเบียบเหมือนออกจากโรงงาน และใส่อยู่ในถุงพลาสติกเรียบร้อย
6. มั่นใจ 50% เทสเปิดเครื่องได้
ในจุดนี้ขอแนะนำว่าเราควรมั่นใจในระดับหนึ่งก่อนขอทางร้านเปิดเทสเครื่อง เพราะถ้าเปิดแล้ว เทสผ่าน OK ทุกอย่าง แต่สุดท้ายดันเปลี่ยนใจไม่เอา นั้นเท่ากับเครื่องนั้นได้ถูกเปิดใช้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และถ้าคุณไม่เอา ร้านก็ต้องเก็บเอาไว้ขายให้คนอื่นต่อทั้งที่เครื่องนี้ถูกเปิดใช้งานไปแล้ว ก็ดูจะไม่ยุติธรรมกับทางร้านและคนที่ได้เครื่องนั้นไปเท่าไร
สังเกตุให้ดี เมื่อเปิดเครื่องครั้งแรกจะต้องแสดงหน้าจอตามภาพนี้ ถ้าไม่ใช่หน้าจอนี้แต่เป็นหน้าเลือก USER นั้นแปลว่าเครื่องนี้ได้ถูกเปิดใช้งานมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็ต้องถามร้านดู ถ้าได้คำตอบที่พอฟังขึ้นก็แล้วไป แต่ในจุดนี้ขอบอกเป็นเกร็ดความรู้ว่าต่อให้เคยเปิดเครื่องใช้งานมาแล้วก็ยังสามารถรีเซ็ทเครื่องกลับเป็นค่าโรงงานได้เช่นกัน แต่ส่วนนึงถ้าเปิดมาแล้วไม่ใช่หน้าจอนี้ ก็มั่นใจได้ว่าเครื่องนี้ไม่ใหม่จริง ก็แล้วแต่ว่าคุณจะเลือกไปต่อไหม
6. ทดสอบเชื่อมต่อ WIFI สมัครสมาชิก
เข้าสู่ขั้นตอนนี้ก็มั่นใจที่จะซื้อเครื่องได้ 80%แล้ว ก็ให้ลองต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ตดู สมัครสมาชิก PSN ให้เรียบร้อย ถ้าทางร้านบอกว่าสมัครง่ายทำเองที่บ้านก็ได้อย่าไปเชื่อมาก สำหรับคนที่ทำไม่เป็น ก็เรียกว่ายากเลยแหละ สมัครไปให้เสร็จทีเดียวจะได้เป็นการเทสการใช้งาน WIFI ด้วย พอกลับไปเล่นที่บ้าน เราก็สามารถโหลดเกมส์เล่นเองได้เลย เหมือนโหลดเกมส์มือถือนั่นแหละ
7. ทดสอบเปิดเกมส์จากแผ่น
เข้าสู่ขั้นตอนนี้ก็มั่นใจที่จะซื้อเครื่องได้ 90%แล้ว ให้เลือกซื้อเกมส์ที่จะเล่นมาซัก1เกมส์ แล้วลองเปิดเทสกับเครื่องดู ให้สังเกตุเสียงอ่านแผ่น ถ้าเครื่องหมุนเสียงดังจนผิดปรกติก็คงต้องคุยกันใหม่ละ แต่เรื่องอ่านแผ่นถ้ามีปัญหารับรองว่าเกิดผลเสียในระยะยาวแน่นอน แต่ถ้าเปิดเล่นได้ปรกติก็ไม่ปัญหาอะไรแล้ว
บทความแนะนำวิธีใช้งานและรวมรายชื่อเกมสน่าเล่นทั้งหมดของ PS4 Click
เกมส์ไหนน่าเล่น เว็บเรารีวิวให้อ่านกันตลอดคลิ๊กตรงนี้ได้เลย Click
8. รับประกันสินค้าเพื่อความมั่นใจหลังจ่ายเงิน
ขั้นตอนสุดท้ายหลังจากจ่ายเงินเสร็จเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมขอใบรับประกันสินค้า ซึ่งจุดนี้ขออธิบายเป็นเกร็ดความรู้เรื่องการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อออกจากโรงงานจะมีการตรวจสอบมาตรฐาน QC ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็มีความเข้มงวดไม่เท่ากัน มันมีโอกาสเป็นไปได้ว่าเครื่อง 1 ใน 1,000 อาจจะมีปัญหา และเครื่องนั้นอาจซวยกลายเป็นเครื่องที่เราซื้อพอดี การรับประกันหลังการขายจึงเป็นเรื่องสำคัญ
แต่สำหรับเครื่องเกมส์บ้านเราที่ไม่มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ดังนั้นเครื่องเกมส์ส่วนใหญ่ไม่เป็นเครื่องหิ้วญี่ปุ่น ก็เป็นเครื่องรับมาขายจากสิงคโปร์ การจะไปเขาศูนย์บริการที่ญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์อาจจะลำบาก ทางร้านที่ขายจึงต้องรับประกันคุณภาพเอง ซึ่งแต่ละร้านก็ให้บริการแตกต่างกันไป ถ้าเครื่องส่งซ่อมที่ร้านก็แน่นอนว่าไม่ใช่ช่างจาก Sony , Microsoft หรือ Nintendo อย่างแน่นอน แต่คือช่างบ้านเรานี่แหละ ก็อาจจะมีความผิดพลาดกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา
ทางที่ดีคือเลือกซื้อจากร้านที่รับประกันแบบเปลี่ยนเครื่องที่มีปัญหาให้ทันทีภายในระยะเวลาที่กำหนด จะ 3-7วัน ก็ยังดี แต่ก็มีหลายร้านที่รับประกันซ่อมให้ฟรีแบบไม่คิดค่าแรงแต่คิดค่าอะไหล่นะ แบบนี้เอาจริงๆก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลยนี่หว่า
แต่สำหรับเครื่อง Sony จะแบ่งศูนย์บริการเป็นโซน อย่างบ้านเราจะเป็นโซน 6 Southeast Asia ถ้าซื้อเครื่องศูนย์ที่อยู่ในพื้นที่นี่ก็สามารถเข้ารับบริการที่ศูนย์พื้นที่เดียวกันได้หมด หมายถึงเครื่องสิงค์โปรที่มีรหัสเครื่อง CUH 1206 ก็สามารถเข้ารับบริการที่ศูนย์ไทยได้เช่นกัน แต่ถ้าเป็นเครื่องจากญี่ปุ่นหรืออเมริกาถ้าเครื่องพังอยากซ่อมที่ศูนย์ก็ต้องบินไปซ่อมกันที่ต่างประเทศนะครับ
สำหรับคนที่สนใจเลือกซื้อเครื่องเกมส์แต่ยังไม่มั่นใจลองสอบถามเข้าที่แฟนเพจของพวกเราได้ครับ ยินดีตอบให้ทุกข้อสงสัยครับ
By WebMaster
(Sony มีศูนย์บริการที่ไทย แต่เครื่องศูนย์ไทยแพง แถม PSN ง่อยมาก อย่างน้อยทำให้มันรองรับภาษาไทยหน่อยซิ)
-
BEYBLADE X : 10 ตัวน่าซื้อ ของมันต้องมีในปี 2024
#beybladex #kctoysbeybladex #beybladexthailand
-
KARATE KID: LEGENDS [เรื่องย่อ / ตัวอย่าง / หนังใหม่ /2025]
#KarateKidMovie #KarateKi #เฉินหลง #JackieChan
-
20 ตัวละครจากเกมยอดนิยมที่ถูกค้นหามากที่สุดในเวปไซต์สำหรับผู้ใหญ่ 2024
#Ranking #website #Games #PC #Console