เปิดแฟ้มลับพยัคฆ์ร้าย 007 กับ 6 นักแสดง เจมส์ บอนด์
10 อันดับวายร้ายจอมโหดของ เจมส์ บอนด์ 007
ย้อนดู10เกมสายลับ007 ก่อนไปลุยภารกิจสุดโหดใน No Time to Die
หลังจากที่รอคอยมานานเพราะโควิด19 ตอนนี้โรงหนังก็สามารถเปิดให้บริการอีกครั้ง แน่นอนว่าหนังหลายเรื่องที่ถูกเลื่อนไปก็จะได้ฉายสู่สายตาผู้ชมแน่นอน หนึ่งในนั้นคือหนังสายลับเจ้าเสน่ห์อย่าง เจมส์ บอนด์ เจ้าของรหัสสังหาร 007 ก็จะกลับมาลุยภารกิจครั้งสำคัญใน No Time to Die หรือชื่อไทย พยัคฆ์ร้ายฝ่าเวลามรณะ หนังลำดับที่25 ของหนังชุดสายลับเจ้าเสน่ห์ที่ความน่าสนใจคือ การรับบท เจมส์ บอนด์ ครั้งสุดท้ายของ แดเนี่ยล เคร็ก ที่ขอจัดหนักจัดเต็มเป็นการทิ้งทวนหลังจากได้ลุยภารกิจมาแล้วถึง 4 ครั้ง ซึ่งหนังจะเข้าฉายในวันที่ 7 ตุลาคมที่จะถึงนี้ แต่ก่อนที่จะไปสนุกและลุ้นภารกิจเสี่ยงตาย เราจะพาทุกคนไปดูเรื่องราวและเกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจของหนังชุดนี้เป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนไปดูหนัง ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยครับผม..
1.) Ian Fleming บิดาของสายลับ 007
เจมส์ บอนด์ (James Bond) สายลับเจ้าเสน่ห์แห่งหน่วยงาน MI6 เจ้าของรหัสสังหาร007 ที่มีภาพจำคือชายในชุดทักซิโด้ รายล้อมไปด้วยสาวๆ มีอาวุธครบมือ ซึ่งเป็นที่จดจำของแฟนๆมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งผู้ที่เปรียบเสมือนบิดาของสายลับเจ้าเสน่ห์คนนี้จะต้องนึกถึง เอียน เฟลมมิ่ง ผู้สร้างสรรค์เรื่องราวจากปลายปากกาสู่ภารกิจเหนือจินตนาการจนผู้อ่านชื่นชอบก่อนจะต่อยอดสู่ภาพยนตร์สายลับที่ครองใจผู้ชมทั้งโลก โดยหนังสือนวนิยายชุด เจมส์ บอนด์ ของเฟลมมิ่งมีจำนวนทั้งหมด 14 เล่ม โดยแบ่งเป็นนวนิยาย 12 เล่ม และ เรื่องสั้น 2 เล่ม โดยผลงานชิ้นแรกคือ Casino Royale ตีพิมพ์ในปี1953
เขาใช้เวลาเขียนหนังสือทุกปีโดยใช้เวลาว่างจากการทำงานผูกเรื่องราว ก่อนจะพักร้อนเพื่อเดินทางไปยังบ้านพักตากอากาศที่จาไมก้าและเรียบเรียงออกมาเป็นนิยายอย่างสมบูรณ์ เฟลมมิ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ปี1964 หลังจากนั้นก็มีนักเขียนหลายคนได้เข้ามาสานต่อเรื่องราวของเจมส์ บอนด์ออกมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน
เรื่องราวของเขาถูกสร้างถึงสองครั้งโดยครั้งแรกในหนังที่ฉายทางทีวีเรื่อง Goldeneye: The Secret Life of Ian Fleming ในปี1989 และอีกครั้งในปี2014 ในมินิซีรีส์ของทางBBC ในชื่อ Fleming: The Man Who Would Be Bond ซึ่งเรื่องหลังมีดัดแปลงเนื้อหาโดยอ้างอิงจากเหตุการณ์ช่วงที่เฟลมมิ่งรับราชการอยู่หน่วยข่าวกรองของกองทัพเรือ
2.) ที่มาของสายลับชื่อ James Bond
จากแหล่งข้อมูลมากมายว่าด้วยเรื่องราวของการสร้างตัวละครสายลับเจ้าเสน่ห์ โดยเขาได้ต้นแบบมาจากคนคุ้นเคยที่ได้ร่วมงานกับเขา รวมถึงเพื่อนสนิทที่เป็นสายลับด้วยกันบวกกับสไตล์ชีวิตของตัวเฟลมมิ่งเอง จนได้ออกมาเป็นสายลับที่เรารู้จักเป็นอย่างดี จนเมื่อต้องตั้งชื่อให้กับสายลับผู้นี้ เขาได้สะดุดตากับหนังสือคู่มือการดูนกที่เขียนโดย เจมส์ บอนด์ (หนังสือชื่อ Birds of the West Indies) ซึ่งเป็นชื่อที่จำง่าย จึงตัดสินใจมอบชื่อนี้ให้กับยอดสายลับของเขาในที่สุด
3.) ว่าด้วยเรื่อง’อายุ’ของสายลับ 007
ต้องบอกว่าหนังชุด เจมส์ บอนด์ เป็นหนึ่งในหนังชุดที่มีการสร้างอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ผ่านนักแสดงทั้ง 6 คน ทำให้เหล่านักประวัติศาสตร์และแฟนเดนตายต่างทำตารางลำดับชีวิตเพื่อกะคะเนอายุของสายลับคนนี้ เพราะด้วยความที่ตัวละครไร้ซึ่งกาลเวลาทำให้ช่วงชีวิตเลยไม่สอดคล้องตามช่วงเวลานั้นๆ ก่อนที่ผู้เขียนอย่างเอียน เฟลมมิ่งเคยเผยถึงเรื่องนี้ว่า เจมส์ บอนด์ เป็นตัวละครไร้ซึ่งกาลเวลา สามารถอยู่ได้ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะปรากฏตัวที่ใดเขาจะเป็นสายลับเจ้าเสน่ห์ วัย30ปี นั่นเอง…
4.) ที่มาของการได้รหัสสังหาร 007
เส้นทางสู่สายลับแห่งหน่วยสืบราชการลับ MI6 มีหลายตำนานที่พูดถึงการได้มาของรหัสสังหาร 007 ซึ่ง เอียน เฟลมมิ่ง ไม่เคยให้รายละเอียดอย่างกระจ่างแจ้ง แต่มีการกล่าวถึงสั้นๆในนวนิยายตอน Casino Royale ได้กล่าวว่า เขาได้รหัสสังหารจากการกำจัดผู้เชี่ยวชาญด้านรหัสชาวญี่ปุ่นกับสายลับชาวนอร์เวย์ที่ทำงานให้กับเยอรมัน แต่เมื่อถูกสร้างเป็นหนังในชื่อเดียวกันในปี 2006 ที่เป็นการยกเครื่องสายลับใหม่หมด โดยฉากเปิดเรื่องเราได้เห็นเขากำจัดเป้าหมายสองคนอย่างเลือดเย็น จนได้รหัสสังหารในที่สุด
5.) มีนักแสดง 6 คนที่ได้เป็น เจมส์ บอนด์
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทสายลับเจ้าเสน่ห์นั้นถือเป็นความใฝ่ฝันของชายหนุ่มหลายคนทั่วโลกก็ว่าได้ เพราะว่าภาพของสายลับที่ได้ลุยในภารกิจเสี่ยงตายทั่วทุกมุมโลก มีชีวิตโลดโผน มีทั้งรถสปอร์ตสุดเท่และมีสาวๆรายล้อม พร้อมวลีแนะนำตัวสั้นๆแบบเท่ๆว่า “ผมชื่อ บอนด์…เจมส์ บอนด์” ช่างเป็นอะไรที่น่าอิจฉาซะเหลือเกิน นับตั้งแต่หนังเจมส์ บอนด์ถือกำเนิดขึ้นมีนักแสดง 6 คน ที่ได้มีโอกาสโลดแล่นรับบทเป็นสายลับเจ้าเสน่ห์ ประกอบด้วย ฌอน คอนเนอรี่, จอร์จ ลาเซนบี้, โรเจอร์ มัวร์, ธีโมธี ดัลตัน, เพียรซ บรอสแนน และ แดเนี่ยล เคร็ก (กำลังจะเป็นอดีต) ที่กำลังจะอำลาบทสายลับในภาค No Time to Die พยัคฆ์ร้ายฝ่าเวลามรณะ
ปล.อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ใน “เปิดแฟ้มลับพยัคฆ์ร้าย 007 กับ 6 นักแสดง เจมส์ บอนด์”
6.) กว่าจะเป็น ฌอน คอเนอรี่ กับตัวเลือกแรกของผู้ที่จะมารับบท 007
ตอนที่สองโปรดิวเซอร์อย่าง อัลเบิร์ต อาร์. บร็อคโคลี่ และ แฮร์รี่ ซอลท์แมน ซึ่งได้สิทธิ์จาก เอียน เฟลมมิ่ง ในการนำชุดนวนิยายสายลับมาสร้างเป็นหนังเรื่อง Dr.No (1962) โจทย์ที่สำคัญคือ การเฟ้นหานักแสดงมารับบท เจมส์ บอนด์ ซึ่งตัวเลือกแรกที่พวกเขาได้เล็งเอาไว้ อาทิ เดวิด นิแวน (ตอนหลังได้เล่นหนังบอนด์นอกสารบบอย่าง Casino Royale ฉบับปี1967), แคร์รี่ แกรนท์, เจมส์ เมสัน และ คริสโตเฟอร์ ลี (ตอนหลังได้เป็นตัวร้ายในภาค The Man with Golden Gun) แต่ด้วยทุนที่จำกัดทำให้รายชื่อที่เสนอมาต้องล้มเลิก ก่อนจะเลือก ฌอน คอนเนอรี่ ที่ในตอนแรก เฟลมมิ่งไม่ประทับใจเพราะเขาไม่ตรงกับคาแร็คเตอร์ที่วาดเอาไว้ แต่ด้วยแรงเชียร์และแรงสนับสนุนจากแฟนสาวของเฟลมมิ่งที่ประทับใจในตัวคอนเนอรี่ ทำให้เจ้าของต้นฉบับต้องยอมในนาทีสุดท้าย แล้วการตัดสินใจของเธอก็ถูกต้องจริงๆ เพราะเมื่อหนังเข้าฉาย สาวๆต่างหลงใหลในตัวคอนเนอรี่เป็นอย่างมาก ทำให้ในเวลาต่อมา เฟลมมิ่งจึงได้เพิ่มปูมหลังให้ตัวบอนด์มีเชื้อสายสก็อตอย่างที่คอนเนอรี่เป็นนั่นเอง
7.) องค์กร SPECTRE
องค์กรสุดโฉดที่มีชื่อเต็มยาวๆว่า Special Executive for Counter-intelligence, Terrorism, Revenge and Extortion ถือเป็นองค์กรวายร้ายที่มีแผนจะครองโลก โดยปรากฏในนิยายเจมส์ บอนด์ 3 ตอนคือ Thunderball, On her Majesty Secret Service และ You Only Live Twice ส่วนในฉบับภาพยนตร์ปรากฏตัวตั้งแต่ From Russia with Love (1963), Thunderball (1965), You Only Live Twice (1967) On Her Majesty’s Secret Service (1969) และ Diamonds Are Forever (1971) ก่อนที่องค์กรจะหายไปจากหนังชุดนี้เนื่องจากปัญหาด้านลิขสิทธิ์ ก่อนที่จะกลับมาอาละวาดอีกครั้งใน ภาค Spectre ของ แดเนี่ยล เคร็ก นั่นเอง
8.) Thunderball นิยายเจ้าปัญหา
Thunderball หนังสายลับเรื่องที่4ของหนังชุดเจมส์ บอนด์ ที่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำชม แต่ใครจะไปคิดว่าจะเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายอย่างที่ส่งผลกระทบโดเฉพาะตัวผู้เขียนอย่าง เอียน เฟลมมิ่ง ที่มาที่ไปคือ เขา กับ เควิน แม็คลอรี่ โปรดิวเซอร์อิสระ และ แจ็ค วิตตี้งแฮม มือเขียนบท ทั้งสามคนได้ร่างบทหนังในชื่อ Longitude 78 West แต่ด้วยปัญหาและงบในเวลานั้นทำให้ทั้งสามคนล้มเลิกความตั้งใจ แต่ทว่าเฟลมมิ่งกลับเอาโครงเรื่องมาเขียนเป็นนิยายในชื่อเรื่องว่า Thunderball จนทั้งสองไม่พอใจและได้ยื่นฟ้องร้องสิทธิ์ตามกฎหมาย จนกระทั่งในปี1963 พวกเขาชนะคดีทำให้ทั้งสองคนมีชื่อเครดิตเป็นโปรดิวเซอร์ในหนังเมื่อถูกสร้างในปี1965
9.) ว่าด้วยเรื่องฉาก Gun Barrel Sequence
หากจะพูดถึงภาพจำที่มองแล้วรู้เลยว่าเป็นหนังเจมส์ บอนด์ อย่างไม่ต้องสงสัย คือฉากเปิดเรื่องที่เรียกว่า Gun Barrel Sequence ซึ่งเป็นฉากที่มองจากมุมมองลำกล้องปืนแล้วเห็นสายลับเดินมาก่อนจะหันมายิงใส่ ก่อนจะมีเลือดไหลท่วมลำกล้อง นี่คือฉากที่เป็นลายเซ็นของหนังก็ว่าได้ ซึ่งใครก็ตามที่แสดงเป็น เจมส์ บอนด์จะต้องเล่นฉากนี้ด้วย แต่ในตอน Dr.No (1962) จนถึง Goldfinger (1964) ผู้ที่แสดงฉากเปิดเรื่องคือ บ็อบ ไซม่อน สตั๊นท์แมนของหนังชุดนี้ ก่อนที่ Thunderball (1965) ฌอน คอนเนอรี่ จะแสดงบทนี้ด้วยตัวเองจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน
ต้นแบบของฉากเปิดในตำนานของ007 ผู้ออกแบบฉากอย่าง มอริซ ไบน์เดอร์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังเงียบที่ชื่อ The Great Train Robbery (1903) โดยตอนจบของหนังจะมีฉากที่ตัวละครหันปืนใส่ผู้ชมซึ่งเป็นความแปลกใหม่ในสมัยนั้น ทำให้ไบน์เดอร์จึงออกแบบฉากนี้เป็นการคาราวะจนกลายเป็นฉากเปิดเรื่องในตำนานของภาพยนตร์จนทุกวันนี้
10.) “Shaken, Not Stirred”
เมื่อพูดถึงเครื่องดื่มประจำตัวของนายบอนด์แล้ว ไม่ว่าจะไปที่ไหนเมื่อแวะผับบาร์ที่ใด เขาจะต้องสั่ง ดรายมาร์ตินี่…เขย่า ไม่ต้องคน ซึ่งเครื่องดื่มสุดโปรดของบอนด์มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า The Vesper ซึ่งส่วนผสมคือ เหล้าจินยี่ห้อกอร์ดอน 3ส่วน
ว้อดก้า 1 สjวน และ คิน่า ลิลเล็ต ครึ่งส่วน โดยนำมาผสมกันจนเย็นเจี๊ยบ แล้วเสริ์ฟด้วยแก้วแชมเปญแบบมีฐานก้านจับพร้อมด้วยเปลือกมะนาวฝานบางๆ แต่แฟนหนังหลายคนพบว่าสูตรเครื่องดื่มนี้อาจไม่ตายตัวเพราะ เฟลมมิ่ง ไม่ได้ลงรายละเอียดไว้มากนัก ทำให้มีเหล่าบาร์เทนเดอร์หลายคน พยายามที่จะสร้างเมนูจากนิยายให้เป็นจริง (มีเพียงไม่ถึงครึ่งที่อ้างว่าผสมได้ตรงสูตรตามนิยายถูกต้อง)
ทีนี้ก็มีข้อสงสัยว่าแล้วทำไมต้อง “เขย่า ไม่คน” ก็มีรายการสารคดีชื่อดังอย่าง MythBusters ได้ทำตอนพิเศษเกี่ยวกับเรื่องราวของยอดสายลับแล้วไขข้อสงสัยให้ทุกคนได้กระจ่าง ก็เลยได้มีโอกาสหาคำตอบของเรื่องราวเครื่องดื่มชนิดนี้ด้วย ซึ่งก็ได้คำตอบจากผู้เชี่ยวชาญว่า
“มาร์ตินี่แบบเขย่านั้น ทำให้เกิด อ๊อกซิเดชั่น (สารต้านอนุมูลอิสระ) แถมเป็นอันตรายต่อสุขภาพน้อยลง”
11.) ศิลปะการกินสไตล์เจมส์ บอนด์
เมื่อพูดถึงไลฟ์สไตล์ของนายบอนด์ที่นอกจากฝีมือและทักษะการต่อสู้จะเป็นเลิศแล้ว วิถีของเขาก็น่าสนใจไม่น้อยโดยนอกจากการเล่นพนันที่ช่ำชองแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ทำได้ดีไม่แพ้กันคือเรื่องราวของอาหารการกิน ที่ส่วนหนึ่งมาจากปลายปากกาของ
เฟลมมิ่ง ที่ชำนาญในทุกๆศาสตร์ได้ถ่ายทอดออกมาผ่านตัวสายลับผู้นี้ ซึ่งเรื่องการกินและการดื่มของเขาก็ถือว่าระดับเชลล์ชวนชิมเลยทีเดียว เพราะเขาจะรู้ว่าไปที่ไหนจะต้องสั่งอะไรบ้างหรือการเลือกสรรซอสให้เข้ากับรสชาติของอาหารแต่ละจาน ไม่ก็ลองของท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อในแต่ละที่ได้เดินทาง ซึ่งการกินของเขาก็เคยช่วยในวิชาชีพของบอนด์พอสมควร ตัวอย่างเด่นชัดสุดคือฉากหนึ่งในตอน From Russia With Love (1963) ที่เขาเดินทางไปกับคนของรัฐบาลที่ส่งมาคุ้มครองเขาและนางเอก ขณะรับประทานอาหาร สายลับเจ้าเสน่ห์ รู้เลยว่าหมอนี้ต้องเป็นวายร้ายแน่นอน เห็นได้จากการ สั่งเนื้อปลามารับประทานกับไวน์แดง (ที่ถูกคือต้องคือสั่งไวน์ขาวทานคู่กับอาหารทะเล ขณะที่ไวน์แดงจะสั่งไว้ทานกับเนื้อสัตว์ รู้ไว้ใช่ว่า…)
12 .) เพลงธีมประจำตัว
เมื่อพูดถึงเพลงจำตัวของนายสายลับเจมส์ บอนด์ คงจะต้องนึกถึงเสียงบรรเลงด้วยกีตาร์ไฟฟ้า ผสมกับเครื่องดนตรีวงออร์เคสตร้าจนเป็นส่วนผสมที่ลงตัว กลายเป็นเพลงธีมของหนังชุดนี้ที่อยู่คู่กันมาจนปัจจุบัน โดยผู้ให้กำเนิดบทเพลงสุดคลาสสิกนี้คือ นักแต่งเพลงละครเวทีอย่าง มอนตี้ นอร์แมน ที่เป็นการนำทำนองเพลงที่ตัวเองเคยแต่งอย่างเพลง Bad Sign, Good Sign โดยได้มีการปรับท่งทำนองให้เข้ากับหนังสายลับ ก่อนจะให้ จอห์น แบร์รี่ ไปเรียบเรียงเสียงประสานจนได้ออกมาเป็นเพลงธีมอมตะที่ยังตรึงใจจนทุกวันนี้
13.) ผู้รับบทเจมส์ บอนด์ ระยะสั้นที่สุด
จากบันทึกของผู้ที่สวมบทเจมส์ บอนด์ทั้ง 6 คน มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เล่นแค่เรื่องเดียวแล้วไม่หวนกลับมารับบทอีกเลย คือชายที่มีชื่อว่า จอร์จ ลาเซนบี้ นายแบบชาวออสเตรเลียที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการแสดง แต่สามารถฟันฝ่านักแสดงชายร้อยกว่าคนจนสามารถคว้าบทสายลับเจ้าเสน่ห์ต่อจาก ฌอน คอนเนอรี่ ที่อำลาบทสายลับหลังจบภาค You Only Live Twice (1967) โดยลาเซนบี้ได้แสดงในภาค On Her Majesty Secret Service (1969) ซึ่งตามเดิมเขาได้เซ็นสัญญาเล่นเป็นเจมส์ บอนด์ ไว้ถึง 8 เรื่องแต่ด้วยเหตุผลหลายปัจจัยที่เขาไม่อาจรับได้ จึงตัดสินใจขอยุติหน้าที่สายลับเพียงแค่เรื่องเดียวเท่านั้น
14.) ผู้รับบทเจมส์ บอนด์ ระยะยาวที่สุด
ถ้าจะพูดถึงผู้รับบทสายลับที่อยู่กับบทอย่างยาวนานที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น โรเจอร์ มัวร์ นักแสดงชาวอังกฤษที่โด่งดังจากซีรีส์จารชนอย่าง The Saint ที่ทำให้เขาได้มีโอกาสมาเป็นสายลับ007 คนที่สาม โดยปรากฏตัวครั้งแรกใน Live and Let Die (1973) ก่อนที่เขาจะใช้ชีวิตเป็นสายลับเจ้าเสน่ห์ยาวนานถึง10ปีฝากผลงานไว้ที่ 7เรื่อง โดยทิ้งท้ายใน A View to A Kill (1985) ก่อนจะหันไปแสดงบทบาทอื่นๆในฐานะดารามากฝีมือ เขาเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2017
แม้เขาจะจากโลกนี้ไป แต่สำหรับหนังชุดเจมส์ บอนด์ เขาได้สร้างมาตรฐานใหม่จนผู้ชมชื่นชื่นชอบด้วยการนำรอยยิ้มและเสียงหัวเราะมาสู่โลกของสายลับจนเป็นที่จดจำถึงทุกวันนี้
แม้บอนด์จะลุยภารกิจแค่ไหนแต่ถ้าขาดเครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่ต่างจากการฆ่าตัวตาย หนึ่งในตัวละครสำคัญของเรื่องที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ คิว (Q) หรือ Quartermaster เจ้าหน้าที่จัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือเพื่อให้สายลับใช้ในการทำภารกิจต่างๆ ซึ่งบ่อยครั้งสายลับของเรามักจะส่งคืนในสภาพเป็นชิ้นๆ ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือ รถยนต์ (ฮ่าๆ)
ตัวละครคิวมีชื่อจริงๆว่า นายพันบูทรอยด์ ปรากฏตัวครั้งแรกใน Dr.NO (1962) รับบทโดย ปีเตอร์ เบอร์ตัน
ต่อมาใน From Russia With Love (1963) บทคิวถูกส่งต่อมายัง เดสมอนด์ เลเวอลิน ที่การแสดงของเขาเป็นที่ชื่นชอบของทุกฝ่ายทั้งทีมผู้สร้างและผู้ชมทำให้ในภาค Goldfinger (1964) เขาจึงมีบทบาทเต็มตัว ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ผูกขาดกับบทนี้มาถึง 35ปีเต็มๆด้วยบุคลิกน่ารักและอารมณ์ขัน (ฉากที่ต้องสอนสายลับเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ต่างๆ บอนด์ชอบแกล้งคิวเป็นประจำ ฮ่าๆ) จนทำให้คิวฉบับของเดสมอนด์กลายเป็นที่รักของแฟนหนังชุดนี้
แต่ทว่าในปี1999 เขาก็จากแฟนหนังไปในเดือนธันวาคมจากอุบัติเหตุทางรถยนต์หลังภาค The World is not Enough (1999) ออกฉายซึ่งตรงกับเรื่องราวที่ คิว ได้เกษียณอายุราชการแถมงอนที่สายลับของเราดันทะลึ่งเอาเรือตกปลาไปใช้ล่าวายร้ายจนพังยับเยิน (ฮ่า)
แล้วได้ส่งไม้ต่อให้กับผู้ช่วยที่ชื่อ อาร์ (R) รับบทโดยดาราตลกชื่อดัง จอห์น คลีส (จริงๆเป็นมุขของบอนด์เรียกติดตลก เพราะ R เป็นตัวอักษรต่อจาก Q) หลังจากนั้นใน Die Another Day (2002) คลีสมารับบทเป็นคิว ก่อนจะอำลาบทไปในที่สุด
เมื่อมาถึงภาค Skyfall ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของหนังชุดนี้เกิดขึ้นเมื่อ บทคิวกลับมาอีกครั้งแต่ครั้งนี้ผู้ชมจะได้เห็นคิวในวัยหนุ่มครั้งแรก จากภาพจำที่เป็นชายชราอารมณ์ดีมาเป็นหนุ่มเนิร์ดที่มีสกิลด้านคอมพิวเตอร์ติดตัว ซึ่ง เบน วิชอว์ คือคิวคนที่4ที่เข้ามารับบทนี้และเป็นคิวที่อายุน้อยที่สุดเพราะรับบทตอนอายุ31ปี แถมวิชอว์ก็เคยร่วมงานกับ แดเนี่ยล เคร็ก อยู่หลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือหนังเรื่อง Layer Cake (2004)
16.) ว่าด้วยเรื่องอาวุธคู่กายของ เจมส์ บอนด์
อาวุธคู่กายของเจมส์ บอนด์แน่นอนว่าต้องเป็น ปืน Walther PPK ที่มีน้ำหนักเบาและสะดวกในการใช้งาน ซึ่งก่อนหน้านี้ในหนัง Dr.No (1962) เราได้รับรู้ว่าก่อนหน้านี้เขาใช้ปืน Beretta มาก่อน ก่อนที่ M หัวหน้าของเจมส์ บอนด์ แนะนำให้เขาใช้ปืน Walther PPK จนเป็นอาวุธคู่กาย โดยฉากนี้เอียน เฟลมมิ่งได้มาจากบทสนทนาทางจดหมายระหว่างเขากับ พันตรี เจฟฟรีย์ บูทรอยด์ นายทหารและเซียนปืนที่ชอบงานเขียนของเขามาก โดยเนื้อหาจดหมายได้ท้วงติงว่า บอนด์น่าจะใช้อาวุธที่เบากว่า ซึ่งการคุยทางจดหมายทำให้เฟลมมิ่งขอให้เขาเป็นที่ปรึกษาด้านอาวุธ ก่อนจะกลายเป็นที่มาของตัวละครที่ชื่อ Q ตามที่ได้เล่าไปแล้วนี่เอง แต่พอมาถึงยุคสายลับ0007ของ เพียรซ บอรสแนน ใน Tomorrow Never Dies (1997) ทางผู้สร้างได้อัพเกรดปืนให้บอนด์มาใช้ปืน Walther P99 ที่ทันสมัยกว่า จนในภาค Skyfall (2012) สายลับของเราได้กลับมาใช้ปืน Walther PPK ในรอบหลายปีและเป็นรุ่น PPK/s ที่มีระบบสแกนลายนิ้วมือที่ทำให้คนอื่นไม่สามารถใช้ได้นอกจากเจ้าของปืนเพียงคนเดียวเท่านั้น
แม้ว่าสายลับเจมส์ บอนด์ของเราจะเป็นคนที่ไม่ค่อยอยู่กับที่ เพราะว่าเขาต้องไปทำภารกิจทั่วโลก ฝ่าอันตรายนับไม่ถ้วนแต่ความจริงแล้ว เขาก็มีห้องทำงานส่วนตัวเฉกเช่นสายลับในหน่วยงาน MI6 ซึ่งเราได้เห็นในภาค On Her Majesty Secret Service (1969) ที่นำแสดงโดย จอร์จ ลาเซนบี้ ซึ่งเป็นฉากที่เขาเข้าไปในห้องทำงานเพื่อรอเอกสารอนุมัติลาออกจากราชการ (แต่ได้พักร้อนสองอาทิตย์แทน) ซึ่งเราจะได้เห็นหมายเลขห้องทำงานของเขาคือ หมายเลข17 แถมฉากนี้ยังเคยถูกใช้เป็นคำถามรอบชิงชนะเลิศในรายการ แฟนพันธุ์แท้ เมื่อปี2002 อีกด้วย
18.) ผู้หญิงที่พิชิตใจนายบอนด์ได้สำเร็จ
แม้ว่านายบอนด์จะเจ้าชู้ประตูดินแค่ไหน แต่ในที่สุดในภาค On Her Majesty Secret Service (1969) ที่เขาได้เจอคนที่ใช้เสียทีนั่นคือ เทรซ่า ดี วินเซนโซ จากที่ไม่ชอบใจกันตั้งแต่แรกเจอ หลังเสร็จภารกิจกำจัดโบลเฟลด์ ทำให้เขาตัดสินใจแต่งานกับเธอโดยที่ไม่มีภารกิจเกี่ยวข้อง ทำให้เทรซี่ได้กลายเป็นคุณนายบอนด์คนแรกและคนเดียว แต่นั่นคือช่วงเวลาระยะสั้นๆที่ทำให้บอนด์จะไม่มีวันลืมเธอไปชั่วชีวิตแน่นอน
**เนื้อหามีการเผยตอนสำคัญของ On Her Majesty Secret Service (1969)**
ในขณะที่คู่รักข้าวใหม่ปลามันอย่าง เจมส์ และ เทรซี่ กำลังมีความสุขอยู่นั้น โบเฟลด์ที่สายลับ007 คิดว่าเขาตายแล้วขับรถพร้อมลูกสมุนกราดกระสุนใส่หวังปลิดชีพนายบอนด์ ซึ่งโชคดีที่เขารอดคมกระสุนมาได้ แต่เทรซี่กลับเป็นฝ่ายที่รับกระสุนแทนเขาจนสิ้นลมหายใจในที่สุด!!
ในฉากเปิดเรื่องของภาค For Your Eyes Only (1981) ได้มีการอ้างอิงจากภาค On Her Majesty Secret Service เมื่อเขาได้ไปเยี่ยมหลุมศพ ก่อนที่โบเฟลด์ จะเข้ามาสังหารด้วยเครื่องควบคุมระยะไกลเพื่อหวังจะปลิดชีพบอนด์ให้ได้ แต่ท้ายสุดกลับเป็นฝ่ายถูกสายลับเจ้าเสน่ห์จัดการได้สำเร็จและเป็นการปิดฉากวายร้ายตลอดกาล ซึ่งสาเหตุที่ให้กำจัดโบเฟลด์ (และไม่ได้มีชื่อบอกในเครดิตของเรื่อง) มาจากกรณีข้อพิพาททางกฎหมายระหว่าง EON บริษัทที่ถือสิทธิ์หนังชุด007 กับ เควิน แม็คลอรี่ เจ้าของลิขสิทธิ์ตอน Thunderball ที่แท้จริงจนต้องไปสร้างหนังรีเมคสายลับกับค่าย Warner Brothers ในชื่อ Never Say Never Again หรือชื่อไทย พยัคฆ์เหนือพัยคฆ์ ด้วยเหตุผลว่าเป็นการยืนยันลิขสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของนั่นเอง ซึ่งจะเล่าในตอนต่อไป…
19.) สาวบอนด์ที่ได้เล่นสองตอน สองบท
จะมีสาวบอนด์สักกี่คนที่โชคดีได้มีโอกาสเล่นเป็นสาวบอนด์ถึงสองครั้ง คำตอบคือมีครับ เธอผู้นี้มีนามว่า ม้อด อดัมส์ เพราะว่าเธอได้รับบทถึงสองตอน โดยครั้งแรกในบท แอนเดรีย แอนเดอรส์ เมียเก็บของวายร้ายสการามังก้า ในภาค The Man With Golden Gun (1974) และ อ็อคโตพุซซี่ นางเอกในภาค Octopussy (1983)
20.) สาวบอนด์หนึ่งเดียวที่เป็นวายร้าย
แม้ว่าสาวบอนด์ในภาพจำของแฟนหนังคือคนที่สายลับเจ้าเสน่ห์จะช่วยเหลือ แต่ถ้าสาวบอนด์ที่กล่าวมาดันเฉลยว่าเป็นวายร้ายของเรื่อง มันเกิดขึ้นแล้วในภาค The World is Not Enough (1999) กับตัวละครที่ชื่อว่า อิเล็คตร้า คิง (รับบทโดย โซฟี มาโซ) นี่คือหนึ่งในตัวละครที่วับซ่อนด้านอารมณ์และไม่สามารถเดาทางได้ แล้วเป็นตัวร้ายเพียงคนเดียวที่มีฉากหน้าคือสาวบอนด์ ก่อนที่เธอจะเผยตัวตนออกมาในช่วงท้ายเรื่อง โดยอีเล็คตร้าเป็นลูกสาวของ โรเบิร์ต คิง ด้วยความที่เธอเกลียดพ่อตัวเองก่อนจะร่วมมือกับเรย์นาร์ดคนที่ลักพาตัวเธอเพื่อดำเนินแผนการชั่วร้ายที่เธอจะได้กำไรมหาศาลจากธุรกิจน้ำมันแต่เพียงผู้เดียว การแสดงของ โซฟี ทำให้จดจำเธอในฐานะวายร้ายในคราบของสาวบอนด์หนึ่งเดียวที่น่าจดจำก็ว่าได้
จุดเด่นหนังสายลับ 007 คือสถานที่รอบโลกที่บอนด์ได้ไปเยือนในการทำภารกิจต่างๆ แน่นอนว่าหนังทำให้สถานที่นั้นกลายเป็นแลนด์มาร์คที่คนอยากตามรอยผ่านหนังหรืออยากไปเยือนให้ได้ ซึ่งความน่าสนใจคือมีสถานที่จากประเทศไทยได้กลายเป็นหนึ่งในฉากสำคัญของเรื่องราวอีกด้วย โดยหนังเรื่องแรกของ007ที่มาถ่ายทำในประเทศไทยคือ The Man With The Golden Gun (1974) โดยตัวหนังได้ไปถ่ายตามสถานที่ เช่น คลองภาษีเจริญ, วัดนางชีโชติการาม, เวทีมวยลุมพินี, ถนนราชดำเนิน, กรุงเทพมหานคร และเขาตะปูในจังหวัดพังงา ซึ่งทำให้เป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่วโลกในฐานะ “เกาะเจมส์ บอนด์” (James Bond Island) และอีกครั้งในปี1997 กับภาค Tomorrow Never Dies ตั้งแต่ตึกสินสาธร ทาวน์เวอร์ และซิ่งด้วยมอเตอร์ไซค์หลบหนีวายร้ายบนถนนสมเด็จเจ้าพระยาเลียบคลองสาน รวมถึงเขาตะปูที่เคยมาถ่ายแล้วครั้งหนึ่ง
22.) ฉากที่กลายเป็นสถิติโลก
ใครจะไปคิดว่าฉากอุบัติเหตุใน Casino Royale (2006) หนังบอนด์ยุคแดเนี่ยล เคร็ก จะเป็นที่พูดถึงมากเพราะเป็นฉากไล่ล่าเพื่อช่วยนางเอก แต่เกิดเสียท่ากะทันหันจนรถพลิกคว่ำหลายตลบซึ่งฉากนี้ได้รับการบันทึกจากกินเนส บุ๊คส์ เป็นที่เรียบร้อยในฐานะฉากรถยนต์ที่พลิกคว่ำหลายตลบมากที่สุดเท่าที่เคยมีการถ่ายทำไว้ แถม Aston Martin คันนี้ก็มีแฟนเดนตายขอซื้อต่อทันทีไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย
แม้ว่าจะเป็นหนังสายลับ007 เหมือนกันแต่มีเพียงสองเรื่องที่ไม่ได้สร้างโดย EON Productions ผู้ถือสิทธิ์หนังชุดเจมส์ บอนด์ นั่นคือ Casino Royale (1967) และ Never Say Never Again (1983) แต่ทว่าภายหลังทาง MGM ก็ได้ซื้อสิทธิ์หนังทั้งสองเรื่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเรื่องแรก เล่าว่า เจมส์ บอนด์ที่กำลังใช้ชีวิตเกษียณอย่างเพลิดเพลิน ต้องกลับมาทำภารกิจหยุดแผนการของเลอชีฟในการแข่งบาคาร่าต์ ก่อนที่จะพบว่าหนึ่งในวายร้ายคือ จิมมี่ หลานชายของตนอยู่ฝั่งเดียวกับวายร้าย
หนังได้ เออร์ซูล่า แอนเดรสส์ นางเอกจาก Dr.No มาเป็นนางเอกประกบกับ เดวิด นิแวน ในบท เจมส์ บอนด์
ส่วนเรื่อง Never Say Never Again นั้นคือหนังรีเมคจากภาค Thunderball ซึ่ง เควิน แม็คลอรี่ เจ้าของสิทธิ์สร้างเพื่อยืนยันในสิทธิ์เจ้าของเรื่องดั่งที่เล่าไป โดยได้สายลับต้นตำรับ ฌอน คอนเนอรี่ มารับบทเจมส์ บอนด์ ครั้งที่ 7 แล้วเป็นครั้งสุดท้ายอย่างแท้จริง ซึ่งหนังสร้างและออกฉายพร้อมกับ Octopussy ปีเดียวกัน แต่หลังจากที่ MGM ได้ซื้อสิทธิ์หนังเรื่องนี้จึงทำให้หนัง007ชองแดเนี่ยล เคร็ก จึงปลุกองค์กร Spectre คืนชีพอีกครั้ง ในภาค Spectre (2015)
24.) ก่อนจะวิ่งหนีไดโนเสาร์ ดร.อลัน เคยมาแคสเป็นสายลับ007
หลังจากที่ โรเจอร์ มัวร์ ได้อำลาบทสายลับ007 ก่อนที่จะมีการคัดเลือกนักแสดงใหม่อีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้น แซม นีล นักแสดงชาวนิวซีแลนด์ เคยได้รับโอกาสมาทดสอบหน้ากล้องเมื่อปี 1986 เพราะว่าในตอนแรกพวกเขาได้วางตัว ธีโมธี ดัลตัน หลังจากที่เคยทาบทามไปหนหนึ่งแต่เจ้าตัวขอเก็บเกี่ยวประสมการณ์ถึง 30ปี ก่อนที่ท้ายสุดดัลตันก็คว้าบทนี้มาได้จนเป็นสายลับ007คนที่ 4อย่างเป็นทางการ ส่วนทางด้าน นีล เอง ก็กลับโด่งดังในหนังไดโนเสาร์ชุด Jurassic Park (1993) ในบทบาท ดร. อลัน แกรนท์ ซึ่งถ้าดูจริงๆแกก็มีสิทธิ์เป็นสายลับ เพียงแต่ว่าเขาชอบไดโนเสาร์มากกว่า (ฮ่า!)
25.) ถึงไม่ได้เป็นบอนด์ แต่ได้เป็นหัวหน้าของบอนด์
หากเอ่ยถึงชื่อของ เรล์ฟ ไฟนส์ ผู้ชมคงจะนึกถึงบทบาทเจ้าศาสตร์มืด ลอร์ดโวลเดอมอร์ จากหนังชุดแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเขาเกือบจะได้เป็นสายลับ007คนที่5 แต่ท้ายสุดกลับเป็นเพียรซ บรอสแนนที่ได้รับบทนี้ไป แต่ดูเหมือนว่าโชคชะตาเขากับหนัง007จะมาหาเขาอีกครั้ง เพราะใน Skyfall (2012) เขาได้รับบทเป็น กาเร็ธ มัลลอรี่ ประธานคณะกรรมการข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติ ก่อนที่เขาจะกลายเป็น M เจ้านายคนใหม่ของสายลับในเวลาต่อมา ทำให้เขากลายเป็นคนที่ 4 ต่อ เบอนาร์ด ลี, โรเบิร์ต บราวน์ และ จูดี้ เด้นช์ (อำลาบทเพราะด้วยปัญหาเรื่องสุขภาพ) ใครจะไปคิดว่าจากความผิดหวังที่ไม่ได้เป็นสายลับในครั้งนั้น วันนี้เขากลับมาในฐานะหัวหน้าของสายลับเจ้าเสน่ห์ เป็นบอนด์ไม่ได้เป็นหัวหน้าซะเลย (ฮ่า!)
26.) สายลับรหัส 00 คนอื่นๆ
นอกเหนือจาก เจมส์ บอนด์ที่มีรหัส007 แล้ว ในหน่วยงาน MI6 ยังมีสายหลับที่ใช้รหัส 00 อีกหลายคนที่ออกปฏิบัติการณ์ภารกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกกล่าวถึงสถานะเสียชีวิต อาทิ 002, 003, 004, และ 009 ขณะที่ 006 หรือ อเล็กซ์ เทรเวลยาน ที่ปรากฏตัวในภาค GoldenEye (1995) หักหลังด้วยความแค้นส่วนตัวจนกลายเป็นคู่ปรับในเวลาต่อมา ส่วนสายลับ 001 และ 005 ยังไม่มีการกล่าวถึง ขณะที่ สายลับ 008 มีการกล่าวถึงทั้ง Goldfinger (1964) และ The Living Daylights (1987) โดยระบุว่าเป็นสายลับที่มีทักษะสูงเทียบเท่ากับบอนด์และถูกวางตัวให้เป็นตัวตายตัวแทน หาก เจมส์ บอนด์ พลาดท่าหรือถูกถอดจากภารกิจนั้นๆ ก็จะได้ส่งสายลับรายนี้รับช่วงต่อไป
27.) ว่าด้วยเรื่องกระเป๋า เจมส์ บอนด์
หากจะพูดถึงของเล่นสายลับ007 ที่ถือว่าเป็นตำนานและน่าจดจำก็คงจะต้องเอ่ยถึง กระเป๋าเอกสาร ที่ตอนหนังฉายออกไปจะเรียกกระเป๋าลักษณะนี้ว่า กระเป๋าเจมส์ บอนด์ จนติดหู ซึ่งความจริงแล้วกระเป๋าใบนี้ได้บรรจุของสำคัญที่สายลับจะต้องใช้เช่น ปืนซุ่มยิ่งแบบประกอบเอง, มีดสั้น, กระสุนสำรอง และมีกลไกป้องกันคือมีแก็สน้ำตาเอาไว้ป้องกันตัวถ้าเปิดกระเป๋าผิดวิธี โดยต้นแบบกระเป๋ายอดสายลับ มีที่มาจากกระเป๋าของสายลับในสงครามโลกครั้งที่2 มันคือของเล่นชิ้นแรกๆที่ทุกคนได้รู้จักนั่นเอง
แม้ว่าในเจมส์ บอนด์ ฉบับนิยายจะมีรถคู่ใจคือ Bentley แต่เมื่อเป็นเวอร์ชั่นภาพยนตร์แล้ว รถคู่ใจของนายบอนด์ต้องเป็น Aston Martin DB5 ปรากฏตัวครั้งแรกใน Goldfinger (1964) ซึ่งเป็นรถที่ทาง Q ได้เตรียมให้นายบอนด์ไปทำภารกิจ รถคันนี้เต็มไปด้วยสารพัดของเล่น อาทิ ป้ายทะเบียนเปลี่ยนได้, โล่กันกระสุน, เครื่องกรีดล้อ, เรดาร์ แต่ที่สุดจัดปลัดบอกคือตรงด้ามเกียร์จะมีปุ่มเก้าอี้ดีดตัวได้ด้วย รถคันนี้จึงเป็นไอค่อนของวงการภาพยนตร์ซึ่งรถคันนี้จะกลับมาให้เห็นใน No Time to Die อย่างแน่นอน เรียกได้ว่าเป็นรถในฝันไว้รับสาวๆกันเลยทีเดียว
29.) มีนักแสดงอเมริกันหลายคนเคยมาแคสบท007
แม้ว่าบทสายลับเจ้าเสน่ห์ที่ส่วนใหญ๋จะเป็นนักแสดงชาวอังกฤษหรือ สหราชอาณาจักร (มีออสซี่อย่าง จอร์จ ลาเซนบี้) แต่ในช่วงที่เฟ้นหานักแสดงมารับบทสายลับ007 ทางผู้สร้างเคยมีการติดต่อนักแสดงชาวอเมริกันให้มาลองแคสบทดู อาทิ เบิร์ต เรย์โนลด์, คลิ้นท์ อีสต์วู้ด, เจมส์ โบรลิน (พ่อของจอช โบรลิน) ซึ่งฝ่ายหลังเคยไปทดสอบบทในตอน Octopussy แต่ท้ายสุดพวกเขาปฏิเสธบทไปด้วยเหตุผลว่า คนที่จะรับบทสายลับได้ต้องเป็นคนอังกฤษเพื่อตรงต่อกับต้นฉบับมากที่สุด
30.) ปี2022 ครบรอบ 60ปีของหนังชุด เจมส์ บอนด์
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ปี2012 ได้กำหนดให้เป็นวัน เจมส์ บอนด์ หรือ Global James Bond Day ซึ่งเป็นวันที่ภาพยนตร์เรื่อง Dr.No ออกฉายเมื่อปี1962 และเป็นตัวละครที่ยังโลดแล่นในวงการภาพยนตร์จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีหลายประเทศต่างจัดงานเฉลิมฉลองให้กับยอดสายลับอย่างคึกคักและในปีหน้าก็จะครบรอบ60ปีของหนังชุดนี้ แน่นอนว่าสายลับจะยังคงลุยภารกิจต่อไปและมาลุ้นกันว่านักแสดงชายคนไหนจะได้รับรหัสสังหารคนต่อไป….
และทั้งหมดนี้คือ 30 เรื่องราวที่น่าสนใจของหนังชุดสายลับ เจมส์ บอนด์ ก่อนจะไปสนุกกับภารกิจครั้งใหม่ในภาค No Time to Die พยัคฆ์ร้ายฝ่าเวลามรณะ ซึ่งจะเข้าฉายในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ หลังจากที่โรงหนังกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ยังไงก็รักษาสุขภาพและการ์ดอย่าตกครับผม
@P.PETTY
อ่านเรื่องราวของสายลับ007 เพิ่มเติม
เปิดแฟ้มลับพยัคฆ์ร้าย 007 กับ 6 นักแสดง เจมส์ บอนด์
10 อันดับวายร้ายจอมโหดของ เจมส์ บอนด์ 007
ย้อนดู10เกมสายลับ007 ก่อนไปลุยภารกิจสุดโหดใน No Time to Die
ตัวอย่างหนัง
ข้อมูลอ้างอิง
-หนังสือ Starpics Special – Everything about James Bond
- https://www.universalexports.net/battle-of-the-bonds/
- https://pantip.com/topic/33447515
- https://www.beartai.com/lifestyle/498226/2
- https://factrepublic.com/30-interesting-facts-james-bond/
- https://www.factinate.com/things/57-shaken-not-stirred-facts-james-bond/
- https://www.itv.com/news/2017-08-16/10-things-you-probably-never-knew-about-james-bond
- https://www.telltalesonline.com/17846/james-bond-facts/
- https://screenrant.com/james-bond-007-facts-trivia-fans-newcomers/
-
Dynasty Warriors: Origins [PS5, Xbox Series,PC]
วีรบุรุษไร้นาม จะลุกขึ้นต่อสู้ในโลกของสามก๊ก
-
Resident Evil 9 [มาเมื่อไหร่ / Apocalypse / 2024]
มีข่าวลือใหม่เกี่ยวกับการระบุถึงเกมผีชีวะภาคที่ 9
-
[รีวิว] Fuuto PI: The Portrait of Masked Rider Skull ยอดนักสืบแห่งฟูโตะ ภาพสลักแห่งมาสค์ไรเดอร์สกัล
เรื่องราวความสัมพันธ์จาก มาสค์ไรเดอร์สกัล สู่ มาสค์ไรเดอร์ดับเบิล