มาร์คัส พระเอก ของเรื่อง “มีดที่13”
มีดที่ 13 เป็นการ์ตูนไทยที่สร้างสรรค์โดยทีมงาน Big Boss Band เคยลงตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร BOOM ก่อนจะปิดตัว สร้างสรรค์โดย พี่ นพ วิฑูรย์ทอง (White crow) และพี่บี บุญเชิด แช่มประเสริฐ (Ice Hornet) ซึ่งเป็นการ์ตูนไทยที่เขียนต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 และเป็นหนึ่งในการ์ตูนไทยที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันมี 4 ภาค ซึ่งได้แก่ มีดที่ 13, The Legend, Nostalgia, และมีดที่ 13 Extinction รวมถึง ยังได้รับการจัดพิมพ์เป็นฉบับนิยาย ซึ่งเนื้อหาจะมีความเข้มข้นและละเอียดกว่าในฉบับการ์ตูน
ผลงาน มีดที่13
มีดที่ 13 เป็นการ์ตูนไทยที่ได้รับการจัดพิมพ์ต่อเนื่องมากว่า 20 ปี รวมถึงเป็นเรื่องราวมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากเรื่องหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นการ์ตูนไทยแท้ๆ ที่มีผลงานอย่างต่อเนื่อง มายาวนานที่สุดในประเทศไทยเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้
วันนี้ทีมงานเมทัลบริด ได้รับโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ พี่นพ แบบเป็นกันเองสุดๆ เจาะลึกในทุกคำถามที่แฟนๆอยากทราบ โดยทางทีมงานเองก็เป็นหนึ่งในแฟนคลับ “มีดที่13” ด้วยเช่นกัน จึงได้รวบรวมบทสัมภาษณ์มาให้เพื่อนๆได้รับรู้แบบเจาะลึกจะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน
1. ก่อนจะเริ่มต้นเป็นนักเขียนการ์ตูน พี่นพ ทำอาชีพอะไรมาก่อน?
พี่นพเคยเป็นเด็กเกเรมากๆคนนึง สมัยนั้นพี่นพใช้เวลาเรียน ปวช. (เอกศิลปะ) นานถึง 6 ปี เพราะว่าเกเรมาก แต่ถึงจะเกเรและใช้เวลาเรียนนานถึง 6 ปีกว่าจะจบ แต่สมัยเรียน พี่นพเองจัดได้ว่าเป็นยอดฝีมือคนหนึ่งในชั้นเรียนเลยทีเดียว เวลา 6 ปี ในการศึกษาระดับ ปวช. ทำให้พี่นพเห็นเพื่อนๆรุ่นเดียวกัน จบออกไป จนต้องมาเรียนกับรุ่นน้อง จนเห็นรุ่นน้องจบกันออกไปอีก สุดท้ายพี่นพใช้เวลานานถึง 6 ปีกว่าจะจบ ปวช.ได้
หลังจากจบ ปวช. แล้ว พี่นพสอบติดมหาวิทยาลัยมีชื่อ แห่งหนึ่ง แต่พี่นพตัดสินใจไม่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย เนื่องจากเห็นว่าถ้าด้วยความเป็นตัวเองของพี่นพไปอยู่ในคนหมู่มาก ปัญหาเดิมๆก็จะเกิดอีก พี่นพจึงตัดสินใจ ทำงานเลยดีกว่า เพราะคิดว่าไม่อยากเป็นภาระให้ครอบครัวและคนรอบข้าง เพราะคิดว่ามีคนเดือดร้อนเพราะพี่นพมามากพอแล้ว พี่นพจึงเริ่มต้นหางานทำทันที
มุมมองเกี่ยวกับงานของพี่นพ นั้นชัดเจนมากคือ พี่นพเลือกทำงานสายศิลปะเท่านั้น เพราะพี่นพคิดว่า ถ้าทำงานไม่ตรงสายรู้สึกเสียดาย “เสียดายงบรัฐบาล เสียดายเงินที่ครอบครัวส่งเสีย เสียดายเงินที่ตัวเองหามาส่งเสียตัวเอง มันรู้สึกเสียดาย เสียดายหากไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับศิลปะ มันน่าเสียดาย” พี่นพได้กล่าวไว้
งานชิ้นแรกที่พี่นพทำคืองาน? คำตอบที่ได้คือ งานออกแบบลายชุดวิวาห์ หรือ ลายชุดแต่งงานของเจ้าสาว นั่นเอง พี่นพบอกว่า “นั่นคือจุดเริ่มต้น ของการเป็นผู้เป็นคนเลย” ซึ่งรายได้ของพี่นพในสมัยนั้น (ประมาณ พ.ศ.2535-2536) ถือว่าสูงมาก คือรายได้ตกเดือนละ 40,000 บาท เพราะเป็นงานที่ไม่มีใครทำได้ (สมัยนั้นทองคำบาทละไม่ถึง 4,000 บาท รายได้หนึ่งเดือนสามารถซื้อทองคำได้ 10 บาท ไม่ธรรมดาเลยจริง หากเทียบค่าเงินเฟ้อในยุคปัจจุบัน ที่ค่าทองคำบาทละ 20,000 บาท แล้วนั้น ลองคิดดูพี่นพจะมีรายสูงเท่าไหร่ ว้าว!!!)
***จากเด็กเกเรสู่นักออกแบบลายชุดวิวาห์ที่มีรายได้สูง แล้วทำไมลงเอยที่การเป็นนักเขียนการ์ตูน
จากนักออกแบบลายชุดวิวาห์ กลายมาเป็น มีดที่13
2. แรงบัลดาลใจอะไรที่ทำให้หันมาเป็นนักเขียนการ์ตูน?
พี่นพเล่าว่า พี่นพนั้นชอบการ์ตูนมาตั้งแต่เด็กๆ ชอบอ่านการ์ตูนเหมือนเด็กหนุ่มทั่วๆไป แต่สมัยเด็กๆนั้นจะวาดการ์ตูนแบบภาพเดียวได้ แต่วาดเป็นเรื่องราวไม่ได้ การ์ตูนนั้นอยู่ในใจมาตลอด
แต่จุดเปลี่ยนมันอยู่ตรงที่มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น เมื่อเย็นวันหนึ่งพี่นพได้ไปนั่งทานข้าวกับหัวหน้าพี่นพ ซึ่งหัวหน้าพี่นพเป็นคนที่ชอบกล้องถ่ายรูปมากๆ ศึกษาและมีความรู้เกี่ยวกับถ่ายภาพเป็นอย่างดี แต่ต้องมาทำงานขายจักร
พี่นพจึงถามหัวหน้าว่า “ทำไมพี่ไม่ไปเป็นตากล้อง”
คำตอบที่ได้กลับมาคือ “มันเสี่ยง พี่อายุมากแล้ว มีครอบครัว มีภาระต้องดูแล คนเรากับสิ่งที่ชอบกับสิ่งที่เป็นจริงมันทำไม่ได้หรอก”
พี่นพคิดกลับกันด้วยความดื้อส่วนตัว คิดว่า “ทำไมสิ่งที่ตัวเองชอบ เก่ง และถนัด ทำไมจะเป็นอาชีพไม่ได้”
พี่นพจึงตัดสินใจลาออกจากงานเดิม ที่มีรายได้สูงมากในสมัยนั้น ในใจพี่นพคิดว่า สิ่งที่ชอบคือการ์ตูน แต่จะทำยังไงให้มันเลี้ยงชีพได้ ซึ่งคนอื่นๆในสังคม ไม่มีใครทำกันเลย นอกจากการ์ตูนขายหัวเราะ กับการ์ตูนเล่มเดียวจบ ตอนนั้นพี่นพ อายุ ยี่สิบต้นๆ แล้วเห็นชีวิตของหัวหน้าที่ใช้ชีวิตแก่ไปวันๆโดยไม่ได้ทำตามความฝันและสิ่งที่ตัวเองชอบ พี่นพจึงเลือกที่จะเดินตามความฝาฝันของตัวเอง
โชคดี ช่วงนั้น นิตยสาร BOOM comic เปิดตัวใหม่ในประเทศไทย แล้วมีการประกาศหานักเขียนรุ่นใหม่ เข้าไปร่วมโปรเจคด้วย พี่นพจึงปั่นงาน “มีดที่13” ตอนแรกส่งไป ในสมัยนั้นมียอดฝีมือมากมายส่งการ์ตูนเข้าไปให้ ทีม บก. พิจารณา ซึ่งพี่นพก็เห็นงานของคนอื่นๆแล้วบอกว่า “ของเราห่วยสุด, ไม่มีมาตรฐาน, เขียนหน้าเบี้ยว, เฮียจริงๆอ่ะ” แต่ทีม บก. เห็นแววของเนื้อเรื่องและเสน่ห์ของลายเส้น จึงเรียกเข้าไปพบเป็นการส่วนตัว ปรากฏว่า งานของนพ ถูกวิจารณ์อย่างหนัก พี่นพกลับบ้านอย่างถอดใจ ไม่เอาแล้ว จนผ่านไปหลายเดือน
ภาพในยุคแรกของ “มีดที่13” ในฉากที่ มาร์คัสลอบสังหาร ก๊อด ในต้นเรื่องของภาคแรก
จนกระทั่ง บก. ติดต่อกลับมาแล้วสรุปว่า “ซื้อ” ด้วยเหตุผลที่ว่า งานมันมีอารมณ์ฝังอยู่ เป็นอารมณ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หลังจากนั้น พี่นพก็เริ่มงานสายอาชีพ นักเขียนการ์ตูนอย่างเต็มตัว และทุ่มเทสุดชีวิตอุทิศให้แก่งาน “มีดที่13”
3. มีดที่13 ทำไมต้องเป็นมีด?
พี่นพบอกว่า หลายๆคนเข้าใจผิดว่า มีดที่13 นั้นได้แรงบัลดาลใจมาจาก “ลี้คิมฮวง” แต่ที่จริงแล้วมันคือความประทับใจสมัยเด็กๆ ที่พี่นพได้ชมภาพยนตร์ของ “ชอว์บราเดอร์” เรื่องหนึ่ง ซึ่งตัวพระเอกนั้นใช้มีดสั้นเป็นอาวุธ ซึ่งเท่มากๆ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นว่า ทำไม มาร์คัส (พระเอกของเรื่องมีดที่13) จึงใช้มีด แต่ถึงมาร์คัสจะใช้มีด แต่ทักษะการใช้มีดของ “มีดที่13” ก็แตกต่างออกไปจาก มีดทั่วไป คือ มาร์คัสจะใช้มีดแทนการใช้อาวุธอื่นได้หลากหลาย ทั้งการลอบสังหาร การซัดมีด ซึ่ง “มีดที่13” จะไม่ใช่การซัดหรือปามีด แต่เป็นการ ยิง และเหตุผลอีกอย่างก็คือ มีดเป็นอาวุธที่พกได้เยอะๆ พกเยอะแล้วเท่ ไม่เหมือนดาบหรือปืน หรืออาวุธอื่นๆที่พกมากๆแล้วไม่เท่ ซึ่งการสร้าง “มีดที่13” นั้นมุ่งเป้าในการสร้างของเล่นและละคร,ภาพยนตร์ ด้วยในอนาคต
มาร์คัส กับมีดทั้ง13 ของเขา ที่พี่นพบอกว่า พกเยอะแล้วเท่
และจุดเด่นของ “มีดที่13” ก็คือลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งถือว่าเป็นลายเส้นที่กำลังจะสูญพันธุ์ โดยเป็นเส้นหมึกกระจาย ตามแบบฉบับของการ์ตูนผู้ชายสมัยก่อน เช่น เคนชิโร่, โรงเรียนลูกผู้ชาย, บากิ หรือที่เรียกกันว่า การ์ตูนพลังเค ซึ่งเป็นลายเส้นที่หาได้ยาก ด้วยเหตุนี้ “มีดที่13” จึงมีจุดเด่นที่ชัดเจน
เส้นสายที่เป็นเอกลักษณ์ของ มีดที่13
4. การทำงาน ของ “มีดที่13” ทำงานกันยังไง?
ยุคแรกเริ่ม พี่นพทำงานคนเดียว ทำแบบลากเลือดกันเลย จนช่วงท้ายของ “มีดที่13” ภาคแรก ช่วง The Tower มีพี่บี หรือ Ice Hornet (เพื่อนซี้สมัยเด็กๆ) เข้ามาช่วยตัดเส้น การเข้ามาร่วมทีมของ Ice Hornet ทำให้ “มีดที่13” เปลี่ยนไปมาก และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ “มีดที่13” เพราะหลังจากนั้น จนถึงปัจจุบัน เอกลักษณ์ของ “มีดที่13” คือเส้นของ Ice Hornet และพี่นพได้ย้ำว่า “มีดที่13 จะให้ Ice Hornet ตัดเส้นเพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่สามารถให้ใครทำแทนได้”
ลายเส้นหลังจากที่ Ice Hornet เข้ามาร่วมทีมในช่วงท้ายของภาคแรก
แต่ในการทำงานนั้นก็หนักมากๆ เนื่องจากเป็นการ์ตูนรายสัปดาห์ ซึ่งต้องใช้พลังกาย พลังใจ ทุ่มเทให้กับมันเป็นอย่างมาก ถึงขั้นที่ต้องเลื่อนการผ่าตัด มาทำงานให้เสร็จก็ทำกันมาแล้ว
5. โปรเจคในอนาคต มีอะไรบ้าง?
พี่นพตอบว่ามีแน่นอน เช่น
การ์ตูน คาดว่านอกจาก “มีดที่13” แล้ว ก็ยังมองเรื่องของการ์ตูนเล่มเดียวจบ และ Side Story ของ มีที่13 รวมไปถึง นิยาย ซึ่งทั้งหมดพี่นพกล่าวว่า พี่นพสามารถทำด้วยตัวคนเดียวได้ไม่ต้องใช้ทีมงานมากมาย
โมเดลเรซิ่น ซึ่งปัจจุบัน (มีนาคม 2558) ก็มีโมเดลออกมาแล้ว 6-7 ตัวแล้ว ซึ่งทำสำหรับแฟนคลับที่ออเดอร์เข้ามาเท่านั้น ซึ่งเรื่องราวของ ของเล่นนั้น พี่นพใช้เวลา 1 ปีเต็ม ในการทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลังโดยหันมาศึกษาเรื่องโมเดลของเล่น อย่างจริงจัง จนกระทั่งได้คำตอบและผลที่น่าพอใจ
โมเดลเรซิ่นพิเศษสุดสำหรับผู้สั่งจองเท่านั้น
ในเมื่อโปรเจคมาขนาดนี้และ “มีดที่13” เองก็มีฐานแฟนคลับอยู่ไม่น้อย ทีมงานเราจึงถามพี่นพว่า คิดจะทำ Anime บ้างมั้ย พี่นพบอกกับทีมงานว่าอยากทำ แต่ประเทศไทยเรา ไม่มีคนทำ Anime มีแต่คนทำ 3D ซึ่งพี่นพมองว่า การทำการ์ตูน 3D นั้นไม่สามารถสื่อเนื้อหาและอารมณ์ของ การ์ตูน “มีดที่13” ออกมาได้ดีพอ อันนี้ แอดมินก็เห็นด้วยเพราะ โปรดักชั่น 3D บ้านเรายังไม่ถึงขั้นจริงๆ(อันนี้แอดมินคิดเอง) ส่วนเรื่องจะทำเป็น Anime โดยให้ต่างชาติทำ มันก็ผิดจุดประสงค์ เพราะอยากให้เป็น Anime ของคนไทยจริงๆ
***แอดมินก็คิดนะ ทำไมประเทศไทยไม่มีคนทำ Anime (ทำแบบจริงๆนะ ไม่ใช่ทำแบบขอไปที) ทำไมๆๆ
6. BOOM ปิดตัว มีผลยังไงกับ “มีดที่13” บ้าง?
หลังจากที่ BOOM ปิดตัว หนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ไปเมื่อปีก่อน ทำให้ “มีดที่13” ไม่มีการตีพิมพ์รายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน ก็ส่งผลให้ รายได้ขาดหายไปเหมือนกัน ปัจจุบันเปลี่ยนมาตีพิมพ์รายเล่มแทน ก็ถ้าวาดครบเล่มก็ส่งต้นฉบับไปพิมพ์ได้เลย แต่กว่าจะได้เล่มนึง ก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 เดือน แต่ทุกวันนี้ มุ่งเน้นไปที่ โมเดลเรซิ่น มากกว่า แต่ก็ไม่ได้ทิ้ง “มีดที่13” แต่คงใช้เวลาซักพัก กว่าเล่มถัดไปจะออก (ปัจจุบัน Extinction เล่ม 18)
โมเดลที่พี่นพ ศึกษาอย่างหนัก 1 ปีเต็มในการผลิตและจัดสร้าง จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
7. จากที่ พี่นพ เคยให้สัมภาษณ์ว่า Extinction จะเป็นภาคสุดท้ายจริงหรือไม่ ?
พี่นพกล่าวว่า นั้นเป็นคำสัมภาษณ์ก่อนที่ BOOM จะปิดตัวลง ซึ่งที่จริงแล้ว Extinction กับ Nostalgia นั้นเป็นภาคเดียวกัน แต่ด้วยเหตุผลพี่นพเองที่ไม่ชอบรูปเล่ม จึงของให้เปลี่ยนรูปเล่ม จึงต้องจบภาคแล้วขึ้นภาคใหม่ ซึ่งพี่นพได้เล่าต่อขยายความให้ฟังว่า ปกติแล้ว สำนักพิมพ์ใดก็ตาม จะพิมพ์การ์ตูนหรือหนังสือเป็นแบบฟอร์มเดียวกัน ทั้งซีรีส์ จะไม่เปลี่ยนรูปแบบกลางซีรีส์ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า “มีดที่13” แต่ละภาค จะมีรูปเล่มที่ไม่เหมือนกันเลย โดนภาคแรกเป็นการพิมพ์แบบที่ Low cost ที่สุดของสำนักพิมพ์ แล้วก็พัฒนาขึ้นมาจนขึ้นภาค 3 แต่พี่นพก็ยังไม่พอใจในรูปเล่ม จึงขอเพิ่มมาตรฐานรูปเล่ม ผลคือตกลงว่าได้ แต่ต้องจบภาคนะ ด้วยเหตุนี้ “มีดที่13 Nostalgia” จึงจบ แล้วขึ้นภาคใหม่คือ “มีดที่13 Extinction” นั่นเอง โดย “มีดที่13 Extinction” พี่นพวางเนื้อเรื่องเอาไว้ว่าจะมีจำนวนประมาณ 24 เล่ม
ภาคแรก เป็นงานพิมพ์ที่คุณภาพต่ำที่สุดในสำนักพิมพ์
ภาคสอง งานพิมพ์ดีขึ้นเล็กน้อย
ช่วงภาค2 ทีมงาน “มีดที่13” ได้นำ คอมพิวเตอร์กราฟฟิคมาช่วย ถือเป็นเจ้าแรกๆในประเทศเลยทีเดียว
ภาคสาม ที่มีมาตรฐานการพิมพ์ที่สูงขึ้น แต่พี่นพก็ยังไม่พอใจ
ภาค4 ถือว่าเป็นการพิมพ์คุณภาพสูง ที่เป็นปกด้านเคลือบยูวี
แล้วสรุปว่า “มีดที่13 Extinction” จะเป็นภาคสุดท้ายแล้วใช่มั้ย? พี่นพตอบเลยว่า เป็นภาคสุดท้ายที่ติด สัญญากับ สำนักพิมพ์ ยังไงก็ต้องจบภาค ส่วนเรื่องจะขึ้นภาคใหม่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
แล้วตอนจบจะเป็นยังไง อันนี้เราถามแบบสปอยเลย พี่นพบอกว่า คิดไว้ว่าตอนจบนั้น มาร์คัสได้มีดธาตุครบแล้ว และราชาอวตารก็ได้พลังครบแล้วเช่นกัน ยังไง ทั้ง 2 คนได้ซัดกันแน่นอน แต่………………มาร์คัส แพ้ ราชาอวตารก็ปางตายเหมือนกัน สุดท้าย ราชาอวตารก็เปิดประตูมิติให้พญามารออกมา แต่ก็มีจุดเปลี่ยนอีก เพราะราชาอวตารกลับลงมือสังหารพญามารแล้วปิดประตูมิติ เพราะจากเรื่องราวต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทำให้ราชาอวตารคิดได้ว่าไม่จำเป็นต้องทำลายล้างโลกแล้วสร้างใหม่ก็ได้ จึงตัดสินใจสังหารพญามารแล้วปิดประตูมิติ แต่ถึงราชาอวตารจะสามารถสังหารพญามารได้ แต่ยังคงมีเรื่องหนึ่งที่ติดค้างในใจคือ ที่ราชาอวตารชนะมาร์คัสได้นั้นก็เพราะ ธาตุไฟจากดาบมังกรอัคคี กับ ปีศาจน้ำแข็งครึ่งหนึ่ง อยู่กับตน จึงทำให้ทั้งสองคนต้องมาตัดสินกันอีกครั้ง
มีดธาตุเล่มแรก “ขนอีกาขาว” เป็นมีดธาตุลมที่มีความสามารถสะท้อนพลังและอาวุธได้
แต่พี่นพก็บอกกับทีมงานของเราว่า ที่บอกมานั้น พี่นพอาจจะไม่เอาตามนั้นก็ได้นะ (ซะงั้น) แต่ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะเราเชื่อว่า คงไม่มีใครเคยสัมภาษณ์แบบเจาะลึกขนาดนี้มาก่อนอย่างแน่นอน
8. สุดท้าย อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ ที่อยากจะเดินเข้ามาเป็นนักเขียนการ์ตูน บ้าง?
พี่นพบอกกับทีมงานว่า อาชีพนักเขียนการ์ตูน เป็นอาชีพที่มีต้นทุนต่ำ กลับกันถ้าเราจะสร้างหนังซักเรื่องหนึ่ง เราต้องลงทุนมหาศาล กว่าจะได้แบบหนังคุณภาพแบบฮอลลีวูด แต่การเขียนการ์ตูน คุณสู้กับคนได้ทั้งโลกเพราะมีต้นทุนสร้างที่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ จุดขาย, ลายเส้น, เนื้อหาของการ์ตูนเรื่องนั้นๆ
ภาพที่พี่นพ ไปวาดกันสดๆ วาดโชว์กันไปเลย
แต่ทุกวันนี้มันผ่านยุคทองของการ์ตูนรายสัปดาห์มาแล้ว ทุกวันนี้ผู้คนอ่านการ์ตูนรายสัปดาห์ผ่าน website กันหมดแล้ว ถ้าจะยึดเป็นอาชีพจริงๆ บอกได้เลยเหนื่อยมากๆ และอาชีพเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์ในประเทศไทย บอกเลยว่าค่อนข้างลำบาก ตอนนี้ก็ไม่มีใครสนับสนุนแล้ว และเรื่องราวใหม่ๆจะเกิดขึ้นก็เป็นไปได้ค่อนข้างยาก ต้องมีความตั้งใจจริงๆถึงจะอยู่รอดได้
การจะเป็นนักวาดการ์ตูนรายสัปดาห์ นั้นควรจะไม่มีครอบครัว เนื่องจากเหตุผลด้านเวลาและการทำงานที่ ไม่เป็นเวลา เรื่องรายได้ก็ไม่ได้สูงมากมายอะไร ต้องอยู่ทนจนผ่านจุดๆหนึ่งได้ ถึงจะเริ่มสบาย
ชีวิตของนักเขียนการ์ตูน มันจะมีจุดเริ่มต้น(พี่นพเรียกว่าจุดทุเรศตัวเอง) ขึ้นมาจนถึงจุดเริ่มมีคนรู้จัก และจุดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ และจุดลอยลำคือไม่ขึ้นไม่ลง กว่าจะถึงจุดนั้นได้ ต้องทุ่มเทใช้พลังกายพลังใจ ความมุ่งมั่นและใจรักอย่างแท้จริง จึงจะคว้ามันมาได้
แต่ถึงแม้พี่นพจะบอกว่า อาชีพนักเขียนการ์ตูนจะเหนื่อยหนักหนาแค่ไหนก็ตาม แต่อาชีพนี้ก็ “โคตรสนุก สนุกมากๆ” และอาชีพนี้ “ยิ่งอยู่นาน ยิ่งฝังในสายตาคน” พี่นพได้กล่าวเอาไว้
ภาพร่าง พร้อมลายเซ็น ประจำตัวของพี่นพ
ทีมงานบุกถึงถิ่น ได้เห็นพี่นพนั่งแต่งหุ่นต้นแบบกัน ชัดๆ
พี่นพโชว์แขนโลกันต์ให้ทีมงานดู พร้อมให้ข้อมูลว่า “ตัวนี้วาดยาก มันเลยตายไว” ผมนี่อึ้งไปเลย
อุบ๊ะ!!! สัมภาษณ์เจาะลึกขนาดนี้ ในฐานะทีมงานเมทัลบริด รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้สัมภาษณ์สุดพิเศษ แบบนี้ ขอขอบคุณ พี่นพมากๆ ที่ให้ทีมงานเราเข้าไปสัมภาษณ์ ซึ่งพี่นพบอกว่า ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ที่ไหนนานแล้ว และ เมทัลบริด เป็นเจ้าแรกที่ให้สัมภาษณ์แบบเจาะลึกขนาดนี้
ลายเซ็นบนแผ่นหนัง ถ่ายบนโต๊ะทำงานของแอดมิน หลักฐานการสัมภาษณ์สุดพิเศษ
“คนเป็นนักเขียนการ์ตูน คือ ต้องมีสมองและร่างกายประดุจดั่ง เครื่องปั่นน้ำผลไม้
หมายถึง จะต้องเอาความรู้ ประสบการณ์ใส่หัวดั่งวัตถุดิบ
ยังต้องใส่สิ่งที่ได้ยินได้เห็นมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ยังต้องใส่อารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งหรือสถานการณ์
ยังต้องใส่มุมมองเอกลักษณ์ ลงไปในสมอง
แล้วใช้มือกดปุ่มที่หัวใจตน ปั่นวัตถุดิบเหล่านั้นให้ออกมาเป็น ผลงานที่มีรสชาติ เป็นตัวของตัวเอง “
“อมตะวาทะ นพ วิฑูรย์ทอง White Crow 2015”
ทีมงานเมทัลบริด บุกสตูดิโอ มีดที่13 เก็บภาพพี่นพในชุดทำงานแบบเป็นกันเอง