BNK 48
สถานที่ตั้ง : กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
แนวเพลง : ไทยป็อป-เจป็อป
ช่วงเวลาดำเนินการ : ช่วงปี พ.ศ. 2560–ปัจจุบัน
ค่ายเพลง : โรส อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ / BNK48 Office
ในชั่วโมงนี้ ไม่ว่าจะไปตามเวปไหน เพจดังๆ หรือแม้กระทั่งหน้าทวิตเตอร์ ต่างก็มีกระแสถึงชื่อวงไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปกลุ่มหนึ่งที่ชื่อ “BNK48″ อย่างแน่นอน แต่ก็มีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่ง…ไม่สิ เรียกว่าส่วนใหญ่เลยดีกว่า ที่ยังไม่รู้จักน้องๆ BNK48 ว่าเป็นวงอะไร ทำเพลงแนวไหน ทำไมใช้สมาชิกเปลืองจัง
รวมไปถึงกระแสเหน็บแนมไปในทางเสียหายมากมายหลายกระแส ไหนๆก็ถูกพูดถึง และแอดมินเองก็โดนสาวๆล้างสมองมาแล้วกับการแสดงสดรอบ Roadshow ก็เลยว่าจะพาเพื่อนๆมิตรรักชาว Metalbridges.com มาทำความรู้จักกับสาวๆ BNK48 อย่างถูกต้องกัน และไม่แน่ว่า อ่านจบแล้ว เพื่อนๆอาจจะหลงรักในมนต์สเน่ห์ของความสดใส น่ารักของน้องๆ ในคอนเซปท์ “ไอดอลที่คุณสามารถพบได้” ก็เป็นได้ครับ
แอดมิน Ak47 กับ “จ๊อบซัง” ผู้บริหารของ BNK48 ฝากขอบคุณชาวเมทัลบริดจ์ที่สนับสนุนน้องๆ BNK48 มาด้วยครับ
แต่ก่อนจะทำความรู้จัก BNK48 ก็ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์วงไอดอลที่มีชื่อว่า AKB48 กันก่อนนะครับ!!
AKB48 คืออะไร!??
AKB48 เป็นวงไอดอลญี่ปุ่นที่นาย “ยาสึชิ อากิโมโตะ” เป็นผู้ก่อตั้ง โดยมีแนวคิดที่ว่า “เป็นไอดอลในชุดนักเรียน ที่ทุกคนสามารถพบปะได้ทุกวัน” โดยจะมีการแสดงที่ “โรงละคร” หรือ “เธียเตอร์”ที่เป็นของตัวเองในตึก “ดอนกิโฆเต้” (Don Quixote) ในย่านอากิฮาบาระ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวง (AKB) รวมกับชื่อของประธานบริษัท Office 48 ที่ชื่อ “ชิบะ โคทาโร่” (ชิ=4 , บะ=8) โดยที่มีการแสดงหมุนเวียนโดยสมาชิกแต่ละทีมทุกวัน ทำให้แฟนๆ รู้สึกว่าเป็นไอดอลที่ใกล้ตัว สามารถไปพบได้จริง
สมาชิกเซ็นบัตสึรุ่นแรก ได้แก่Team A: อิตาโนะ โทโมมิ · อุซามิ ยูกิ · อุราโนะ คาสึมิ · โอเอะ โทโมมิ · โอชิมะ ไม · โอริอิ อายุมิ · คาวาซากิ โนโซมิ · โคจิมะ ฮารุนะ · โคมาทานิ ฮิโตมิ · ซาโต้ ยูการิ · ชิโนดะ มาริโกะ · ทากาฮาชิ มินามิ · โทจิมะ ฮานะ · นากานิชิ รินะ · นาริตะ ริสะ · ฮิราจิมะ นัตสึมิ · โฮชิโนะ มิจิรุ · มาเอดะ อัตสึโกะ · มาสึยามะ คายาโนะ · มิเนกิชิ มินามิ · วาตานาเบะ ชิโฮะ– ภาพปกซิงเกิ้ลSakura no Hanabiratachi
สมาชิกของAKB 48ถูกเปิดครั้งแรกตัวในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2005 ด้วยเพลง Sakura no Hanabiratachi เป็นซิงเกิ้ลเดบิวต์ของ AKB48 ซึ่งในการเลือกเพลงที่จะนำมาเป็นเพลงในซิงเกิ้ลนั้น อากิโมโตะ ยาสุชิ (โปรดิวเซอร์ของ AKB48) ได้มีการถามแฟนๆ ที่มาที่ AKB48 Theater เป็นประจำว่าเพลงไหนที่พวกเขาชอบที่สุด และเพลง Sakura no Hanabiratachi ก็ได้มาอยู่ในซิงเกิ้ลโดยมีการปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ 2006 ครับ..
เซนเตอร์ในตำนานคนแรกของ AKB48 “มาเอดะ อัตสึโกะ” / “โอชิมะ ยูโกะ” / ทาคาฮาชิ มินามิ (กัปตันทีม) (ทั้งสามคนนี้คนละรุ่นกันนะครับ อย่าเพิ่งงง)
แต่เส้นทางของวงไอดอลกลุ่มนี้เต็มไปด้วยความยากลำบากมากมาย ทั้งการไม่ยอมรับจากสังคม การทำตลาดที่แหวกขนบดนตรีญี่ปุ่น รวมไปถึงเสียงค่อนขอดจากการทำโชว์เอาเด็กสาวในกระโปรงสั้นมาเต้น (แล้วก็พาลไปเรื่องลามก) แต่เด็กสาวAKBรุ่นแรก ที่นำโดย มาเอดะ อัตสึโกะ (ฉายา “เซนเตอร์ในตำนานคนแรกของ AKB48”) /ทาคาฮาชิ มินามิ (กัปตันทีม) / โอชิมะ ยูโกะ และเพื่อนๆร่วมทีม (ถึงจะมาจากคนละรุ่นก็ตาม) ที่สามารถนับได้รวมๆกว่า 20 ชีวิตฟันฝ่าอุปสรรค
ทั้งการออกซิงเกิ้ลที่ขายได้เพียงหลักหมื่นแผ่น (ถือว่าล้มเหลวมากในแง่ของการทำเพลงญี่ปุ่น) / การแสดงไลฟ์ในเธียร์เตอร์ที่ไร้คนดู / การถูกมองว่าเป็นตัวแถมจากเขตอากิฮาบาระในงานอีเว้นท์ประจำปี ของสถาณีโทรทัศน์ เรียกได้ว่าเล่าตรงนี้คงไม่หมด เอาเป็นว่าช่วงการก่อตั้งเต็มไปด้วยปัญหาที่บั่นทอนกำลังใจขั้นสุดหลายอีเว้นท์ก็แล้วกัน…
และหลังจากนั้น ก็ตามมาด้วยซิงเกิ้ลที่ถือเป็นเพลงชาติของAKB48 อย่าง Aitakatta ก็ตามมา (ที่สมาชิกเข้ามาใหม่ในยุคหลังๆต้องร้องให้ได้ เป็นไฟท์บังคับ) และหลังจากนั้นของหลังจากนั้นก็มีซิงเกิลเพราะๆฮิตติดตลาดมาโดยตลอด
RIVER เป็นเพลงที่ถือว่า“น่าจะประสบความสำเร็จที่สุดของวง AKB48 อีกเพลงหนึ่งเลยก็ว่าได้” เพราะเป็นเพลงที่สามารถทำยอดขาย 179,000 แผ่นในสัปดาห์แรกของการเปิดตัวในโอริกอนชาร์ต วางขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2009เป็นเพลงที่ใช้เซนเตอร์ 2 คน ได้แก่ ทากาฮาชิ มินามิ และ มาเอดะ อัตสึโกะ สองตำนาน “คามิเซเว่น” 7คน ผู้ร่วมหัวจมท้ายสร้างวงจากโนเนมขึ้นมา
และเป็นเพลงที่ทำให้ AKB อัพเลเวลจากวงไอดอลหน่อมแน้ม เป็นเพลงที่เต็มไปด้วย Performance ถึงเพลง RIVER จะไม่ใช่เพลงแรกของ AKB48 ที่เป็นเพลงในกระแสเพลงแรกของAKB48รุ่นแรกๆในญี่ปุ่น แต่ก็นับว่าเป็นซิงเกิ้ลที่ฉุดวงให้พ้นจุดวิกฤติมาได้สวยงาม (เพลงแรกคือ Oogoe Diamond หรือ “ชอบก็ให้รู้ว่าชอบ” เวอร์ชั่นภาษาไทย)
ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวลือว่า ถ้าซิงเกิ้ลนี้ขายไม่ออก ก็เตรียมยุบวงทิ้งไปเลย ทาง ยาสึชิ อากิโมโตะ แกเลยแต่งเพลงวัดดวง+ให้กำลังใจเด็กๆในวงด้วยเพลง RIVER นี่เอง…
และนั่นก็เป็นเรื่องราวก่อนที่จะคว้ารางวัล Japan Record Award จากซิงเกิ้ล ‘Flying Get’ ในวันที่ 1 มกราคม ปี 2012 ซึ่งทำให้ AKB48 เป็นซูเปอร์สตาร์เพียงชั่วข้ามคืน เรียกได้ว่า กระแสไอดอลกลับมาบูมอีกครั้งได้ ส่วนหนึ่งก็คือการมาของ AKB 48 นี่แหละครับ
ปัจจุบัน AKB48 มีสมาชิกทั้งหมด 88 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 ทีม ได้แก่ ทีม A 21 คน, ทีม K 21 คน และ ทีม B 22 คน แถมยังมีสมาชิกวงยิบย่อยอีกมากมาย รวมแล้วกว่า 80คน!! ยังไม่นับสมาชิกที่อยู่ในประเทศที่ยังไม่ขึ้นเป็นทีมหลัก วงสาขารวมๆแล้วก็หลักร้อยชีวิต (ล่าสุดน่าจะ 300+ แล้ว) และวงนอกประเทศอีกมากมาย จนได้รับการบันทึกลง Guiness book World Reccord ในปี 2010
(ภาพจาก www.bnk48.com)
เกริ่นมาซะยาวเลย แล้วตกลง “BNK48 คืออะไรกันแน่นะ!?”
BNK48 - บีเอ็นเค48 ย่อมาจาก Bangkok Forty-eight เป็นกลุ่มไอดอลสัญชาติไทย และเป็นวงน้องสาวของAKB48 โดยถ้าไม่นับ วง “SNH48″ ในเซี่ยงไฮ้ ที่แยกการบริหารออกไป ก็สามารถนับ BNK48 เป็นวงน้องสาว “ลำดับที่ 6″ จากทั้งหมด (เพราะดันไปงอกเพลงออริจินอลโดยไม่ขอทางต้นฉบับ ทำให้ถูกถอดจากการเป็นวง Official) และนับเป็นวงน้องสาวนอกประเทศญี่ปุ่น “ลำดับที่ 2″ ต่อจาก วงJKT48 ในจาการ์ต้า และเ BNK 48เป็นวงพี่สาวของ MUM48 นครมุมไบ ประเทศอินเดีย อีกด้วย
ซึ่งวงน้องสาวนอกประเทศทุกวงจะต้องทำเพลงที่มีใน AKB48 หรือทางต้นฉบับญี่ปุ่นส่งมาให้ แล้วทำการใส่เนื้อของภาษานั้นๆเท่านั้น หากจะทำเพลงออริจินอล ทางสังกัดของประเทศนั้นๆจะต้องทำหนังสือขอกับทางต้นสังกัดญี่ปุ่นเท่านั้น
ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559 ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการจากทีมงาน 48 Official ว่าจะเปิดวงน้องสาขานอกประเทศที่มีชื่อว่า BNK48, MNL48 และ TPE48 และมีการเปิดรอบคัดเลือกเหล่าเด็กสาวผู้มีความฝันที่จะเดินตามรอยรุ่นพี่ AKB48 เมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559 โดยมีผู้สมัครทั้งสิ้น 1,357 คน แล้วคัดเหลือเพียง 330 คน และประกาศผลในวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559
17 กันยายน ถึง 18 กันยายน ออดิชั่นรอบที่สองของ สมาชิกรุ่นที่หนึ่ง โดยแนะนำตัว, นำเสนอการร้องการเต้น และให้กรรมการซักถาม มีการบันทึกเทปเพื่อตัดต่อในรายการ BNK48 senpai และสิ้นสุดการคัดเลือกในวันที่ 18 ธันวาคม หรือการออดิชั่นรอบสุดท้าย
(ภาพจาก The Matter)
โดย สมาชิกรุ่นแรกสุด ได้รับการเปิดเผยรายชื่อออกมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เด็กๆทั้ง 29 คน ต้องเก็บตัวฝึกฝนการร้อง และเต้น รวมไปถึงการสร้างบุคลิกและอัพเกรดตัวเองให้กลายเป้นไอดอลจริงๆภายใน 150 วัน หรือในระยะเวลา 5 เดือน จนได้รับการเปิดตัวต่อเหล่า สื่อมวลชน บล๊อกเกอร์ และคนดังจากโซเชียลบางส่วน และยังมีการไลฟ์สดผ่านทาง Youtube ไปเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560
***และในปี 2018 กำลังมีการรับสมัคร รุ่นที่ 2 ซึ่งถ้ามีรายละเอียดของเมมเบอร์รุ่นใหม่ จะมาอัพเดทกันครับ***
โดยสมาชิกในทีม BNK48 จะสามารถแบ่งออกเป็น สมาชิกหลักที่ได้รับการเปิดตัว ที่เรียกว่า “เซ็นบัตสึ” หรือ “ผู้ที่ถูกเลือก” จำนวน 16 คน ส่วนสมาชิกที่เหลือจะอยู่ในฐานะ “เคงคิวเซย์” หรือ “เด็กฝึกหัด” ที่ต้องฝึกฝนและเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีซิงเกิ้ลออกใหม่ในอนาคตนั่นเอง
รายชื่อเมมเบอร์ ทีม B III
รายชื่อของเคงคิวเซย์ (อนาคตมีการสลับตำแหน่ง)
-เมษา
-เปี่ยม
-นิ้ง
-น้ำหอม
———————————————————————————————–
รวมเรื่องน่ารู้ของกลุ่ม 48
ภาพจาก https://www.facebook.com/bnk48official
ชื่อ BNK48 ?
เป็นชื่อวงที่ตั้งตามตำแหน่งที่ตั้งของ “เธียร์เตอร์” หรือ “โรงละคร” ที่ใช้สำหรับการแสดงของสาวๆ BNK และยังเป็นจุดที่ระบุพิกัดของแต่ละสถานที่ๆตั้งวงของไอดอลกลุ่ม48ด้วย เช่น AKB48 ก็มาจากย่านอากิบะ กรุงโตเกียว / SKE48 ก็คือ ซาคาเอะ จังหวัด ไอจิ / NMB48 ก็คือ นัมบะ ตั้งในโอซาก้า / JKT48 ก็คือ จาการ์ต้า อินโดนีเซีย ซึ่งจริงๆแล้วมีหลายวงที่มีตัวเลข 48 ห้อยท้ายแสดงถึงความเป็นแบรนด์เดียวกันกับ AKB48นั้นเอง
เมมเบอร์ ?
เป็นคำเรียกเฉพาะของสมาชิกในวง
จุดขายของวง ?
“ร้องเพลงก็ไม่เพราะ”… “หน้าตาบ้านๆ”… “เต้นก็งั้นๆไม่เห็นพร้อมกันเลย” นั่นละครับ คือ “จุดขายที่แท้จริง” ของน้องๆ 48Group การเป็นสมาชิกกลุ่มนี้ได้ ต้องเป็นคนที่มีเสน่ห์ดึงดูดที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย อารมณ์เหมือนเด็กข้างบ้านที่เราอยากจะเชียร์ให้ไปถึงฝั่งฝัน โดยการเฝ้าดูพฤติกรรม ให้กำลังใจ เติบโตไปด้วยกันทั้งแฟนๆและตัวศิลปินเอง ดังนั้นคนสวยที่สุด ไม่ใช่ตัวเลือก คนเต้นเก่งสุด ร้องเพลงเพราะ ก็ไม่จำเป็นกับวงนี้เสมอไป
เพราะทุกคน “ไม่ได้สมบูรณ์แบบ” นั่นเอง…
ระบบTEAM ?
ในระบบวงที่มีสมาชิกหลักสิบหลักร้อย การจะขึ้นเวทีพร้อมๆกันถ้าไม่ใช่งานใหญ่ระดับอัลติเมทโชว์แล้วล่ะก็ คงไม่มีทางที่จะอัดสมาชิกทั้งหมดขึ้นแสดงพร้อมกันได้ “ระบบการจัดการทีม” หรือ “Team Management” จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วงสามารถไปต่อได้โดยไม่สับสน และมีแนวทางที่แน่ชัด อีกทั้งเป็นการผลัดเปลี่ยนในการขึ้นแสดงในแต่ละวันแต่ล่ะรอบในกรณีที่สมาชิกคนอื่นๆติดงานและไม่สามารถมาได้
โดยในวง AKB48 จะแบ่งออกเป็น 5 ทีมได้แก่
ทีม A – เป็นทีมที่เน้นความหวานแบบผู้หญิง
ทีม K – เน้นพลัง และสเต็ปการเต้นที่มีเพาวเวอร์
ทีม B – เป็นทีมที่รวมเอาข้อดีของทีม A และ K มาไว้ด้วยกันอย่างละครึ่ง
ทีม 4 – ทีมที่เน้นพลังความสดใส
ทีม 8 – ทีมพิเศษ ตัวแทนจังหวัดละ 1 คน ซึ่งมีทั้งหมด 47 คนตามจังหวัดของญี่ปุ่นนั่นเอง และเป็นทีมที่มีสมาชิกมากที่สุดในบรรดาทีมหลัก
ส่วนของไทย จัดเป็น “ทีมB III” (ทีม บีทรี) โดยจะมีสมาชิกรวม 24 คน แต่ถ้ามีสมาชิกคนไหนติดภารกิจ เคงคิวเซย์ หรือเด็กฝึกจะเข้ามาทำหน้าที่ในตำแหน่งที่หายไป
กัปตันวง BNK รุ่นแรกคือ เฌอปราง
กัปตันทีม BIII คือ ปัญสิกรณ์
ตำแหน่งในวง กัปตัน / เซนเตอร์?
ในวงที่มีสมาชิกมากมาย ก็เหมือนกับทีมฟุตบอลพรีเมียร์ลีค บุนเดสลีกา หรือกัลโช่ซีเรีย อา นั่นคือการ”วางตำแหน่ง”ในทีม โดยคำว่า “กัปตัน” หมายถึงศูนย์รวมจิตใจของทีม เป็นเสาหลักที่จะพาการแสดงบนเวทีไปต่อได้ อีกทั้งตำแหน่งกัปตัน จะต้องเป็นผู้ที่มีภาวะผู้นำสูงที่สุด เพราะต้องคอยประสานงานกับฝ่ายบริหาร และผู้หลักผู้ใหญ่อยู่เสมอถ้าเอาให้เห็นภาพ ก็คงจะราวๆว่าเป็นเหมือน “ออพติมัส ไพร์ม” ของวงนั่นเอง
เซนเตอร์ของ BNK เพลง Koi suru Fortune Cookie น้องโมบายล์ ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากจากซิงเกิ้ลดังกล่าว
ส่วน เซนเตอร์ คือตำแหน่งที่โดดเด่นที่สุดในเพลง / ซิงเกิ้ลนั้นๆ โดยจุดที่ยืนบนเวที จะเป็น “ตรงกลางแถวหน้าเวที” เสมอ โดยการเป็นเซนเตอร์ จะเกิดจากการเลือกของโปรดิวเซอร์ หรือผู้บริหารของวง และการเลือกตั้ง ซึ่งในไทย จะใช้ระบบเลือกตั้งในอนาคตครับ…
การประกาศจบการศึกษา / แกรด / Graduation
เป็นสิ่งที่เมมเบอร์ต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ว่าจะอยู่ในวงต่อ หรือจะออกจากวงไปตามความฝันของตัวเองต่อไป เมื่อออกจากวง จะเรียกว่า“จบการศึกษา” (แกรดออกจากวง=Graduation) เพราะในกลุ่ม 48 นั้นถือว่าเป็นโรงเรียนสอนไอดอล ที่ๆปั้นพวกเธอมาถึงจุดที่เด่นดัง และก้าวต่อไป และถ้าจะออกจากโรงเรียน ก็ต้องจบการศึกษานั่นเอง…
แน่นอนว่าการประกาศจบการศึกษา คือสิ่งที่แฟนๆ48Group ไม่อยากได้ยินมากที่สุด เพราะรัก และผูกพันธ์กับเมมเบอร์คนนั้น แต่ถ้าออกไปอย่างถูกต้อง เหล่าโอตะก็ยินดี แลพสนับสนุนพวกเธอต่อไปในเส้นทางที่สร้างสรรค์ หรือแม้แต่การกลับไปใช้ชีวิตธรรมดา…
โดยการประกาศจบการศึกษาที่สะเทือนวงมากที่สุด ก็คือการประกาศจบการศึกษาของเหล่า “คามิเซเว่น” รุ่นแรก ที่เหมือนผู้ร่วมสร้างวงนี้มาด้วยกันจากศูนย์ แต่วัยที่โตขึ้นอายุที่มากขึ้น เจ้าตัวก็อยากจะหาอะไรใหม่ๆทำบ้าง แน่นอนว่าเป็นการจากกันด้วยดี และจากลากันในระดับตำนานเลยก็ว่าได้ แถมยังมีอีเว้นท์เชิญไปร่วมเวทีของน้องๆรุ่นใหม่บ้างเป็นระยะๆ และเหล่าโอตะก็ยินดีทุกครั้งที่ได้เห็นรุ่นก่อนกลับมาร่วมอีเว้นท์
เธียร์เตอร์ และ ตู้ปลา?
เป็นสถานที่จัดแสดงโชว์ของศิลปินกลุ่ม48 ในทุกๆวันจะมีเมมเบอร์ผลัดเปลี่ยนมามอบความสุขด้วยกิจกรรม และเสียงเพลงในทุกๆวัน โดยของ AKB48 ที่เป็นตำนานก็จะเป็นที่ตึก “ดอนกิโฆเต้ชั้น 8″ ส่วนของ BNK48 ยังไม่มีกำหนดแต่อย่างใด
ภาพจาก http://jagob.blogspot.com/2017/06/report-bnk48-live-studio.html
แต่ปัจจุบันของไทยมีสถานที่ๆเรียกว่า “ตู้ปลา” ที่มีคอนเซปท์คล้ายๆกัน นั่นก็คือเอาสาวๆ BNK48 สลับสับเปลี่ยนพูดคุยกันสนุกๆแบบทอล์คโชว์ และไลฟ์สดผ่านระบบ Facebook ที่ชั้น 1 ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ แต่จะยังไม่มีการร้องเพลงหรือจัดกิจกรรมนอกเหนือจากการนั่งเล่นพูดคุยเท่าไหร่นัก
และ “เธียร์เตอร์” ของน้องๆ BNK48 จะถูกเรียกว่า “แคมปัส” โดยจะมีกำหนดตั้งอยู่ที่ชั้น “โรงภาพยนตร์ เดอะมอลล์ บางกะปิ” เปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ ถ้ามีโอกาส จะไปเก็บภาพมาฝากกันนะครับ
โฟโต้เซต
เป็นหนึ่งในของสะสมของสาวๆ BNK48 ที่ทำออกมาให้เหล่าโอตะได้สะสมภาพของเมมเบอร์ที่ชื่นชอบในรูปแบบของ Trading Card เป็นหลัก โดยในหนึ่งซอง จะมี 5 รูป (ซองละ 250 บาท) และจะมีรูปที่พิเศษ
ที่หายากสุดๆก็คือ ภาพหายากที่สาวๆ BNK เซนลายเซนด้วยตัวเอง และ ภาพดังกล่าว มีราคาซื้อขายในตลาดหลายหมื่นบาท/1ใบเลยทีเดียว (เรียกกันเล่นๆว่า SSR – Super Special Rare)
ส่วนภาพธรรมดา ก็จะมีราคาตามแต่ตกลงกันในตลาด ซึ่งถ้าเก็บภาพของเมมเบอร์คนๆนั้นครบ จะเรียกว่า “คอมพลีท” (เรียกสั้นๆว่า “คอมพ์”) และราคาสูงมาก เช่นเฌอปรางค์คอมพลีทเซต 1+2+3+ชุดไทย ราคาราวๆ 15000 บาทในตลาดซื้อขาย
มีมิตรสหายท่านหนึ่งที่เป็นโอตะกล่าวถึงเรทของการตามหาโฟโต้เซตของ BNK48 โดยสามารถคิดค่าเฉลี่ยความแรร์ได้ดังนี้
“ความน่าจะเป็นที่จะได้รูปของเมมเบอร์ (สมาชิกวง) หนึ่งคนครบ 7 ใบภายใน 3 เซ็ต (ไม่ถ่วงน้ำหนักใบพิเศษ)
= (1x3x3)x(3x2x87⁴)x(1x116x116) ÷ 2,634,012³
= โอกาสได้มีเพียง 0.00000227789395% เท่านั้น”
โฟโต้เซต 1 ซอง (รวมไปถึงของสะสม) สามารถหาซื้อได้ตามงาน Roadshow สั่งออนไลน์ ตามงานอีเว้นท์ของทีมงานโดยตรง และหน้าตู้ปลา (จำกัดการซื้อ 1 บิล ได้ 5 เซต)
ส่วนกลุ่มซื้อขายจะอยู่ในหน้าเฟซบุค ซึ่งเป็นกลุ่มแฟนๆรวมตัวกันตั้งขึ้นมา ไม่ใช่เพจ Official แต่อย่างใด…
นอกจากโฟโต้เซตแล้ว ยังมีอย่างอื่นชวนให้เสียตังค์อีกมากมาย 555 +
ภาพจาก http://girlschannel.net/topics/149112/
เซ็นบัตสึ กับการเลือกตั้ง?
เป็นชื่อบริษัทของ “มิชิม่า เฮย์ฮาจิ”…นั่นมัน “มิชิม่า ไซบัตสึ” ในเกม Tekken !! ….กลับเข้าเรื่อง เซ็นบัตสึ คือผู้ที่ได้รับเลือกให้ไปปรากฎตัว หรือร่วมออกซิงเกิ้ลนั้นๆ โดยการเลือกเซ็นบัตสึนั้น เดิมที “ยาสึชิ อากิโมโตะ” เป็นผู้คัดเลือกเด็กๆมาเป็นตัวหลักในซิงเกิ้ลของ AKB48ในช่วงแรกๆ แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่นานนัก ก็มีเสียงก่นด่า ต่อว่าอากิโมโตะที่จัดทีมไม่ถูกใจแฟนๆ ทำให้อากิโมโตะตัดสินใจ “ให้ทางบ้านเลือกเอาเองเลย” อยากให้ใครขึ้นมาเป็นเซมบัตสึ
ส่วนวิธีการโหวต “การเลือกตั้งเซ็นบัตสึ” จะใช้วิธีเพียงแค่ซื้อ “อัลบั้มก่อนซิงเกิ้ลเลือกตั้ง” ที่แถมใบโหวต แล้วส่งไปรษณีย์มา (1 แผ่น = 1คะแนนโหวต) ส่วนปัจจุบัน มีโค้ดโหวตและโหวตผ่านระบบออนไลน์ แถมมาในกล่องCDแทน
งานจังเคน (เป่ายิ้งฉุบ) ?
แต่มีอีกหนึ่งอีเว้นท์ ที่เรียกว่า “จังเคนไตไค” หรือการเลือกตั้งผ่านระบบเป่ายิ้งฉุบ เพื่อเฟ้นหาเมมเบอร์ “ดวงดี” ที่ชนะในเกมเป่ายิ้งฉุบประจำปี ที่ให้เมมเบอร์ที่ไม่ดัง หรือไม่ค่อยมีงานได้ร่วมลุ้น แต่ระยะหลังๆกลายเป็นว่า ผู้ชนะงานเป่ายิ้งฉุบ จะได้ออกซิงเกิ้ลเดี่ยวแทน
ซึ่งในอีเว้นเป่ายิ้งฉุบครั้งประวัติศาสตร์ของ AKB48 ก็คือ งานเป่ายิ้งฉุบของ “ชิโนะดะ มาริโกะ” ที่แทบจะพลิกชีวิตจากพนักงานคาเฟ่ใน AKB สู่การเป็นดาว หลังจากได้รับการโหวตให้เข้าทีมเป็น “รุ่น 1.5″ และได้โอกาสเข้าร่วมงานเป่ายิ้งฉุบ จนสามารถขึ้นมาเป็นเซนเตอร์หลักของเพลง Ue kara Mariko (มาริโกะผู้ถือไพ่เหนือกว่า) เพลงที่ อากิโมโตะ ต้องแต่งใหม่ให้เพราะอีเว้นท์ในครั้งนั้น…
สรุปง่ายๆ นี่คืออีเว้นท์ที่มันส์ที่สุดของสาวๆ48กรุ๊ป นอกจากงานเลือกตั้ง ก็มีงานเป่ายิ้งฉุบ นี่แหละ(ที่หลังๆออกไปในแนวเอาฮากันซะมากกว่า)
การจัดจำหน่ายเพลง
ในญี่ปุ่น AKB48 จะ ไม่มีการทำเพลงแบบรวดเดียว 10-20 เพลงลงอัลบั้มเดียว แบบบ้านเรา แต่จะเป็นการออก “ซิงเกิ้ล” แผ่นนึงเต็มที่ก็ซัก 3-4 เพลง (รวม Backingtrack – ดนตรีไม่มีเสียงร้อง) แล้วค่อยเอาทุกซิงเกิ้ล มายัดรวมอัลบั้มอีกทีปีละหน
โดยในแต่ละปี วงพี่อย่าง AKB48 จะออก 5 ซิงเกิ้ล/ปี และในแต่ละซิงเกิ้ล จะมีการแยกเมมเบอร์ออกมาทำเพลง 4-5 เวอร์ชั่น ทำให้เกิดหน้าปกซิงเกิ้ล คนร้อง ที่แตกต่างกัน 4-5 แบบ ซึ่งทั้งหมด คือเพลงเดียวกัน!! ซึ่งทั้งหมด ก็ทำมาเพื่อ “วัดความนิยมในยูนิต หรือกลุ่มนั้นๆ” ซึ่งถ้าแฟนเพลงรักใคร ชอบใครในวงเป็นพิเศษ ก็จะตามซื้อซิงเกิ้ลที่คนๆนั้นร้องออกมา หรืออยู่ในยูนิตกลุ่มนั้นๆ
ส่วนของไทย หลังจากที่คุยคร่าวๆกับทางผู้บริหาร ได้รับคำตอบมาว่า “จะยังไม่มีระบบนี้ในเร็วๆนี้ ฝากติดตามในโอกาสต่อไปครับ”
โอตะ / โอตาคุ / โวตะ / โอตะเกะ ?
ถึงจะเรียกต่างกรรมต่างวาระ แต่ทั้งหมด ก็หมายถึงเหล่าบรรดาแฟนๆที่คลั่งไคล้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนกัน (พวกแฟนพันธุ์แท้) โดย โอตาคุ หรือ โอตะ จะเป็นกลุ่มคนที่ติดตามในศาสตร์แขนงอื่นๆเช่นเครื่องบิน /เรือดำน้ำ/ทหาร/การ์ตูน อนิเม บลาๆๆๆ แต่เพื่อกันความสับสน และอินดี้อยากแยกตัวเป็นเอกราชทางภาษา กลุ่มผู้ชื่นชอบไอดอลได้พยายามจนเกิดคำว่า “โวตะ” (Wota) ขึ้นมาเพื่อเป็นคำเรียกขานของเหล่าผู้ที่คลั่งไคล้ในไอดอลสาวๆ ซึ่งจะคนละกลุ่มกับโอตาคุ…ซึ่งไปๆมาๆ ก็ไม่ต่างกันเลย!! (แต่บ้านเราออกเสียง”โอตะ”นะเออ)
สรุปคือ โอตะ=แฟนพันธุ์แท้ที่ติดตามจริงจัง นั่นเอง ….ซึ่งแฟนคลับทั่วๆไปอาจจะยังไม่ติดตามเชิงลึกขนาดนั้น
ส่วนคำว่า “โอตะเกะ” (Otagei) หรือ “โวตะเกะ” หมายถึง “ศิลปะแห่งโอตาคุ” โดยจะเป็นการเชียร์ที่ดุดันราวกับแข่งกีฬาสีกันเลย และจะมีท่าเต้นที่ถูกกำหนดมาแต่อดีตกาล (ยุค 70) โดยสมัยที่เฟื่องฟูของโอตะเกะคือยุค 2000 ก่อนการมาของ AKB48 ด้วยซ้ำ ซึ่งตอนนั้นเหล่าโอตะเกะจะตามเชียร์พวก Morning musume / Berryz koubou / C-ute หรือไม่ก็S/mileage มากกว่า
จุดเด่นของคนกลุ่มนี้คือการ “สวมเสื้อแฟนคลับ” ที่มีลักษณะเป็นเสื้อคลุม พร้อมแท่งไฟหลากสี เพราะคนกลุ่มนี้จะต้องทำการบ้านเรื่องศิลปินคนไหนชอบสีอะไร เวลาขึ้นแสดงเขาก็จะเอาแท่งไฟสีประจำตัวคนๆนั้นมาโบกสะบัด แน่นอนว่าไม่ได้โบกมั่วๆ เพราะมีท่าทางบังคับหลายท่ามาก ไม่ว่าจะกระโดด สะบัดแขน แกว่งแขน บลาๆๆๆ สามารถหาดูได้ในยูทูปครับ
—————————————————————
“อิจิโอชิ โน เมมเบอร์” หรือ “โอชิ” ?
คำว่า “โอชิ” หมายถึง กองอวยคนใดคนหนึ่ง เช่น “เวปมาสเตอร์เป็นโอชิน้องเมษา” / แอดมินเซฟ สายเปย์ เป็นโอชิน้องโมบายล์” เป็นต้น ซึ่งการเป็นโอชิ ก็จะมีราวๆ 2-3 Lv ที่สามารถอธิบายได้นอกจากโอชิเมม ก็คือ
คามิโอชิ - ชอบหลายๆคน แต่จะมีสมาชิกคนนี้เป็นที่หนึ่งมาก่อน เช่น แอดมิน AK มี “ชิโนดะ มาริโกะ” เป็นคามิโอชิ (แต่คนอื่นๆก็ชอบแหละ)
ตันโอชิ – เชียร์คนเดียว อวยคนเดียว ไม่เปลี่ยนใจ
ฮาโกะโอชิ - ชอบทั้งวง ในแง่ดนตรี ความทุ่มเท ความเป็น Unityของวง ไม่ได้ชอบตัวบุคคล
DD - มาจากคำว่า “ดาเระเดะโม ไดสุกิ” ชอบเมมเบอร์ทุกคน เช่น “แอดมิน Ak47เป็น DD ของวง BNK48″
โอชิเฮน- อันนี้แอดมินไปเจอในกลุ่มคนสะสมโฟโต้เซตของ BNK48 ที่โล๊ะภาพของเมมเบอร์แบบยกชุด แล้วให้เหตุผลว่า “โอชิเฮน” เขาได้จำกัดความว่า “เปลี่ยนคนเชียร์แล้ว” โดยคำว่า “เฮน” หมายถึง “เปลี่ยนแปลง” นั่นเอง
+
+
+
จริงหรือไม่ที่สมาชิก 48 ส่วนใหญ่มักไปเล่นหนัง AV?
อันนี้เป็นคำถามที่พบบ่อย และเอือมระอามากๆในหมู่แฟนๆเมื่อโดนคนนอกวงการถามถึง อันนี้ต้องมานั่งปรับทัศนคติกันเซตใหญ่เลย เพราะยังมีหลายๆคนเห็นน้องๆทั้งกลุ่ม48 ทั้งชุดเล็กชุดใหญ่ แม้แต่ชุดของไทยเราไปในทางอย่างว่าซะเยอะ แต่ถามว่ามีจริงๆมั้ย คำตอบที่ชัดเจนเลยว่า “มี” ครับ
แต่ทั้งนี้ ทุกคนที่ออกไปเล่นหนังผู้ใหญ่ทุกคน ล้วน “ประกาศจบการศึกษา” หรือ “ออกจากวง” พ้นสภาพการเป็นสมาชิกอย่างถูกต้อง และเลือกเส้นทางชองตัวเองแล้ว
ถ้าว่ากันตามตรรกะแล้ว ควรใช้คำว่า “อดีตสมาชิกAKB48ที่ไปเป็นดาราAV” มากกว่า “สมาชิกAKB48ที่ไปเป็นดาราAV” ครับ
พูดแบบชาวบ้านเลยก็คือ “ออกจากวงแล้วอยากจะไปทำอะไรก็ทำไปเหอะ” แต่แบบสมาชิก AKB ที่ยังอยู่ในวงไปเป็นดาราAV “ยังไม่เคยเกิดขึ้น” ครับ
รายชื่อของอดีตสมาชิกที่โดดไปเล่นหนังอย่างว่า
นากานิชิ รินะ (ชื่อในวงการ AV คือ ยามากุจิ ริโกะ ) อดีต AKB48 Team A รุ่น1 จบการศึกษา 2008 เข้า AV 2010
นารุเสะ ริสะ (ชื่อในวงการ AV คือ ไอซากะ ฮารุนะ) อดีต AKB48 Team K รุ่น4 จบการศึกษา 2009 เข้าAV 2013
ทาคามัตสึ เอริ (ชื่อในวงการ AV คือ ทาจิบานะ ริสะ) อดีต AKB48 เค็งคิวเซย์ ไม่นับเป็นสมาชิกหลัก จบการศึกษา 2010 เข้าAV 2013
โยเนะซาว่า รุมิ (ชื่อในวงการ AV คือ ชิโรตะ ริกะ) อดีต AKB48 Team K รุ่น3 จบการศึกษา2012 เข้าAV 2014
คิโตะ โมโมนะ (ชื่อในวงการ AV คือ ทิคามิ อุเอะ) อดีต SKE48 Team E, จบการศึกษา 2014 เข้าAV 2015
***ข้อมูลนี้ นำเสนอในแง่ของ Fact ข้อเท็จจริง ไม่ได้เป็นการชี้ชวนแต่อย่างใด โปรดศึกษาถึงเจตนาในการนำเสนอก่อนตัดสินใจถามหาวาร์ป***
ส่วนใหญ่ เพราะเนื่องจากเธออยู่ในช่วงขาลง บวกกับเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาความนิยมถดถอย+รับแรงกดดันไม่ไหว (วงนี้แข่งกันสูงมาก ถึงหน้าฉากจะรักกัน แต่หลังฉากแข่งกันโหด เรียกได้ว่า เข้มแข็งรอด อ่อนแอก็แพ้ไป!) ทำให้สมาชิกที่ทนไม่ไหว ก็ต้องออกจากวงไป แล้วก็มาออกหนังอย่างว่าซัก 2-3 เรื่องแล้วก็หายไป
แน่นอนว่าเหล่าโอตะที่เคยสนับสนุนซิงเกิ้ลที่เคยมีพวกเธออยู่ พากันโกรธแค้น หักแผ่นเผารูปกันเลย ปัจจุบันน้องๆที่ออกไปเล่น ก็หายสาปสูญจากวงการเรียบร้อย อีกทั้งไม่มีการติดต่อจาก 48Group ให้มาออกสื่อใดๆ…และหลังจากนั้นก็ไม่เคยมีอดีตสมาชิกโดดไปเล่นหนังผู้ใหญ่อีกเลย…เพราะเท่ากับทางที่เลือกเหมือนกับตัดเส้นทางสายบันเทิงไปตลอดกาล ในกรณีที่ไม่มีผลงานต่อเนื่อง…
ส่วนที่เห็นว่าเยอะมากตาลาย กลายเป็นภาพจำนั้น เพราะยุคนึงสมัยนึง มีการนำชุด “เลียนแบบนักร้อง48Group” มาให้นักแสดงหญิงใส่ในขณะปฏิบัติภารกิจ แถมไอ้แนวๆนี้มันดันได้รับความนิยมซะด้วย
ถึงขั้นทางต้นสังกัด 48Group ได้ออกมาประกาศว่า “ห้ามทำชุดเลียนแบบ หรือสื่อไปในทางเมมเบอร์ของวง ออกจำหน่าย เช่าซื้อ เพื่อแสวงหาผลกำไรโดยไม่ได้รับอนุญาติ หรือไปในทิศทางเสื่อมเสีย” ดังนั้น ที่เห็นตามเวปโหลดส่วนใหญ่จะเป็น “ของเก๊” ครับ เข้าใจตรงกันด้วย
ยังไงก็ให้เกียรติน้องๆที่ยังอยู่ในวง ทั้งในประเทศเรา และนอกประเทศนะครับ ถือว่าขอกันเลย เพราะบางคนยังไม่บรรลุนิติภาวะ บางคนก็เป็นเด็กเรียนดีด้วยซ้ำ เราอยู่กับปัจจุบันดีกว่าครับ
——————————–
ก็หวังว่าบทความชุดนี้ก็น่าจะทำให้ทุกคนที่ได้อ่านรู้จักกับประวัติอันยาวนานของวง AKB48 และ BNK48 ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในตอนนี้นะครับ ขาดตกตรงไหน อยากให้ทำบทความเกี่ยวกับน้องเพิ่มเติมแง่มุมไหน ลองเสนอกันมาได้นะครับ
แอดมิน AK47
ผลงานเพลงบางส่วน